ตรวจเก้าอี้ ส.ส.ขั้วรัฐบาล ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสอยกราวรูด

ตรวจเก้าอี้ ส.ส.ขั้วรัฐบาล ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญสอยกราวรูด

จับตาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในสารบบว่าผลจะออกไปทิศทางใด และต้องจับตา กรณีของ “ถาวร-ชุมพล-สิระ” หากต้องหลุดตำแหน่ง ส.ส.ลำดับถัดไป คือ “เลือกตั้งซ่อม” ที่อาจเป็นสนามประลองกำลังของพรรคใหญ่ ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งทั่วไป

ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในโฟกัสการเมืองอีกครั้ง หลังวินิจฉัยคดีแกนนำม็อบราษฎรล้มล้างการปกครอง เพราะยังมีคดีเกี่ยวกับการเมือง-นักการเมืองจ่ออยู่

คดีล่าสุดที่จ่อคิว คือ 4 ส.ส. ในกลุ่มแกนนำ กปปส. ประกอบด้วย “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา “อิสสระ สมชัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ “ชุมพล จุลใส” ส.ส.ชุมพร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และ“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 

ศาลนัดฟังคำวินิจฉัย วันที่ 8 ธันวาคม 64 เวลา 15.00 น. กรณีขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ด้วยเหตุต้องคำพิพากษาและต้องโทษจำคุก ในคดีล้มการเลือกตั้ง

คิวถัดไป วันที่ 22 ธันวาคม 64 “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูก “เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พร้อมคณะยื่นให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นส.ส. 

เหตุจาก “สิระ” เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้ร้องมองว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(10)
 

โดยก่อนหน้านั้น “สิระ” เคยถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปมขาดคุณสมบัติแล้วรอบหนึ่ง กรณีถูกร้องว่ามีพฤติกรรม “ก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจำของเจ้าหน้าที่รัฐ” ระหว่างการลงพื้นที่่ จ.ภูเก็ต แต่รอดมาได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย 1 กรกฏาคม 2563 ระบุว่า ฟังไม่ได้ว่า “สิระ” ใช้สถานะหรือตำแหน่ง ส.ส. ก้าวก่าย แทรกแซงงานประจำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 185(1) กำหนดไว้

กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสั่งให้ส.ส.ต้องพ้นตำแหน่ง นับตั้งแต่การเข้ามาทำหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25  ตั้งแต่ปี 2562 พบว่ามี "ส.ส.” ที่ถูกศาลวินิจฉัยให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ รวมแล้ว 4 คน

คนแรก “นวัธ เตาะเจริญสุข” อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2562 วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ด้วยเหตุที่ “นวัธ” ถูกศาลขอนแก่นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ด้วยคดีจ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น ปี2556 และไม่ได้รับการปล่อยตัวระหว่างอุทธรณ์

โดยตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นั้น ระบุว่าเข้าข่าย ลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 101(6) ว่าด้วยการสิ้นสุดส.ส. ประกอบมาตรา 98 (6) กำหนดว่า ห้ามคนที่ถูกพิพากษาจำคุกและถูกคุมขัง โดยหมายศาลใช้สิทธิลงเลือกตั้ง

คนที่สอง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 14/2562 เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2562 กรณีการถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดียจำกัด ระหว่างที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม มาตรา 98 (3) กรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ

คนที่สาม “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2563ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 28 ตุลาคม 2563 กรณีที่ “ธัญญ์วาริน” ถือครองหุ้นบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับโฆษณา ภาพยนตร์ และการแสดง ระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98(3)

คนที่สี่ “เทพไท เสนพงศ์” อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ตามคำวินิจฉัย ที่ 1/2564 เมื่อ 27 มกราคม 2564 กรณีต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรมราช ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ กรณีร่วมกระทำทุจริตเลือกตั้ง อบจ.นครศรีธรรมราช ปี2557 โดยเข้าข่ายผิด มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98(4) และ มาตรา 96 (2) นอกจากต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส.แล้ว เทพไท ยังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ด้วย

หากนับสมัยของ ส.ส.ชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 มีนาคม 2562 พบว่ามีกลุ่ม ส.ส.ที่ต้องพ้นจากการทำหน้าที่ด้วยเหตุอื่น คือ “ยุบพรรค” อีก 11 คน ฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรค อนาคตใหม่ 

โดยศาลสั่งให้ยุบพรรค ด้วยกรณียืมเงินหัวหน้าพรรค 191.2 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อกฎหมาย ประกอบด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล  กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ชำนาญ จันทร์เรือง พล.ท.พงศกร รอดชมภู พรรณิการ์ วานิช ไกลก้อง ไวทยาการ นิรามาน สุไลมาน เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ สุรชัย ศรีสารคาม เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ และจารุวรรณ ศรัณย์เกตุ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีบัญชี ส.ส. ที่อยู่ในคิววินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะหลุดจากตำแหน่ง ส.ส.อีกหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่นัดฟังคำวินิจฉัย คือ “สำลี รักสุทธี”ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กรณีขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา98(10) กรณีกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เมื่อ 3 มกราคม 2562 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(3) วรรคสอง 

เนื่องจากศาลจังหวัดมหาสารคามมีคำพิพากษาจำคุก 1 ปี 10 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี กรณีพิพาทกับสถานบันเทิงใกล้บ้าน และได้ทำลายทรัพย์สินของสถานบันเทิงดังกล่าว

ดังนั้นต้องจับตาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญที่อยู่ในสารบบว่าผลจะออกไปทิศทางใด และต้องจับตา กรณีของ “ถาวร-ชุมพล-สิระ” หากต้องหลุดตำแหน่ง ส.ส.ลำดับถัดไป คือ “เลือกตั้งซ่อม” ที่อาจเป็นสนามประลองกำลังของพรรคใหญ่ ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งทั่วไป