จับกระแส "วิกฤติยูเครน" จุดชนวน "สงครามโลก" ครั้งใหม่

จับกระแส "วิกฤติยูเครน" จุดชนวน "สงครามโลก" ครั้งใหม่

"ดร.สุรชาติ" วิเคราะห์สถานการณ์ใน "ยูเครน" หลัง ปูติน รับรองเอกราช 2 รัฐ แยกจากยูเครน นำไปสู่ สงครามใหญ่ที่สุด นับจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่2 เท่ากับสุ่มเสี่ยงจะเป็น "สงครามโลก"

22 ก.พ.2565  ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ในยูเครน ผ่านราการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า สถานการณ์ขณะเท่ากับเป็นการจุดไฟสงคราม หลัง 6 ชม.ที่ผ่านมา ปูติน ประกาศรับรองเอกราชของ 2 รัฐที่แยกออกไปในภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมส่งกำลังทหารเข้าไปในยูเครนคุ้มครอง โดยอ้างเรื่องปฏิบัติการรักษาสันติภาพ และฝ่ายตะวันตกตอบโต้ว่าไม่ใช่พื้นที่รักษาสันติภาพ จึงเป็นที่ของการเรียกประชุมฉุกเฉินในสมัชชาความมั่นคงของยูเอ็นตามคำเรียกร้องของยูเครน ขณะที่สหรัฐยังคาดหวังเจราจาทางการทูตกับรัสเซียที่ยังเปิดช่องอยู่

อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า ขณะนี้รัสเซียมี 3 ทางเลือกใหญ่ โดยทางเลือกที่สุดโต่งที่สุดคือสงครามใหญ่ โดยใช้ทั้งกำลังทางบก ทางอากาศ ทางน้ำ เนื่องจากปัจจุบันกำลังรบทางเรือถูกวางในทะเลดำแล้ว ซึ่งถ้าตัดสินใจเปิดสงครามใหญ่ ขอรับประกันว่าใหญ่แน่  และคำถามจะขยายเป็นสงครามโลก หรือ จะออกไปในลักษณ์สงครามเกาหลีในอดีต

แต่ถ้าลดระดับลงมาเป็นการใช้กำลังแบบจำกัด คือใช้กำลังเข้ายึดพื้นที่บางส่วน แต่คงหนีไม่พ้นการรบ ความสูญเสียก็ตามมา แต่มองว่าการที่ปูตินประกาศรับรองเอกราช 2 รัฐแยกออกไปในยูเครน ถือเป็นการใช้มาตรการทางการทูตเชิงบังคับ เป็นระดับที่ต่ำสุด เพราะเมื่อประกาศผนวกทั้ง2รัฐ ถือเป็นรูปแบบสงครามใหม่ โดยทางทหารเรียกว่า Hybrid warfare  หรือ สงครามพันทาง 

โดย รัสเซียจะใช้กำลังรบตามแบบในการกดดัน และ ใช้กำลังนอกแบบปฏิบัติการ สิ่งที่เห็นจากขบวนการปลดปล่อย แบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน กำลังรบบางส่วนที่เป็นของกระบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นทหารรัสเซียเดิม แปลว่า รัสเซียใช้กำลังรบตามแบบกดดัน และใช้กำลังนอกแบบปฏิบัติการ และต้องไม่ลืมว่าเมื่อ 2014 มีการเปิดปฏิบัติการด้านไซเบอร์

แต่ Hybrid warfare  หรือ สงครามพันทางสมัยใหม่ จะเห็น 3 ส่วนผสมผสานกัน คือ การใช้กำลังรบตามแบบ การใช้กำลังรบนอกแบบ และการใช้ศักยภาพพลังทางด้านข้อมูลข่าวสารทำสงครามไฮบริดจ์

ในขณะนี้เราได้ข้อสรุปแรกว่า รัสเซีย ใช้มาตรการทางการทูตกดดันเพื่อผนวกดินแดน  แต่ถ้ามองต่อไปรัสเซียอาจผนวกพื้นที่ด้านตะวันออกของยูเครนเพิ่ม หรือ อาจผนวกพื้นที่ด้านตะวันออกทั้งหมด และเปิดโอกาสให้รัสเซียไปตั้งฐานทัพ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่า ปูติน อ้างสิทธิ์เพราะพื้นที่ถูกผนวกเท่ากับเป็นดินแดนรัสเซีย และมีการเคลื่อนกำลังตัวเลขแบบคร่าว 150,000 นาย เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และ การเคลื่อนกำลังรอบนี้เป็นอะไรที่ใหญ่ที่สุด และสร้างความกังวลใหญ่ให้หลายฝ่าย เพราะหากเคลื่อนกำลังไปเรื่อยๆคงรั้งภาวะสงครามไม่ได้ แต่จะเป็นสงครามเล็ก หรือ ใหญ่ ก็ต้องว่ากัน

ดร.สุรชาติ ยังกล่าวถึง ท่าทีของโลกตะวันตกต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า คงต้องรอดูผลการประชุมสมัชชาความมั่นคงจะออกมติอย่างไร แน่นอนว่าจะออกมารูปแบบการประณามหรืออะไรก็แล้วแต่หรือถูกวีโต้ แต่ตนคิดว่า สิ่งต้องพิจารณามีการผูกโยง 2 ส่วน คือ ท่อแก๊สรัสเซียขายให้กับยุโรป หลายฝ่ายเชื่อว่า รัสเซียจะตัดแก๊ส และยุโรปจะมีปัญหา 

