ลุ้น!ศาลรธน.ชี้ชะตา'ยิ่งลักษณ์'พรุ่งนี้

ลุ้น!ศาลรธน.ชี้ชะตา'ยิ่งลักษณ์'พรุ่งนี้

รายละเอียด รอลุ้น!ศาลรธน.ชี้ชะตา"ยิ่งลักษณ์"พ้นเก้าอี้หรือไม่ ปมย้าย"ถวิล"7พ.ค.นี้

จากกรณีไต่สวน4พยานปากปมโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช."ส.ว.ไพบูลย์"ขอศาลสั่งตั้งนายกฯ ภายใน 7 วัน หากฟันนายกฯพ้นเก้าอี้ ด้าน"ยิ่งลักษณ์" ยันโยกย้าย"ถวิล"ไม่ได้ทำเพื่อเครือญาติ ส่วน"ถวิล"เชื่อถูกเด้ง เพื่อเปิดทางให้"เพรียวพันธ์"นั่งผบ.ตร. ขณะที่"จรัญ"ตาดีพบเอกสารวันที่ลักลั่น เชื่อต้องมีฉบับปลอม "อดีตผบ.ตร."ยันเต็มใจให้เด้งพ้นเก้าอี้ผบ.ตร. เหตุน้อยใจ"เฉลิม" ตำหนิเป็นตำรวจคุมบ่อน

คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์เพือไต่สวนพยาน 4 ปาก ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผบ.ตร. และอดีตเลขาธิการสมช.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้กล่าวกำหนดประเด็นการไตร่สวนไว้ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.เมื่อมีการยุบสภา ปัญหาพิจารณามีว่า ผู้ถูกต้องพ้นจากตำแหน่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ 2.เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำให้ความเป็นรัฐมนตรี ทั้งคณะสิ้นสุดลงหรือไม่ และ 3.เมื่อความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงหรือไม่

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการขอเพิ่มพยานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าพยานมีเพียงพอแล้ว ซึ่งทางฝ่ายผู้ร้องก็มีการขอเพิ่มพยานมาเช่นเดียวกัน แต่ศาลก็ไม่อนุญาต

จากนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า ศาลปกครองเห็นว่าผู้ถูกร้องกระทำให้ตำแหน่งผบ.ตร.ว่างลง เพื่อให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผบ.ตร.แทน โดยการโยกพล.ต.อ.วิเชียร มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช. เพื่อเอื้อต่อเครือญาติ ถือเป็นการใช้สถานะความเป็นนายกฯ เข้าไปแทรกแซงให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสมช. เพื่อผลักดันพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งไม่ได้กระทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ตามที่กฎหมายกำหนด

"เมื่อผู้ถูกร้องถูกวินิจฉัยแล้วตำแหน่งจึงว่าลง จึงต้องแต่งตั้งนายกฯทันที ซึ่งการแต่งตั้งนายกฯแทนนายสมัคร สุนทรเวชร ได้ใช้เวลาแค่ 9 วัน และการแต่งตั้งนายกฯแทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใช้เวลา 14 วัน จึงเห็นว่าการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ควรกระทำทันที ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไม่สมประกอบ สุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจเสียหาย จึงจำเป็นเร่งด่วน ไม่ควรเกิน 7 วัน " นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ขอใคร่ควรให้วินิจฉัยตามมาตรา 268 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว จึงไม่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 181 จึงเป็นเหตุให้ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 181 และครม.จึงต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 171 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน และวินิจฉัยให้แต่งตั้งนายกฯคนใหม่ทันที โดยนำรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมาใช้โดยอนุโลม

จากนั้นนายจรูญ อินจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการแทรกแซง พร้อมทั้งขอให้อธิบายให้ชัดว่า ความหมายเรื่องเครือญาติเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร

โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า การแทรกแซงคือการเข้าไปเกี่ยวข้องกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง เป็นกระบวนการที่กระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง องค์ประกอบแทรกแซงต้องป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ การแทรกแซง คือการเข้าไปกระทำ เพื่อผลประโยชน์ตนเอง แต่การโอนย้ายครั้งนี้เห็นชัดเจนว่าเป็นการโอนย้าย เพื่อให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มาดำรงตำแหน่งผบ.ตร. แต่เมื่อพล.ต.อ.วิเชียร ยังอยู่ในตำแหน่ง ก็ต้องย้ายพล.ต.อ.วิเชียร และย้ายนายถวิล ออก ถือว่าเป็นวิธีการเตรียมการเป็นขั้นตอน เป็นการแทรกแซงทุกชั้นทกุตอน ส่วนความเป็นเครือญาติกัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นพี่ชายของพี่สะใภ้ของนายกฯ ถือเป็นเครือญาติกัน ถึงแม้จะมีการหย่าร้างกันไปแล้วระหว่างพี่ชายของนายกฯ(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และน้องสาว(คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์)ของพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ การเป็นเครือญาติจึงเป็นเรื่องที่ปรากฎขึ้นประจักแล้ว

ต่อมานายสุพจน์ ไข่มุกข์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามว่านายกฯจะได้ประโยชน์อะไรจากการย้ายนายถวิล เพื่อให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นั่งเป็นผบ.ตร. นายไพบูลย์ ได้กล่าวย้ำว่า เพื่อเป็นประโยชน์แก่เครือญาติ เพราะพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ใกล้จะเกษียรอายุ เพื่อประโยชน์ตนเอง และประโยชน์พวกพ้อง

ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซักถามว่าจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว กระบวนการโยกย้ายนายถวิล พบว่าเอกสารการแจ้งโอนจากหน่วยงานต้นสังกัด ไปยังหน่วยงานรับโอนลงวันที่ 4 ก.ย. 54 ถูกต้องไหม เป็นวันอาทิตย์ ใช่หรือไม่ และหนังสือจาเลขาธิการสำนักนายกฯแจ้งไปยังพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความเห็นชอบแจ้งไปยังวันอาทิตย์ 4 ก.ย.54 ได้ระบุว่าน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายก ในขณะนั้น ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า รัฐมนตรีสำนักนายกลงวันที่ 5 ก.ย. เป็นซึ่งตรงกับวันจันทร์ เป็นเอกสารฉบับเดียวกัน เนื้อความเดียวกัน แต่ลงวันที่ต่างกัน นายไพบูล กล่าวว่า วันที่ 4 ก.ย. 54 เป็นวันอาทิตย์ เนื่องจากมีการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 6 ก.ย. 54 อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นประเด็นความเร่งรัดอย่างผิดปกติ ไม่เป็นกระบวนการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่า เอกสารทั้ง 2 ฉบับที่มีเนื้อหาเดียวกันแต่ลงวันที่ต่างกัน

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขึ้นชี้แจงโดยขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่าตนได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายก ต้องรับผิดชอบในการบริหารประเทศ คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ ขั้นตอนการโยกย้ายยึดหลักบริหารราชการแผ่นดิน และในฐานะนายกฯ ตนได้มอบอำนาจในรองนายกฯ รัฐมนตรี ในการสั่งการ กำหนดแผนงาน บุคคลากร เพื่อรับผิดชอบผลการปฏิบัติงานที่แถลงไว้ในรัฐสภา เรื่องนี้ตนได้มอบให้พล.ต.อ.โกวิท ดูแลความมั่นคง รับผิดชอบงานในสภาความมั่นคง(สมช.) ส่วนร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้มอบหมายให้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ส่วนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้น.ส.กฤษณา รับผิดชอบ

