รัฐปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางทันตกรรม เริ่ม 1 ตุลาคม 2559

รัฐปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางทันตกรรม เริ่ม 1 ตุลาคม 2559

 

กรมบัญชีกลางปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางทันตกรรม บัญชีกลางยกระดับการรักษาทางทันตกรรม ปรับอัตราค่าบริการให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หวังช่วยให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวเข้าถึงการรับบริการมากขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ได้ปรับอัตราค่าบริการสาธารณสุข ในส่วนค่าบริการทางทันตกรรม ฟันเทียมถอดได้และอุปกรณ์ เพื่อให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีสิทธิและบุคคล ในครอบครัว รวมถึงจะช่วยให้เข้าถึงการรับบริการทางทันตกรรมได้มากขึ้น โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559  เป็นต้นไป  ทั้งนี้  กรมบัญชีกลางได้ประกาศกำหนด รายการ อัตรา และเงื่อนไขการเบิกจ่ายอัตราค่าบริการทางทันตกรรม  ฟันเทียมถอดได้และอุปกรณ์ สำหรับสถานพยาบาลของทางราชการ ประกอบด้วย

1.เพิ่มรายการค่าบริการ 11 รายการ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษา 2.ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการ จำนวน 46 รายการ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับโครงสร้างต้นทุนของสถานพยาบาล และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว รายการ และอัตราค่าบริการทางทันตกรรมใหม่ ที่ให้เบิก อาทิเช่น

- ถอนฟันน้ำนม/ฟันแท้ต่อซี่ จาก170 เป็น200
- ผ่าตัดฟันคุดหรือฟันฝังโดยกรอกระดูกและฟัน ต่อซี่ จาก600 เป็น1,000
- ผ่าตัดและอุดปลายราก (retrograde) ฟันหลัง ต่อซี่ จาก860 เป็น1,480
- อุดฟันชั่วคราว ต่อซี่ จาก200 เป็น240
- ขูดหินน้ำลายทั้งขากรรไกร (บนหรือล่าง) ครึ่งปาก เบิกได้ 140
- เพดานเทียมพร้อมฟันปลอมบางส่วนถอดได้สำหรับผู้ใหญ่ Adult definitive obturator with upper Temporary Plate ต่อชิ้น เบิกได้ 6,210
- เพดานเทียมพร้อมฟันปลอมถอดได้ทั้งปากสำหรับผู้ใหญ่ Adult definitive obturator with upper Temporary Plate ต่อชิ้น เบิกได้ 4,850 Dental upper & lower casts (เพื่อการจัดฟันในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่) ต่อครั้ง 590

“กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงอัตราค่าบริการสาธารณสุขใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ปรับปรุงค่าบริการและเพิ่มรายการเกี่ยวกับทันตกรรม ฟันเทียมถอดได้และอุปกรณ์ ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นรายการ ที่มีการใช้บริการจำนวนมาก และมีความจำเป็นในการรักษา ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 410 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 ใช้งบประมาณในด้านทันตกรรมเป็นเงิน 1,170 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.76 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด” นายมนัส กล่าว