อพท. ชวนเที่ยววิถีชุมชนสองประเทศ ตราด -เกาะกง

อพท. ชวนเที่ยววิถีชุมชนสองประเทศ ตราด -เกาะกง

อพท. หนุนชุมชนเชื่อมท่องเที่ยว 2 ประเทศ เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง ตราด – เกาะกง ชูวิถีประมงชายฝั่ง และป่าชายเลน รองรับนักท่องเที่ยว

นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง หรือ อพท. 1 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)   เปิดเผยว่า   อพท. 1 ได้ลงนามความร่วมมือในสัญญา (MOU) กับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ชุมชนของทั้ง 2 ประเทศ
 ที่ผ่านมา อพท. 1 ได้พัฒนาศักยภาพของชุมชนให้มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยว ล่าสุดได้จัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง 2 เส้นทาง เชื่อมตราด – เกาะกง ได้แก่ เส้นทาง ตราด- แหลมกลัด-หาดเล็ก-เกาะกง (ป่าโกงกางบางคายัค) และเส้นทาง ตราด-บ้านไม้รูด-หาดเล็ก-เกาะกง (น้ำตกตาไต) จุดประสงค์เพื่อเพิ่มวันพักของนักท่องเที่ยวอีกอย่างน้อย 1 คืน และเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว เช่น การทำกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน และการจับจ่ายใช้สอยสินค้าชุมชนและสินค้าบริเวณชายแดน

“ จังหวัดตราดมีแนวเขตชายแดนติดกับจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา  มีจุดแข็งในเรื่องวิถีชีวิตชุมชนใกล้เคียงกัน และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์  ประกอบกับการเปิดเสรีอาเซียน ทำให้การเดินทางข้ามแดนสะดวกขึ้นจึงเป็นอีกจุดแข็งหนึ่งที่ชุมชนตามระยะทางจากตราดไปสู่เกาะกง จะได้รับประโยชน์จากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว”
นายสุธารักษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวครั้งนี้ จะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ในวิถีชีวิตชุมชน โดยชุมชนก็เป็นเจ้าบ้านที่ดีคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวและยังมีรายได้เสริมจากการให้บริการกิจกรรมการท่องเที่ยว และการนำนักท่องเที่ยวไปสัมผัสกิจกรรมต่างๆในชุมชน เช่น การทำประมงชายฝั่ง ทั้งหมดจะช่วยผลักดันให้ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น  
 ที่ผ่านมา อพท. 1 ดำเนินการสำรวจเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพหลายแห่ง พบว่าชุมชนยังมีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ คือทำประมง ทำสวน และ ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ  ทั้งหมดจึงเป็นจุดแข็ง ที่ อพท. 1 ได้เข้าไปพัฒนาต่อยอด โดยนำองค์ความรู้ด้านการจัดการไปสอนให้กับชุมชน ให้ชุมชนเป็นผู้จัดกิจกรรม บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้ถูกใช้อย่างคุ้มค่า และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ดีมีมาตรฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างประทับใจ   

 
ในส่วนของชุมชนตำบลไม้รูด จุดแข็งคือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ   และวิถีประมง ที่จะนำเสนอเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยว ได้แก่ ศึกษาการทำประมง นั่งเรือชมทะเล ศึกษาป่าชายเลน  
ขณะที่ตำบลหาดเล็ก เป็นพื้นที่สุดแดนติดกับกัมพูชา เป็นจุดที่แคบที่สุดของไทย นับจากยอดเขาที่แบ่งเขตแดน กว้างเพียง 450 เมตรเท่านั้น  ด้านซ้ายเป็นภูเขา  ด้านขวาเป็นทะเล มีเขตการค้าชายแดน มีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยวชุมชน สามารถที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากหมู่เกาะช้าง เข้ามาท่องเที่ยวชุมชนเหล่านี้ ช่วยลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในหมู่เกาะช้าง ด้วยการกระจายการท่องเที่ยวสู่ชุมชน ส่วนบริเวณตำบลคลองใหญ่ เป็นประมงพื้นบ้านออกเรือเล็ก เกษตรกรรม มีชายหาด มีแนวชายทะเลยาว 100 กิโลเมตร  มีหาดมุกแก้ว เป็นชายหาดบริสุทธิ์ มีความเป็นธรรมชาติมาก มีแมงกะพรุนหลากสี จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี

รายงานจากศูนย์วิจัยด้านการตลาดการท่องเที่ยว  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดทำตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางสู่จังหวัดตราด   ระหว่างปี 2556-2558 ดังต่อไปนี้ ปี 2556 จำนวนนักท่องเที่ยว 1,685,537 คน เติบโตจากปี ก่อนหน้า 3.67% ปี 2557 มีจำนวน 1,742,621 คน เติบโต 3% และปี 2558 มีจำนวน 1,864,064 คน เติบโต 6.97% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย ทั้งนี้ตัวเลขอัตราการเติบโตดังกล่าว เป็นการเติบโตที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น จากก่อนหน้านี้อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี  2554 และ 2555 จะเติบโตปีละ 53.44% และ 48.17% ตามลำดับ ซึ่งการเติบโตที่ลดลงในปี 2556 อาจมาจากฐานจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นมาหลายปีติดต่อกัน  อย่างไรก็ตาม อพท. หวังว่า โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชาครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้จังหวัดตราดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งจากภายในประเทศและที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา