‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight

‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight

‘บำรุงราษฎร์’ติดปีกเทคโนโลยี CardioInsight มุ่งสู่เป้าเป็นศูนย์วิจัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะระดับโลก


ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ อาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น
    

ทั้งนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด เป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเหล่านี้ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา และมักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพหรือป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์ หรือในผู้ป่วยบางอาจมีอาการให้สังเกตได้ เช่น วิงเวียน หน้ามืด ตาลายใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลม หมดสติ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายไป เช่น การใช้ยาควบคุมจังหวะของหัวใจ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้กล้ามเนื้อหัวใจที่นำไฟฟ้าผิดปกติ และการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

เทคโนโลยีใหม่ตรวจจับหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยให้ได้เสียก่อนว่าเป็นความผิดปกติชนิดใด เป็นการเต้นแบบสั่นพลิ้ว เต้นผิดจังหวะ เต้นเร็ว หรือเต้นเร็วชนิดลัดวงจร และหาตำแหน่งกำเนิดความผิดปกติเกิดขึ้นว่าเป็น ณ จุดใด หัวใจห้องบนหรือห้องล่าง เป็นต้น
    

น.พ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจแปซิฟิก ริม ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และอายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า โดยปกติในการวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดปกติจะใช้วิธีการ 2-3 วิธี เบื้องต้นคือจับชีพจรของคนไข้แล้วนับว่าเต้นเร็วเต้นช้าเท่าไหร่ เต้นปกติหรือไม่ปกติ วิธีการนี้จะสามารถรู้ได้ว่าคนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือหรือไม่ แต่ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นการเต้นผิดปกติแบบชนิดใด
    

ขณะที่ในช่วง 70-80 ปีมานี้ ได้มีการพัฒนาเครื่องมือ Electrocardiogram (EKG หรือ ECG) ซึ่งปัจจุบันนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกแทบทุกโรงพยาบาล ทุกคลินิค โดยเครื่องมือนี้จะตรวจวัดและสร้างกราฟคลื่นหัวใจ และจะให้ข้อมูลมากกว่าการจับชีพจรอย่างเดียว เช่น สามารถบอกอัตราการเต้นของหัวใจ เต้นเร็วจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง และรูปแบบการเต้นที่ไม่สม่ำเสมอนั้น มากน้อยแค่ไหน
แต่กระนั้น เครื่องมือ EKG ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าอาการผิดปกติของหัวใจเกิดในจุดใด เพียงแต่บอกได้คร่าวๆเพียงว่ามาจากหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง และมีอันตรายมากน้อยขนาดไหน
    

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ขณะนี้ได้มีการพัฒนาเครื่องมือชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า CardioInsight เข้ามาช่วยในการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้สามารถตรวจจับบริเวณของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดความผิดปกติได้แม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น หากเทียบกับเครื่อง EKG ที่บอกว่ามีความผิดปกติ ณ หัวใจห้องบน เครื่องมือ CardioInsight จะชี้เฉพาะได้ละเอียดขึ้นว่าผิดปกติที่จุดใดของหัวใจห้องบนหรือห้องล่าง หรือเทียบให้เห็นภาพง่ายๆคือแทนที่จะบอกว่าผู้ร้ายอยู่จังหวัดไหน ก็สามารถบอกได้เลยว่าอยู่ในซอยไหน

๐ รู้จัก CardioInsight
    

CardioInsight หรือที่เรียกเต็มๆว่า CardioInsight Mapping Solution ถูกพัฒนาขึ้นโดย ศาสตราจารย์ Yorum Rudy ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อกั๊กที่ฝังอิเล็กโทรดตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจจำนวน 252 ตำแหน่งบนเสื้อ ครอบคลุมทั่วพื้นที่ผนังทรวงอกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อได้ข้อมูลจากอิเล็กโทรดและประมวลผลด้วยซอฟต์แวร์ก็จะช่วยให้สามารถตรวจจับทิศทางสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจได้ทั่วทั้งดวง
นพ.กุลวี กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เซลทุกเซลของหัวใจเหมือนแบตเตอรี่ และการทำงานของหัวใจจะมี 2 องค์ประกอบคือ กล้ามเนื้อสำหรับการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และ มีคลื่นไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานเป็นจังหวะที่เหมาะสม

