แก้รธน. 'ก้าวไกล-ฝ่ายค้าน' แยกกันเดินแต่ 'ไม่ร่วมกันตี'

แก้รธน. 'ก้าวไกล-ฝ่ายค้าน' แยกกันเดินแต่ 'ไม่ร่วมกันตี'

1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของ “ม็อบปลดแอก” ที่ทวงถามไปยังรัฐบาล ผ่านเวทีชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา และขีดเส้นว่าจะต้องได้คำตอบภายในเดือน ก.ย. นี้ หนีไม่พ้นการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 269-272 ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจและที่มาของ ส.ว.

สอดรับกับท่าที่พรรคก้าวไกล ที่ล่าสุดใส่เกียร์ถอยในการร่วมเข้าชื่อในญัตติของ6พรรคฝ่ายค้านเสนอ  แต่เลือกที่จะเสนออีกญัตติโดยชูในเรื่อง การปิดสวิตซ์ส.ว. ซึ่งตรงกับข้อเสนอของม็อบปลดแอก มาเป็นประเด็นสำคัญ

การเดินเกมของ ก้าวไกล” และ “6พรรคฝ่ายค้าน มีการตีความไปในหลายแนวทาง ทางหนึ่งมองว่า เป็นความเห็นต่างหรือความขัดแย้งภายในขั้วรัฐบาล เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคที่ระบุว่ามีบางประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน อีกทางมีการมองว่า เป็นการแยกกันเดินร่วมกันตีหรือไม่ 

ทว่าหากเปิดดูญัตติที่เพื่อไทยเสนอ ทั้งการปลดล็อกมาตรา256 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ 

มีการประเมินคร่าวๆแล้วว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า1ปีครึ่ง-2ปี ยังไม่นับรวมกับขั้นตอนหากมีการทำประชามติ นับนิ้วไปนับนิ้วมาก็ไม่ต่างอะไรกับการประวิงเวลาเเพื่อให้ “รัฐบาลประยุทธ์ ได้อยู่ครบเทอม 

สอดรับกับท่าทีจากทางฝั่งรัฐบาลเอง ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่าจะหยิบเรื่อง เงื่อนไขเวลา ขึ้นมาเป็นตัวต่อรองกับบรรดากลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง

ส่วนนี้เองที่อาจทำให้ ก้าวไกล มาชั่งน้ำหนักดูแล้วว่า ไม่ต้องการที่จะยื้อเวลาไปนานขนาดนั้น อีกทั้งเป็นทางเลือกดังกล่าวยังเป็นทางเลือกที่ ห่างไกล กับข้อเสนอม็อบปลดแอกที่ขีดเส้นว่าจะต้องมีความชัดเจนในเดือนก.ย. 

ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของทั้งก้าวไกลและม็อบที่ผ่านมา แม้จะสนับสนุนให้มีการตั้งส.ส.ร.เพื่อรื้อรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากไปกว่า การยกเลิกส.ว.เพื่อปิดสวิตซ์รัฐบาลประยุทธ์ รวมถึงการแก้ไขในบางมาตราต้องห้าม

ดังนั้นเลือกที่จะถอยออกมาแล้วยื่นญัตติของตัวเองตามข้อเสนอม็อบอาจเป็นการรักษามวลชนไว้ได้ทางหนึ่ง

อีกประเด็นที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ ก้าวไกล  และ “6พรรคฝ่ายค้าน” แยกทางกันเดินในครั้งนี้หนีไม่พ้น การแก้ไขในบางหมวด บางประเด็นต้องห้าม ที่ถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่มีทางเอาด้วยอย่างแน่นอน

ต่างจาก ก้าวไกล ที่มองว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามแก้ไขในมาตราดังกล่าว ตราบใดที่การดำเนินไม่เข้าข่ายตามมาตรา255แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุ ข้อห้าม ในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ” 

ดังนั้นการที่พรรคก้าวไกลตัดสินใจแยกทางกับเพื่อไทยและพรรคฝ่ายค้านในครั้งนี้ อาจเป็นเพียงแค่การ “แยกกันเดินแต่คงไม่ใช่การร่วมกันตีอย่างที่หลายคนคาดคิด!!