สินค้ากุ้งไทย ถูกสหรัฐปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือนม.ค.

สินค้ากุ้งไทย ถูกสหรัฐปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือนม.ค.

กรมประมง – สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย แถลงข่าว “ข้อเท็จจริงการตรวจพบสารตกค้างของสินค้ากุ้งไทยในสหรัฐ”

 

เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย จัดแถลงข่าวกรณีที่มีข่าวการที่สินค้ากุ้งไทย ถูกสหรัฐอเมริกา ปฏิเสธการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม ถึง 5 รายการ ด้วยเหตุที่ว่ามีตรวจพบสารไนโตรฟูราน (Nitrofurans) ปนเปื้อนนั้น

 

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรณีปัญหาสินค้ากุ้งไทยถูกปฏิเสธการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกานั้น ขณะนี้สหรัฐอเมริกาไม่ได้แจ้งให้ประเทศไทยดำเนินการใดๆ เนื่องจากหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าประมงของสหรัฐอเมริกา จะมีระบบการควบคุมมาตรฐานโรงงานแปรรูป ที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน The United States Food and DrugAdministration (USFDA) ของสหรัฐอเมริกาเอง ไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกทำหน้าที่กำกับดูแลแทน ดังนั้น โรงงานที่ประสงค์จะส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาต้องจดทะเบียนและจัดทำระบบการควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหารตามระบบ Hazards Analysis and Critical Control Point (HACCP) หลังจากนั้น หน่วยงาน USFDA จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงาน หากผลการตรวจฯ ผ่านมาตรฐาน โรงงานก็สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกาได้ โดยไม่ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) จากหน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกกำกับไป

 

กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำส่งออก ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการตรวจสอบหาสาเหตุข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่าผู้นำเข้าของบริษัทณรงค์ซีฟูด จำกัด ได้แจ้งขอกลับเข้ามาสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการของ USFDA หลังจากเคยถูกปฏิเสธการนำเข้าไป 1 รายการ เมื่อปี 2559 ซึ่งตามมาตรการของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ต้องตรวจสอบสินค้าจำนวน 5 รุ่นอย่างต่อเนื่อง หากไม่พบปัญหาก็จะกลับเข้าสู่ระบบการตรวจสอบตามปกติ ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทฯ ได้ผ่านการสุ่มตรวจ จำนวน 11 รุ่น ติดต่อกันแล้ว

สำหรับสินค้าที่เป็นปัญหาทั้ง 5 รุ่นนั้น มิได้รับการตรวจสอบว่าพบสารตกค้างไนโตรฟูรานแต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากสินค้ากุ้งทั้ง 5 รุ่น เป็นสินค้าตัวอย่างส่งให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาทดสอบก่อนมีคำสั่งซื้อ และ USFDA อยู่ระหว่างการพิจาณาปรับสถานะการตรวจสอบเข้าสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ ทำให้สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในมาตรการเฝ้าระวังซึ่งจะต้องถูกกักกันเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามมาตรการที่สหรัฐอเมริกากำหนด แต่ด้วยเหตุผลที่ผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจวิเคราะห์และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเก็บสินค้าเอง ดังนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าดังกล่าว จึงได้แจ้งขอทำลายสินค้ากุ้งทั้ง 5 รายการ

 

อย่างไรก็ตามข้อปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาเมื่อมีการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า เจ้าหน้าที่ต้องระบุสาเหตุของการทำลายสินค้าหรือปฏิเสธการนำเข้า และประกาศเป็น Import Alert ดังนั้น สินค้าค้ากุ้งแช่เยือกแข็งทั้ง 5 รุ่นของบริษัทฯ จึงถูกประกาศว่าถูกปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากตรวจพบไนโตรฟูราน ตามที่เคยมีประวัติในรุ่นปี 2559 ไปโดยปริยาย

 

ทั้งนี้ กรมประมงมั่นใจในระดับหนึ่งว่าสินค้ากุ้งของไทยนั้นมีมาตรฐานคุณภาพอาหารปลอดภัย เพราะเรามีกระบวนควบคุมสินค้าสัตว์น้ำส่งออกตลอดสายการผลิต ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการประมงที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (GAP) มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ฯสำหรับโรงงานแปรรูป และ มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (มกษ.) ของกุ้งแช่เยือกแข็ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการควบคุมของกรมประมง ดังนี้

 

  1. การควบคุมฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
  2. กำหนดการประมง พ.ศ.2558
  3. กรมประมงจะยกเลิกการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) ของฟาร์ม อีกทั้ง การกลับเข้าสู่การรับรอง GAP ฟาร์มจะถูกตรวจติดตามอย่างเข้มงวด

           1.1.3 กรมประมงแจ้งให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าไม่รับซื้อสัตว์น้ำจากฟาร์มที่ถูกยกเลิกการรับรองมาผลิต

  1. GAP ของฟาร์ม
  2. การควบคุมโรงงาน (กรณีพบการปนเปื้อนยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์)

 

อีกทั้ง ที่ผ่านมายังมีความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่มุ่งหมายให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรในการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านการเกษตรเป็นสำคัญ อาทิ จัดประชุมหารือร่วมกันกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งและสมาพันธ์เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไทย เพื่อกำหนดแนวทางในการควบคุมการใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามที่ผิดกฎหมาย และกำหนดให้โรงงานต้องรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรองเท่านั้น พร้อมกันนี้ ยังช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าสัตว์น้ำก่อนส่งออก และย้ำเตือนเกษตรกรเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP และการห้ามใช้ยาและสารเคมีต้องห้ามในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมทั้งแจ้งถึงมาตรการลงโทษตาม พ.ร.ก.การประมง ฉบับใหม่ด้วย

 

นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา กรมประมงร่วมกับสมาพันธ์เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งไทย ได้จัดทำโครงการซักซ้อมความเข้าใจให้แก่ผู้ค้าปัจจัยการผลิตและเกษตรกร ถึงแนวทางในการใช้สารเคมีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยกำหนดให้เกษตรกรจัดทำบันทึกแหล่งที่มาและการใช้สารเคมีและปัจจัยการผลิต เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้กรณีตรวจพบปัญหาด้วย

 

ด้าน ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกกุ้งไทย สูงเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 45 และรองลงมา ได้แก่ ตลาดญี่ปุ่น ร้อยละ 22 และสหภาพยุโรป ร้อยละ 15 กรณีที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้ากุ้งไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ มีมาตรการให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่เป็นสมาชิกสมาคมเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสัตว์น้ำที่รับเข้ามาผลิต โดยจะมีการตรวจวิเคราะห์สารปฏิชีวนะก่อนรับซื้อวัตถุดิบอยู่แล้ว และมีการตรวจสอบคุณภาพในกระบวนการผลิตด้วย

 

ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการที่เข้มงวดของการดำเนินการดังกล่าว ประกอบกับระบบตรวจสอบมาตรฐานสินค้าของกรมประมงที่มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือของประเทศคู่ค้า จะยังคงสามารถการันตีคุณภาพสินค้าประมงของไทยให้เป็นที่มั่นใจของผู้บริโภคได้ จึงขอฝากพี่น้องสื่อมวลชนให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวดังกล่าวไปยังทุกช่องทาง เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าประมงไทย