“การเต้นของหัวใจผิดจังหวะมักจะพบว่ามีความบกพร่องในแบตเตอรี่คือต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจหรือเส้นทางของกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้นเซลกล้ามเนื้อหัวใจ เหมือนสายไฟที่ส่งไฟฟ้าไปทั่วบ้าน เพราะฉะนั้นเมื่อมีการลัดวงจรหรือทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ ตัวอิเล็กโทรดที่ครอบคลุมทั่วทรวงอกจะสามารถตรวจจับได้ว่ามาจากตรงไหน”นพ.กุลวี กล่าว
    

นอกจากนี้ ความอัจฉริยะของอุปกรณ์นี้ ยังสามารถนำข้อมูลคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ตรวจจับได้ ไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลกายวิภาคของหัวใจที่ได้จากเครื่อง CT Scan แพทย์ก็จะสามารถเห็นภาพที่ชัดเจน ทั้งจังหวะการเต้นของหัวใจทุกๆจังหวะ เห็นภาพเส้นทางการเดินทางของกระแสไฟฟ้าทั่วหัวใจทั้งดวง ว่าออกจากจุดไหนไปยังจุดไหน และเกิดความผิดปกติในจุดไหน

“ถ้าเป็นคนปกติ หัวใจจะเต้นในห้องบนแล้วส่งสัญญาณไปหัวใจทั้ง 4 ห้อง ทั้งซ้ายและขวา ในกรณีแบบนี้ เราก็จะสามารถเห็นได้เลยว่าทุกจังหวะของหัวใจที่เต้น มันเริ่มจากหัวใจห้องบนลงมาห้องล่าง แล้วกระจายออกไปอย่างไร ถ้านับจากต้นกำเนิดไฟฟ้าหัวใจจนทั่วห้องข้างบน ส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นกระบวนการทำงานประมาณ 0.2 วินาที จากนั้นสัญญาณไฟฟ้าจะผ่านจุดเชื่อมระหว่างหัวใจข้างบนข้างล่าง ประมาณ 0.18-0.2 วินาที แล้วก็ลงไปหัวใจห้องล่างประมาณ 0.1 วินาที อันนี้คือหัวใจปกติ แต่ถ้าเป็นหัวใจเต้นผิดปกติ เราก็จะเห็นได้ทันทีว่ามันออกมาจากที่ไหน แล้วแพร่ขยายไปอย่างไร จะแพร่กระจาย (spread) แบบเริ่มจากจุดหนึ่งแล้วแซงหรือซ้อนกับคลื่นไฟฟ้าปกติตามธรรมชาติ หรือ เป็นวงจร วนกลับไปมาตรงไหน ก็ทำให้แพทย์เข้าใจอาการผิดปกติของคนไข้ได้ว่าเกิดจากอะไร” น.พ.กุลวี กล่าว

ที่สำคัญเครื่องมือชนิดนี้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีการผ่านหรือสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในร่างกายคนไข้ (non-invasive procedure) และยังช่วยเป็นส่วนเสริมให้กับการทำหัตถการที่เป็น invasive procedure เช่นการสวนหัวใจให้ทำได้ง่าย เข้าถึงตำแหน่งเฉพาะได้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
    

“เมื่อรู้จุดที่เป็นปัญหาแล้วก็ไปทำ invasive procedure ได้ วิธีการในการรักษา เราเรียกว่า Radio Frequency Ablation ซึ่งเป็นเครื่องจี้ด้วยความถี่วิทยุเพื่อสร้างความร้อนลงไปบนจุดที่มีปัญหา อย่างผมเวลาสวนหัวใจเพื่อรักษาคนไข้ ก็ให้คนไข้สวม CardioInsight ไว้ เราก็สามารถใช้ข้อมูลจากทั้ง 2 ส่วนนี้ร่วมกัน เรารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหนเราก็ไปตรงนั้นเลย ไม่ต้องไปค้นในทุกๆแห่ง นี่คือสิ่งที่คนไข้และแพทย์ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ทำให้กระบวนการรักษามีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และไม่เสียเวลามากเกินไป”นพ.กุลวี กล่าว
เดินหน้างานวิจัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
    

