ก้าวไกล ชี้ เหตุล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง อัดรัฐยกระดับ“วาระแห่งชาติ” แต่ไม่คืบ

ก้าวไกล ชี้ เหตุล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง อัดรัฐยกระดับ“วาระแห่งชาติ” แต่ไม่คืบ

“ก้าวไกล” ชี้ สถิติการล่วงละเมิดทางเพศพุ่ง เหตุกลไกที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงความยุติธรรม จี้ถามรัฐบาลยกระดับ"ข่มขืนกระทำชำเรา-ล่วงละเมิดทางเพศ" เป็น “วาระแห่งชาติ” แต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

นาณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีนักการเมืองคนดังฐานล่วงละเมิดทางเพศว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ในทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะการอาศัยเงื่อนไขของผู้กระทำที่มีอำนาจเหนือกว่า

และแม้จะมีข่าวการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอยู่ทุกวัน แต่การข่มขืนกระทำเราหรือการล่วงละเมิดทางเพศกลับเกิดมากขึ้น เพราะสังคมขาดความเข้าใจและยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้เสียหาย อีกทั้งขาดกลไกรับเรื่องร้องทุกข์จนผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ ต้องพึ่งพาภาคประชาสังคมหรือต้องทำให้เรื่องกลายเป็นข่าว จี้รัฐปรับปรุงระบบรับร้องทุกข์ที่เป็นมิตร พร้อมเปลี่ยนทัศนคติของสังคมช่วยกันปกป้องผู้เสียหาย

โดยก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ

มีตัวแทนทั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศมีสาเหตุหลักด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ การที่คนในสังคมยังขาดความตระหนักและขาดการเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น การขาดกลไกในการเฝ้าระวังปัญหาโดยเฉพาะในระดับครอบครัว สถานศึกษา และชุมชน การขาดกลไกรับเรื่อง การรับแจ้งความร้องทุกข์ และกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย

รวมถึงกลไกการแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด และการขาดกลไกการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขเยียวยาต่อผู้เสียหายและครอบครัว พร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งก่อนเกิดเหตุ เมื่อเกิดเหตุแล้ว และหลังเกิดเหตุ ไปยังคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ยกระดับการแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” แต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด

“ที่ดูคืบหน้าอยู่บ้างคือร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง จะเป็น กม.ที่นำมาใช้กับผู้กระทำความผิดที่ก่อเหตุหลายครั้ง และอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการแพทย์หรือการคุมขัง เพื่อเข้าระงับเหตุไม่ให้ไปกระทำความผิด โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศซ้ำอีก ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สว. แต่นั่นเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศมีมากกว่านั้น

ทั้งกรณีที่ผู้เสียหายไม่ทราบว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วควรจะดำเนินการอย่างไร เมื่อไปแจ้งความแล้วกลับโดยปฏิเสธไม่รับแจ้งความหรือให้กลับไปหาพยานหลักฐานเอง ไปจนถึงการกลัวคนรอบข้างและสังคมไม่เชื่อ กล่าวโทษกดดัน กลายเป็นผู้เสียหายเป็นผู้ผิด ทั้งการดำเนินคดีที่ยาวนาน มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ที่แย่ที่สุดคือผู้กระทำที่เป็นผู้มีอิทธิพลหรืออำนาจที่เหนือกว่าผู้เสียหาย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนในครอบครัว เป็นผู้ใหญ่กับเด็ก นายจ้างกับลูกจ้าง อาจารย์กับลูกศิษย์ การกระทำต่อแรงงานข้ามชาติ หรือกรณีนักการเมืองที่เป็นข่าวในปัจจุบัน จนผู้เสียหายหวาดกลัว ไม่กล้าแจ้งความ และหลายครั้งยอมถูกกระทำต่อเนื่องกันอีกหลายครั้ง หากรายใดกล้าลุกขึ้นมา ก็ต้องขอความช่วยเหลือกับภาคประชาสังคม องค์กรมูลนิธิต่างๆ หรือต้องทำให้เป็นข่าว ซึ่งเราไม่ควรจะให้กระบวนการที่ต้อง ”ไม่ปกติ” ถึงจะได้รับการช่วยเหลือ กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ไป” นายณัฐวุฒิกล่าว

โดยกระบวนการที่ควรเกิดขึ้นในวันนี้นั้น จะต้องเริ่มจากการสอนให้เด็กตระหนักถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น ผ่านหลักสูตรเรื่องเพศวิถีศึกษาและสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา การทำให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศและไม่กระทำความรุนแรงซ้ำต่อผู้เสียหาย การมีสายด่วนให้คำปรึกษา มีช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ ดังที่เคยมีความพยายามให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือสังคม” ขึ้นในหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน เพื่อให้มีช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การปรับระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรต่อผู้เสียหายทั้งระบบ มีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่เด็ดขาด และกระบวนการแก้ไขเยียวยา บำบัดฟื้นฟูต่อผู้เสียหายและครอบครัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยที่กล่าวมาทั้งหมด แม้อาจจะไม่ทำให้ไม่เกิดการข่มขืนกระทำชำเราหรือการละเมิดทางเพศเสียเลย แต่ก็อาจจะลดอัตราการละเมิดทางเพศที่สูงขึ้นและทำให้ผู้เสียหายกล้าลุกขึ้นมาที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่มากขึ้น
 
“บางทีการที่ผู้เสียหายเริ่มกระบวนการร้องทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐส่วนอื่นๆ การเปลี่ยนจากประโยค เช่น “ถ้าคุณไม่มีหลักฐาน ระวังโดนฟ้องกลับนะ” “ทำไมคุณไม่รู้จักระวังตนเอง” “ทำไมคุณเพิ่งมาแจ้งความ” มาเป็นประโยคที่ว่า “อยากให้กำลังและชื่นชมความกล้าหาญของคุณ” “ตอนนี้คุณปลอดภัยแล้วนะ” “อยากให้คุณให้ข้อเท็จจริงให้มากที่สุด และเราจะช่วยกันคืนความยุติธรรมให้กับคุณ” อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาข่มขืนกระทำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ หลายเรื่องที่เกิดขึ้น อาจถูกจัดการตั้งแต่มีผู้เสียหายรายแรก มิใช่ปล่อยให้ผู้กระทำความผิดย่ามใจ ก่อเรื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมีผู้เสียหายอีกหลายราย ดังที่เป็นข่าวในปัจจุบัน” ณัฐวุฒิกล่าว