" ดิฉันไม่ได้รับผิดชอบในเรื่องการโยกย้าย ไม่ได้แทรกแซง การทำงานต่างๆ จึงขอปฏิเสธพฤติการต่างๆ เพราะได้มอบอำนาจในการโยกย้ายให้รองนายกฯรับผิดชอบ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าแทรกแซงบริหารแต่อย่างใด ไม่มีพฤติกรรมที่วางแผนเป็นระบบเป็นตอน ไม่ได้ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม ได้ยึดถึงประโยชน์ประชาชนและประโยชน์ของประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงเครือญาติ ขอบอกว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ได้อย่าขาดกับคุณหญิงพจมาน เรียบร้อยแล้ว และการหย่าร้างก็ไม่ได้มีผลในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งพิสูจได้ว่า แม้วันนี้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะเกษียรแล้ว ก็ไม่มีชื่อพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มานั่งเป็นรัฐมนตรีแต่อย่างใด"น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวและว่า ยืนยันว่าไม่มีการเร่งโยกย้าย แต่เป็นเพราะนโยบายในด้านความมั่นคง เป็นนโยบายแเร่งด่วน ขณะเดียวกันเข้ามารับตำแหน่งก็ประสบอุทกภัย ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ปัญหายาเสพติด ความรุนแรงชายแดน จึงต้องมีคนมาดูแลรับผิดชอบ จึงมอบหมายให้รองนายกฯไปดูแล

จากนั้น นายไพบูลย์ ได้ซักถามว่าการที่นายกรัฐมนตรี อ้างว่าการเป็นรัฐมนตรีของตนสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา180 แล้ว ดังนั้นจะให้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 ไม่ได้ หมายความว่าอย่างไร และรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจะต้องรักษาการอยู่ในตำแหน่งนายกต่อไป

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ประเด็นนี้เห็นว่า ตนได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว คืนอำนาจให้ประชาชนไปแล้ว ตนจึงไม่มีสถานะเป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบันอีกแล้ว ดังนั้น การยุบสภา นายกรัฐมนตรีจึงได้พ้นจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าการบริหารราชการแผ่นดินเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต่อไป

ด้านนายจรูญ ซักถามว่าในฐานะประธานนโยบายคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ(กตช.) ได้โยกย้ายพล.ต.อ.วิเชียร ไปเป็นเลขาฯสมช. ดูความมั่นคง แต่ต่อมาทำไมถึงย้ายไปเป็นปลัดคมนาคม ใช้ดุลพินิจอะไรในการพิจารณา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของพล.ต.อ.โกวิท ในการโยกย้าย ทุกครั้งที่มีการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้มีการพูดถึงตำแหน่งข้างหน้า ตนได้ทราบล่วงหน้าว่าพล.ต.อ.โกวิท ได้ทาบทามแล้ว เนื่องจากเป็นคนคุ้นเคยกัน เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จึงอยากให้มาดูแลความมั่นคง ตามนโยบายที่แถลงไว้ในรัฐสภา และมีเรื่องความไว้วางใจด้วยในการพิจารณา เพื่อให้งานบรรลุผล ซึ่งพล.ต.อ.โกวิท บอกว่าที่ขอย้ายตำแหน่งเลขาฯสมช. เพราะนายถวิล เคยทำงานร่วมกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการที่จะให้ใครมาเป็นเลขาฯสมช. ก็ต้องพิจารณาในเรื่องความไว้วางใจด้วย ส่วนตนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องโยกย้ายแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ลงนามเสนอเข้าครม.เท่านั้น นอกจากนี้ ได้ทราบจากพล.ต.อ.โกวิท ว่าพล.ต.อ.วิเชียร ก็มีความสมัครใจในการย้ายมาเป็นเลขาสมช. ถือว่าการสมัครใจแล้ว ไม่ว่าจะขู่เข็ญอย่างไรก็คงทำไม่ได้ โดยพล.ต.อ.โกวิท ก็เคยบอกว่าเคยโดนโยกย้ายในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนำไปสู่การร้องศาลปกครองในที่สุด ส่วนการย้ายไปเป็นปลัดคมนาคม เกิดจากการทาบทามของรมว.คมนาคม ในขณะนั้น ซึ่งตนก็ให้ดุลพินิจของรมต.แต่ละท่านไปแล้ว ในการมอบหมายงาน หรือการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายบุคคล และการโยกย้ายครั้งนี้ก็เป็นการโยกย้ายตามฤดูกาล

