สะเต็มศึกษา (STEM Education Tour @ High School 2017)

สะเต็มศึกษา (STEM Education Tour @ High School 2017)

สะเต็มศึกษา มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร

              ในช่วงที่ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อก้าวสู่ประเทศไทยยุค 4.0 นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาทุกคนจะต้องมีความพร้อมในการคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักคิดนอกกรอบ และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ได้  ดร.เปรมศักดิ์ พวงพลอย อาจารย์ประจำสาขาการแพทย์แผนไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า สะเต็มศึกษา (STEM Education Tour @ High School 2017) เป็นกิจกรรมบริการวิชาการให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ในการดูแลสังคม เนื่องจากเป็นการเน้นในเรื่องของการนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง การพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ดังนั้นการนำหลักการด้าน STEM มาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหรือช่วยให้ชีวิตประจำวันดีขึ้น เช่น การสาธารณสุข การศึกษาเรียนรู้ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพ และการพัฒนา เราจึงยึดหลักการของสะเต็มศึกษา (STEMEducation) เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่เน้นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Math) คุณภาพชีวิต เป็นต้น

สะเต็มศึกษาเป็นการจัดกิจกรรมกับโรงเรียนโดยรอบมหาวิทยาลัย จำนวน 12 โรงเรียน โดยกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ามาร่วมกิจกรรมแต่ละฐาน เพื่อช่วยกันแก้โจทย์ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ในอาชีพต่างๆ จำนวน 11 สาขาได้แก่ การแพทย์แผนไทย บริบาลผู้สูงอายุ วิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ประมง พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ เทคนิคการสัตวแพทย์ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ และเคมีประยุกต์ กิจกรรมดังกล่าวจะเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการความรู้หลากหลายอาชีพ และฝึกการลงมือปฎิบัติทำจริงตามโจทย์หรือภารกิจที่อาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกำหนดให้ กิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นการฝึกปฎิบัติและแก้ปัญหากับโจทย์ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันจริงให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาในแต่ละสาขาได้รู้จักการถ่ายทอดความรู้กับผู้อื่น ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม และการรู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะอีกทางหนึ่ง  ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้อาจารย์ในแต่ละสาขาได้เกิดฝึกฝนการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนและสังคม

                ลักษณะกิจกรรม คือจะมีการแบ่งนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละโรงเรียนออกเป็น 8 กลุ่มเท่าๆ กัน จากนั้นนักเรียนจะได้เข้าทำกิจกรรมตามฐานการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาอาชีพเป็นเวลา 45 นาทีในสาขาต่างๆ จำนวน 11 สาขาได้แก่ การแพทย์แผนไทย บริบาลผู้สูงอายุ วิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร ประมง พืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ เทคนิคการสัตวแพทย์ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ และเคมีประยุกต์ เมื่อครบเวลาที่กำหนด นักเรียนจะแยกย้ายไปทำกิจกรรมในฐานอื่นๆ จนครบทั้งหมด ขั้นตอนสุดท้าย คือ นักเรียนที่ร่วมทำกิจกรรมทั้งหมดจะมารวมกันเพื่อสังเคราะห์สิ่งที่ได้และสรุปผลการดำเนินการจัดกิจกรรม สะเต็มศึกษาที่น้องๆ ได้ทำกิจกรรมมา

                อย่างไรก็ตามกิจกรรมสะเต็มศึกษา นับว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาด้วยทักษะสะเต็มศึกษาในรูปแบบอาชีพต่างๆ  พร้อมฝึกฝนการทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เห็นได้จากการที่น้องๆ หลายคน นำเสนอออกมาได้อย่างชัดเจน ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง วิทยากรก็แนะนำเพื่อให้เขานำไปปรับปรุง อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นให้เขารู้จักตนเองด้วย ดร.เปรมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.