องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

 

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า 15,000 เข็มให้กรมปศุสัตว์ ปฏิเสธการสังหารหมู่สุนัข-แมวจรจัด และเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์แพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้  ล่าสุดได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับกรมปศุสัตว์จำนวน 15,000 เข็มเพื่อฉีดให้กับสุนัขจรจัดทั่วประเทศ  ทั้งนี้  ภารกิจสำคัญประการหนึ่งขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก คือ การผลักดันให้เกิดการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกวิธีและยุติการสังหารหมู่สุนัขและแมวอย่างถาวร  เนื่องจากมีสุนัขและแมวหลายล้านตัวทั่วโลกถูกสังหารหมู่อย่างทารุณกรรมเพราะความหวาดกลัวของมนุษย์ต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าและเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการควบคุมโรค  ซึ่งในความเป็นจริงวิธีการดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดและทำลายชีวิตสัตว์โดยไม่จำเป็นแล้ว ยังเป็นวิธีการที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าแต่อย่างใด

สัตวแพทย์หญิงชนัดดา เครือประดับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย  กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ควรทำในขณะนี้ คือ มุ่งความสำคัญไปที่การควบคุมโรคและจัดการกับปัญหาการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน  โดยดำเนินการตามความในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558  ที่ระบุว่า ในกรณีที่สัตว์หรือซากสัตว์ที่พบนั้นเป็นโรคระบาดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาด ให้สัตวแพทย์ทำลายสัตว์หรือซากสัตว์นั้น  รวมทั้งสัตว์หรือซากสัตว์อื่นที่เป็นพาหนะของโรคระบาด หรือจัดการโดยวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรเพื่อป้องกันมิให้โรคระบาดแพร่กระจายต่อไป  ทั้งนี้  วิธีการกำจัดสัตว์ที่เป็นโรคต้องใช้วิธีที่มีมนุษยธรรม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกไม่เห็นด้วยกับวิธีการสังหารหมู่สุนัขและแมวจรจัดอย่างถาวรเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการควบคุมโรค   โดยได้เสนอแนะแนวทางปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ถูกต้องเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าใน  3 เรื่องสำคัญคือ  1.การจำกัดรัศมีการเกิดโรค  2. การควบคุมและกำจัดโรค  และ 3. การจัดการโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน  (รายละเอียดในตาราง)   

 สัตวแพทย์หญิงชนัดดา ยังได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงที่สังคมกำลังวิพากษ์กันในขณะนี้ว่า อาจพิจารณาทำได้เมื่อมีการควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่งและมีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงเรียบร้อยแล้ว   รวมทั้งควรพิจารณาต่อไปว่าภาษีที่เก็บไปนั้น จะนำมาสนับสนุนเรื่องการจัดการโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร   เพราะการเรียกเก็บภาษีในขณะนี้ ถือเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของสัตว์แทนที่จะได้ดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดี อาจเป็นเหตุทำให้เจ้าของสัตว์ ไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงตามมา  หรือผู้ที่กำลังมีความคิดจะรับสุนัขจรจัดไปเลี้ยง อาจต้องเปลี่ยนความคิดเพราะไม่อยากเพิ่มภาระภาษีให้กับตนเองได้

สำหรับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกนั้น  ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศสำหรับการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขและแมวในพื้นที่ให้มากกว่าร้อยละ 70  ของประชากรสุนัขและแมวทั้งหมด โดยทำร่วมกับการควบคุมประชากรสุนัขและแมวด้วยการทำหมันสัตว์เลี้ยงในชุมชนและสัตว์จรจัด (เน้นเพศเมีย)   อาทิ  ศรีลังกา   บาหลี-อินโดนีเซีย  บังคลาเทศ   กลุ่มประเทศละตินอเมริกา   จีนและฟิลิปปินส์ 

ในปี 2557 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้จัดทำโครงการสร้างพื้นที่ปลอดพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย  เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ตำบลสบเตี๊ยะ  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่  ภายใต้ปฏิบัติการ เชียงใหม่โมเดล โดยร่วมมือกับล้านนาด๊อกเวลแฟร์  ซึ่งเป็นองค์กร

สวัสดิภาพสัตว์ท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตระหนักถึงการแก้ปัญหาสุนัขและแมวจรจัดอย่างยั่งยืนด้วยสันติวิธีและมีมนุษยธรรม  รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบของคนในชุมชนสร้าง  ”เขตควบคุมประชากรและสุขภาพสัตว์” อันเป็นพื้นฐานนำไปสู่  “พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” ในอนาคต  โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ให้ข้อเสนอแนะว่าการควบคุมประชากรสุนัขโดยการทำหมันจะต้องทำร่วมกับการให้การศึกษาชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีการให้ความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมและสวัสดิภาพสัตว์ ปลูกฝังความรัก ความเมตตาต่อสัตว์และมีความรับผิดชอบในการดูแลสัตว์จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมอบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า