ต่อมา นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างไรในการโยกย้ายนายถวิล และทราบเหตุผลหรือไม่ว่านายถวิลไม่ดีอย่างไร และพล.ต.อ.วิเขียร เหมาะสมอย่างไร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขั้นตอนการโยกย้ายเป็นเรื่องฝ่ายปฏิบัติที่รองนายกดำเนินการ ส่วนเหตุผลการโยกย้าย พล.ต.อ.โกวิท ชี้แจงว่าได้พิจารณาโดยดุลพินิจของท่าน บนหลักความไว้ใจ และบนหลักนโบายที่แถลงต่อสภา สรุปว่ารองนายกตั้งเรื่องมาอย่างไร คณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วยตามนั้น การบริหารราชการแผ่นดิน ผู้ที่รับมอบอำนาจาก็ให้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณาแต่งตั้ง ส่วนการโยกย้ายเป็นไปตามฤดูการ และเราเห็นว่าทุกตำแหน่งมีความสำคัญ ในปีแรกเรามี 16 นโยบาย พร้อมทั้งประสบกับปัญหาอุกภัย เราจึงต้องเร่งนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติ ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆต้องรับนโยบายไปปฏิบัติ

ต่อมานายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามว่าในฐานะนายกรัฐมนตรี ในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการระมัดระวังในการพิจารณาในเรื่องเครือญาติ ถึงแม้จะไม่ใช่นามสกุลเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน ยึดหลักปรโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ต้องในความเป็นธรรมแก่ข้าราชการทุกคน ในฐานะปธ.กตช. ที่ไม่สามารถมอบหมายให้ใครไม่ได้ ซึ่งแซกแทรกไม่ได้ การพิจารณาพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นึกถึงความอาวุโส ผลงาน ปราบปรามยาเสพติด ขณะเดียวกันนโบยบายปราปรามยาเสพติด เป็นโยบาเร่งด่วน เพราะก่อนที่จะมารับตำแหน่งก็มีปัญหายาเสพติดเข้ามามากมาย ขณะที่เสนอก็ไม่ได้มองความเป็นญาติ มองในเรื่องความเหมาะสม ผลงาน และมติกตช. ก็เห็นชอบโดยเอกฉันท์ และพล.ต.อ.วิเชียร ก็เห็นชอบด้วย

"แม้ตนจะเสนอตำแหน่งผบ.ตร. แต่ถ้าคณะกรรมการกตช. ไม่เห็นด้วย ก็ต้องตกไป เช่นเดียวกับสมัยนายอภิสิทธิ์ ที่เสนอให้พล.ต.อ.ประทีบ ตันประเสริฐ เป็นผบ.ตร. แต่คณะกรรการกตช. ไม่เห็นด้วยก็ต้องตกไป นอกจากนี้การแต่งตั้งโยกย้าย พล.อ.อักษรา เกิดผล ซึ่งเป็นลูกชายของพล.อ.สายหยุด เกิดผล ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน ตนก็พิจารณาตามความเหมาะสม ได้เห็นชอบในการเสนอพล.อ.อักษรา เป็นเสนาธิการทหารบก และเป็นเลขากอ.รม.ได้ " น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ขณะที่นายสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนายนายกรัฐมนตรี ได้สักถามว่าเหตุใดต้องเข้าประชุมกตช. ทำไมไม่มอบอำนาจให้รองนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตามระเบียบกตช. นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกตช.จะมอบหมายให้บุคคลอื่นไม่ได้ เพราะนายกในฐานะประธานกตช. ต้องเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่ดำรงตำแหน่งผบ.ตร. ให้คณะกรรมการกตช.พิจารณาเท่านั้น

จากนั้น นายถวิล กล่าวชี้แจงว่า เหตุผลที่แท้จริงในการย้ายตนออกจากตำแหน่งเรื่องมาจากสตช. เพราะก่อนที่จะมีมติครม.โอนย้ายตน มีเรื่องของสตช.โดยร.ต.อ.เฉลิม ออกมาพูดเรื่องบ่อนการพนัน ซึ่งมีความบกพร่องของพล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งดำรงตำแหน่งผบ.ตร.ที่ปล่อยให้มีบ่อนการพนัน และมีข่าวออกมาบ่อยครั้ง ห้วงปลายเดือนส.ค. 54 ว่ามีการบีบบังคับให้พล.ต.อ.วิเชียร ได้ลุกขึ้นออกจากตำแหน่ง