แต่ในขณะเดียวกันมาตรการฝั่งตะวันตก การประชุมด้านความมั่นคงที่มิวนิค เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่เป็นเรื่อง วิกฤติยูเครน สิ่งที่เราเห็นกำลังเข้าสู่จุดพลิกผันที่สำคัญ แต่จะเกิดสงครามขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่คงต้องติดตาม แต่เราเห็นขั้นตอนแรกคือการใช้มาตรการทางการทูตเชิงบังคับเกิดขึ้นแล้ว เท่ากับวันนี้กำลังรบรัสเซียเข้าประชิดมากขึ้น

ส่วนการตอบโต้ทางทหารของโลกตะวันตก ผ่านคำขู่ ทั้ง สหรัฐ อังกฤษนั้น ตนคิดว่า หากตะวันตกเคลื่อนกำลังเข้าไปซึ่งจะเห็นว่าตัวเลขส่งกำลังส่งเข้าไปหลักพันต้นๆไม่มีความหมายอะไร ในทางกลับกันถ้าส่งกำลังเข้าไปมาก จะเกิดปัญหาความตึงเครียดมากขึ้น แล้วเราจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน รัสเซียจัดกำลังใหม่สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมรบ และสิ่งใหญ่ที่สุด ที่เราไม่เคยเห็น คือการประกาศซ้อมรบอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ดังนั้นตะวันตกคงชั่งใจมากพอสมควร อย่างไรก็ตามคงต้องใช้เวทีต่างๆ เป็นเครื่องมือกดดัน

ดร.สุรชาติ กล่าวถึงประเด็น ที่หลายฝ่ายมองว่า ไบเดน ไม่พร้อมทำสงครามเต็มรูปแบบกับรัสเซียนั้น คงไม่น่าจะใช่ แต่น่าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการทูต เพราะว่าถ้าตัดสินใจเปิดสงคราม จะกลายเป็นสงครามโลกแน่นอน และ ปูตินคงไม่ยอมจะให้เปิดถึงขนาดนั้น และ เหตุการณ์แบบนี้คือสิ่งกับสหรัฐมาเมื่อ 60 ปีที่แล้วกับการเผชิญหน้ากับรัสเซีย ในห้วงที่รัสเซียนำขีปนาวุธและหัวรบนิวเครียร์ไปตั้งคิวบาร์แล้วเกิดการกดดัน เป็นอาการเดียวกันที่ทางสหรัฐให้เปิดการปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ต่อคิวบาร์ ซึ่งปีนี้ครบ 60 ปีพอดี ก็เป็นโจทย์เดิม ซึ่งในขณะนั้นมีความพยายามรั้งสถานการณ์ จนนำไปสู่การเจรจาและจบลงด้วยการถอนขีปนาวุธและหัวรบนิวเคลียร์ออกจากคิวบาร์ แลกด้วยการถอนขีปนาวุธ หัวจรวดของอเมริกันออกจากตุรกี

ดร.สุรชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับรอบนี้คงต้องดู แต่คิดว่าทั้งโลกตะวันออก และโลกตะวันตก ไม่มีใครอยากเห็นสงครามใหญ่เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีถ้าเดินหน้าต่อ สถานการณ์จะเปราะบางมาก และวันนี้ทุกคนประเมินเหมือนกันหมด ถ้าเกิดการรบใหญ่ที่ยูเครน จะเป็นสงครามใหญ่ที่สุดนับจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่2 เท่ากับสุ่มเสี่ยงจะเป็นสงครามโลก

ขณะที่ ท่าที่กลุ่มประเทศอียู หากใช้วิธีการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ ด้วยการหยุดท่อส่งแก๊สจากรัสเซียที่ป้อนมานั้น อียูเองจะประสบวิกฤตทางด้านพลังงาน ในขณะที่สหรัฐอาจจะต้องเข้ามาประคอง อียู  แต่ในขณะเดียวกันผลต่อรัสเซียก็จะหนักเช่นกัน หากถูกแซงชั่น มาตรการเต็มรูปแบบ แปลว่ารัสเซียจะถูกดึงออกจากรูปแบบประชาคมทั้งทางเศรษฐกิจของยุโรป 

ดร.สุรชาติ ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนที่รัสเซีย ไม่กลัวกับมาตรการแซงชั่นทางเศรษฐกิจ เพราะตกอยู่ในสถานการณ์นี้มาตลอด  หากเป็นไปตามนั้น ก็จะกลับไปสู่มาตรการการใช้กำลังทางทหาร หรือการยกระดับมาตรการทางการทูต แต่คาดหวังว่ามาตรการนี้จะไม่ยกไปสุด  ส่วนโอกาสการเจรจานั้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวัง แต่สิ่งที่รัสเซียกลัวมากที่สุดก็คือ ตะวันตกจะรุกประชิดเข้ามาทางด้านชายแดน และปัญหาใหญ่ที่รัสเซียกำลังเผชิญอีกอย่างคือ รัฐที่แยกตัวออกเป็นเอกราช  ที่รัสเซียมองว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ไม่ประสงค์ให้ตะวันตกเข้ามา แต่รัฐเหล่านี้ อยากมีความสัมพันธ์กับตะวันตกและใหญ่ที่สุดความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง ด้วยการเข้าร่วมกับนาโต้เพราะฉะนั้น รัสเซียไม่อยากเห็นสหรัฐ เอา นาโต้ เข้าเข้ายูเครน ถือเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังติดตามว่า สหรัฐจะยอมหรือไม่ ที่จะไม่รับในมิตรภาพของยูเครน จากนี้คงต้องรอดู ว่าสถานการณ์จะจบแบบสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่