TCELS ร่วมกับสวทช.และภาครัฐ เอกชน พิธีลงนามความร่วมมือ

TCELS ร่วมกับสวทช.และภาครัฐ เอกชน พิธีลงนามความร่วมมือ

“โครงการ พัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มโอกาสส่งออก”TCELSผนึกพลังร่วมกับ สวทช.

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซล (TCELS) ผนึกพลังร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility, NBF), ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน), บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ฟาร์มา นูวา จำกัด ร่วมจัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้า และเพิ่มโอกาสส่งออก” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตยาและวัคซีนใช้เองและเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสม เป็นการลดการนำเข้าและลดการพึ่งพายาชีววัตถุจากต่างประเทศ

โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานและร่วมเสวนาในหัวข้อหัว “โอกาสและวิสัยทัศน์จากความร่วมมือการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ชีววิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับยา ชีววัตถุ และวัคซีน”

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “นโยบายสำคัญของรัฐบาล ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ New S-curve คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซี่งประเทศไทยมีศักยภาพ เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ในด้านการรักษาพยาบาล เรามีแพทย์ พยาบาล ที่เชี่ยวชาญไม่แพ้ใคร เราจะต้องเพิ่มศักยภาพองค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการลงทุน เกี่ยวกับการผลิตยา ชีววัตถุและวัคซีน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ดูแลสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ”

รศ.นพ.สรนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาใช้สำหรับการพัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน ต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นในการพัฒนางานส่วนนี้ การที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะต้องเชี่อมโยงประสานพลังร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นที่มาของเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำการเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้างอุตสาหกรรม สู่การสร้างเศรษฐกิจ เป็นการวางตำแหน่งประเทศไทยให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในระดับภูมิภาค เปลี่ยนประเทศไทยจากผู้ซื้อยา ชีววัตถุ และวัคซีน ไปสู่การเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก เป็นแนวทางให้เกิดการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่การสร้างความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรม

ทั้งด้านรายได้ สังคม และสุขภาพ อย่างมั่นคง และยั่งยืนต่อไป การลงนามความร่วมมือ “โครงการ พัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มโอกาสส่งออก” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งสัญญาณในทางที่ดี สู่การพัฒนาระดับประเทศให้ไปถึง Thailand 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าการจับมือร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในครั้งนี้ ระยะเริ่มต้นคาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เริ่มต้นที่ 4 ชนิด ได้แก่ EPO – Erythropoietin (ยาอีริโทรโพอิติน) ยาผลิตเม็ดเลือดแดง เป็นยาประเภทฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้น ยานี้ใช้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ใช้แก้ไขภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง, EV 71 (Enterovirus 71) โรคมือเท้าปากเปื่อย, Growth Hormones (โกรทฮอร์โมน) หรือ HGH เป็นฮอร์โมนที่หลังมาจากต่อมไร้ท่อ สร้างจากต่อมพิทูอิทารีภายใต้สมองของเรา เป็นฮอร์โมนแห่งการเจริญวัย และ Trastuzumab (ยาทราสทูซูแมบ) ยารักษามะเร็งเต้านม และจะมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมในปีถัดไป โดยคาดว่าในปี 2563 จะมีผลิตภัณฑ์ของไทยขึ้นทะเบียนยา และมีความพร้อมสู่เชิงพาณิชย์”

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนายา ชีววัตถุและวัคซีน เพื่อลดการนำเข้า และเพิ่มโอกาสส่งออก เป็นการสานพลังความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ จากงานวิจัยให้เข้าสู่โรงงานต้นแบบการผลิตยา ชีววัตถุและวัคซีน ซึ่งมีมูลค่าสูงทางการแพทย์ โดยพัฒนาการผลิตเพื่อส่งต่อระดับ Pre-Clinical และ Clinical Trial Phase I & II (การทดสอบประสิทธิภาพของยาใหม่ทางคลินิก) ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดการวิจัย ตลอดจนการผลิตยา ชีววัตถุและวัคซีน รวมถึงบุคลากรในกระบวนการผลิตยาชีววัตถุให้กับประเทศ โดยมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการที่จะร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยา ชีววัตถุและวัคซีนในประเทศ ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ทั้งยังช่วยพัฒนากระบวนการผลิตยา ชีววัตถุและวัคซีน จากระดับห้องปฏิบัติการให้เข้าสู่กระบวนการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน GMP เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคต และช่วยลดภาระการใช้จ่ายของรัฐในค่าใช้จ่ายยาในการประกันสุขภาพ อันจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Medical Hub ของอาเซียน และก้าวสู่ระดับเอเชียในอนาคต”