"พล.อ.วิเชียร เคยพูดกับผมตอนที่มีข่าวจะย้ายมาสมช. ว่าท่านไม่มาตำแหน่งที่ผมขอให้ผมสบายใจได้ ท่านใช้คำว่าพี่ถวิลสบายใจได้ ผมไม่มาสมช. ผมจะต่อสู้ที่สตช. ผมก็บอกแล้วว่าดีแล้ว ซึ่งผมไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่ใดมาก่อน " นายถวิล กล่าว

นายถวิล กล่าวต่อว่า เมื่อจะทำให้ตำแหน่งที่สตช.ว่างลง จึงต้องเอาพล.ต.อ.วิเชียรออก จึงมาลงที่ตน เหตุที่ย้ายตนออกเพื่อรองรับพล.ต.อ.วิเชียร ก่อนแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อีกทั้งรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสตช. ก็บอกชัดเจนว่าไม่ไว้ใจตน เพราะทำงานในศอฉ.ในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งตนเรียนว่าตนเป็นข้าราชการประจำ เป็นไปตามโครงสร้างตามกฎหมาย ตนต้องทำงานให้ทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่มีการเปลี่ยนย้ายตามวาระของรัฐบาล

ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า ตอนย้ายพล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาธิการสมช. คุณถวิลดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสมช. ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช่หรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า “ใช่ครับ แต่เหตุผลที่ย้ายพล.ท.สุรพลผมไม่ทราบ ท่านนายกฯย้ายผม ตอนย้ายพล.ท.สุรพลผมจำได้ว่าย้ายประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาปี 2551 ให้พล.ท.สุรพลทำงานมา 8 - 9 เดือนแล้ว ”

ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า เคยขึ้นเวทีกปปส.หลายครั้ง นายถวิล กล่าวว่า "ถูกต้อง"

ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า ตอนขึ้นเวทีกปปส.ได้บอกว่าให้มวลชนไปขัดขวางการเลือกตั้ง นายถวิล กล่าวว่า "ผมจำได้ไม่เคยพูดให้ขัดขวางการเลือกตั้ง"

ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า ในศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยอำนาจถูกผู้ร้องว่ามีอำนาจโยกย้ายได้ ยกเว้นอย่างเดียวเรื่องดุลยพินิจ นายถวิล กล่าวว่า "ศาลปกครองวินิจฉัย แต่การใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ มีข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นว่าเร่งรีบดำเนินการ การย้ายต่างหน่วยต่างกรมต้องให้ความยินยอมกันก่อน ระหว่างหน่วยที่ให้โอนและหน่วยที่รับโอน เลขาธิการนายกฯมีหนังสือลงวันที่ 4 ก.ย. 54 มีไปถึงหน่วยที่กำกับดูแลผมอยู่ ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่ามีตำแหน่งพร้อมจะรับโอน และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลได้ให้ความเห็นชอบในวันที่ 5 ก.ย. 54 ซึ่งเท่ากับว่ารัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยที่รับโอนยังไม่ได้เห็นชอบ ซึ่งไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยที่โอนและหน่วยรับโอน เป็นการปกติปิดข้อมูลบางอย่าง"

ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา การโยกย้ายข้าราชการความไว้วางใจกับความสามารถ ฝ่ายบริหารจะต้องแยกจากกัน คนที่ไว้วางใจความอยู่ในตำแหน่ง เห็นด้วยหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า “ผมไม่เห็นด้วย”

ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า พยานเบิกความทั้งหมดดูแล้วเป็นสาระสำคัญในคดี เหตุใดจึงไม่ให้การกับศาลปกครอง นายถวิล กล่าวว่า น้ำหนักของผมที่ศาลปกครองคือกรณีที่นายกฯไม่ใช้วิธีการที่กฎหมายกำหนด กระบวนการต่อสู้ของผมรับผิดชอบแค่นี้ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องสตช. ผมต่อสู้ในประเด็นของผมที่โยกย้ายไม่เป็นธรรม”