น.พ.กุลวี กล่าวอีกว่า เครื่องมือ CardioInsight ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ อยู่ในช่วงริเริ่มซึ่งปัจจุบันมีใช้ในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งในโลก คือที่โรงพยาบาลในเมืองบอร์โดซ์ ประเทศฝรั่งเศส และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทยที่ใช้งานเครื่องมือนี้อย่างจริงจังในการรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้ยังมีในโรงพยาบาลบางแห่งในอังกฤษ แต่การใช้งานยังไม่จริงจัง  เท่า 2 แห่งแรก ส่วนในอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีนี้ ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก แม้ว่าองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) จะอนุญาตให้ใช้เครื่องมือนี้ก็ตาม มีเพียงโรงพยาบาล Mount Sinai ที่มีใช้งานและเริ่มใช้หลังจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
    

“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในโลกที่นำเครื่องมือนี้มาใช้ในการรักษา ผมดีใจมากเราที่ได้อุปกรณ์นี้มาไว้ที่ Electrophysiology Lab ของเรา เราไม่ได้นำ CardioInsight มาเพื่อรักษาผู้ป่วยอย่างเดียว อีกเหตุผลหนึ่งที่บำรุงราษฎร์นำเครื่องมือนี้เข้ามา เพราะโรงพยาบาลต้องการวิจัยองค์ความรู้ในเรื่องหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย ขณะที่ทางผู้พัฒนาอุปกรณ์ก็เห็นว่าเราทำได้ดี ก็เลยอยากให้เป็น Partner ช่วยเหลือในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอย่างที่บอกว่ามีโรงพยาบาลไม่กี่แห่งในโลกที่มีเครื่องมือนี้และเราก็ภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในนั้น”นพ.กุลวี กล่าว
    

ทั้งนี้ น.พ.กุลวี วางแผนโครงการวิจัยสำคัญๆไว้ 2 เรื่อง คือ 1.การนำอุปกรณ์มาช่วยในการรักษาผู้ป่วย Brugada Syndrome หรือโรคใหลตายในภาษาไทย และ 2. วิจัยว่าเครื่องมือชนิดนี้จะเป็นประโยชน์ในการพยากรณ์ความเสี่ยงอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้หรือไม่

สำหรับการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์อื่นๆ เช่น เครื่อง CardioInsight จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยหรือย่นเวลาการรักษาได้มากน้อยพียงใดเมื่อเทียบกับเครื่องมือ EKG นพ.กุลวีกล่าวว่าอาจต้องใช้เวลาอีก 5-6 เดือน เนื่องจากอุปกรณ์นี้ยังเป็นของใหม่ ถือเป็น Learning Curve ที่บุคลากรยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้การทำงานร่วมกับเทคโนโลยี แต่เชื่อว่าช่วยย่นเวลาการวินิจฉัยอาการได้แน่นอน

ขณะเดียวกัน ประมาณกลางปี 2560 หรือต้นปี 2561 น.พ.กุลวียังเตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งใหญ่ เกี่ยวกับการรักษาโรคสำคัญๆ อย่างภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) หรือ หัวใจห้องล่างสั่นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation) และจะใช้การรักษาด้วยวิธีการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Ablation) ให้มีประสิทธิภาพอย่างไร รวมไปถึงจะนำเครื่องมือ CardioInsight มาช่วยคนไข้และแพทย์ได้อย่างไร ซึ่งจากกระแสขณะนี้ก็มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก
    

“เรานำเอา CardioInsight เข้ามา เพราะเราอยากเป็น Arrhythmia Center ที่ทำวิจัยที่ดีที่สุดและเป็นแห่งหนึ่งในโลกที่ดีที่สุดในการรักษา ซึ่งเครื่องมือนี้จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ทำให้เราเรียนรู้มากขึ้น เข้าใจโรคมากขึ้น และวินิจฉัยดีขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดนั่นเอง” น.พ.กุลวี กล่าวทิ้งท้าย