"ประวิตร" ถก อนุฯขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ มีมติ ของบฯ โครงการน้ำ

"ประวิตร" ถก อนุฯขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ มีมติ ของบฯ โครงการน้ำ

"ประวิตร" ถก อนุฯขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ มีมติ ของบฯปี66 ใน 7โครงการน้ำ เห็นชอบ โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี เฟส2 สั่งเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่1/2565 ผ่านระบบ VDO CONFERENCE 

โดยที่ประชุมได้รับทราบ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว และมีมติให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมีโครงการด้านทรัพยากรน้ำจำนวน 7โครงการ และรับทราบความก้าวหน้า การติดตามสถานภาพโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ซึ่งมีโครงการที่ติดตามอยู่ขณะนี้ จำนวน 73 โครงการ และมีโครงการที่มีความพร้อมเพื่อเตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ภายใต้พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และไม่ติดขัดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมได้แก่ อ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำคลองขลุง จ.จันทบุรี  และอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ จ.พังงา เป็นต้น

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 (กทม.) งบประมาณปี66-69 ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการตามแผนการแก้ไขปัญหาและบำบัดน้ำเน่าเสียในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. อันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของเมือง อย่างรวดเร็วประชาชนต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากทำให้เกิดน้ำเสียไหลลงสู่คลองสายสำคัญ คือคลองแสนแสบ สำนักการระบายน้ำ ของกทม.จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเริ่มจากโครงการระยะที่ 1 ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 เพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย (42,000 ลบ.ม./วัน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ เช่น คลองแสนแสบ,คลองสามวา และคลองสองต้นนุ่นในเขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตคันนายาว และเขตสะพานสูง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น2,902 ล้านบาท

พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวว่า ให้ทุกหน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์และตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ ต้องรีบแก้ปัญหาให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด และต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจประชาชน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้โครงการต่างๆ ประสบผลสำเร็จได้ อย่างยั่งยืนต่อไป