นายจรูญ ถามว่า การย้ายในกรณีดังกล่าวเห็นว่าเป็นการย้ายตามปกติของระบบราชการหรือไม่ คิดว่าเป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า “ผมไม่ทราบว่าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายหรือไม่ แต่ผมเห็นว่าเกี่ยวพันกัน เป็นการแบ่งงานกันทำ เพราะถ้าไม่เอาผมออกก็ไม่สามารถโอนพล.ต.อ.วิเชียร มาตำแหน่งผมได้ และถ้าไม่เอาพล.ต.อ.วิเชียรออกจาตำแหน่งผบ.ตร.ได้ ก็ไม่สามารถเอาพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ขึ้นเป็นผบ.ตร.ได้”

นายอุดมศักดิ์ ถามว่า ก่อนจะมีการย้ายได้มีการส่งคนมาทาบทามก่อนหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า “นายกฯให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าจะหาทางคุยกับผมก่อนวันที่ 6 ก.ย.54 โดยนายกฯได้มอบหมายให้พล.ต.อ.โกวิท มาคุยกับผม ซึ่งพล.ต.อ.โกวิทแจ้งว่านายกฯ ถามผมว่าผมจะขัดข้องหรือไม่ ผมพิจารณาด้วยความถี่ถ้วนทุกอย่าง ผมจึงบอกไปด้วยความเกรงใจว่าจะขอต่อสู้ตามกฎหมาย ”

นายจรัญ ถามว่า วันที่ 4 ก.ย.54 เป็นวันอาทิตย์หรือวันทำการอะไร นายถวิล กล่าวว่า “วันที่ 4 ก.ย.54 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการตามปกติ”

นายจรัญ ถามว่า ในบันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 4 ก.ย. 54 ซึ่งระบุว่าน.ส.กฤษณา สีหะลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยินยอมให้รับโอนแล้ว นายถวิล กล่าวว่า “หนังสือจากพล.ต.อ.โกวิท แจ้งว่าน.ส.กฤษณาเห็นชอบพร้อมรับโอนแล้ว แต่มีหนังสือลงวันที่ 5 ก.ย. 54 ของน.ส.กฤษณาว่าเห็นชอบการรับโอน ผมเห็นว่าถ้าพิจารณาให้ดีแล้วการโอนย้ายต้องให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 หน่วย ก็เห็นว่ามันไม่สอดคล้องกัน เพียงแต่ว่าเรื่องนี้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้เห็นเป็นสาระสำคัญของการโอน ”

นายจรัญ ถามว่า พยานผ่านงานระดับสูงมาแล้ว เห็นว่าการลงวันที่ไม่เหมือนกัน เพราะเหตุใดจึงมีความแตกต่างกัน และต้องมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นของปลอม นายถวิล กล่าวว่า "ผมคิดว่ามีการแก้ไขวันที่ ผมถ่ายเอกสารที่อยู่ในมือผมตั้งแต่ต้น ผมเห็นว่าหนังสือมีความลักลั่น"

นายเฉลิมพล เอกอุรุ ถามว่า งานที่ปรึกษานายกฯ ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า "ผมทำหน้าที่เอกสารอย่างเดียว เป็นเรื่องที่น่าจะต่ำกว่าความรู้ความสามารถที่ผมมีอยู่ อย่างไรตาม มองว่า ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นเพียงตำแหน่งที่ทำให้การโอนย้ายปลัดกระทรวงสะดวกขึ้นเท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด "

นายทวีเกรียติ ถามว่า ตอนย้ายพล.ท.สุรพล สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ใช้ขั้นตอนเร็วหรือช้า นายถวิล กล่าวว่า "ส่วนใหญ่การทำงานในสมช.มีการเลือกกันเองในกอง แต่พล.ท.สุรพลได้โอนย้ายจากทหารมาเป็นรองเลขาธิการสมช.ในปี 2548 รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ และได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการสมช.ในรัฐบาลสมัคร ก่อนมาพ้นตำแหน่งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ได้ย้ายทันที แต่ได้ทำงานมา 7- 8 เดือน และพล.ท.สุรพลไม่ได้ฟ้องต่อศาล "

ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวชี้แจงว่า เรื่องการโยกย้ายสืบเนื่องจากความเสียใจ ที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง ว่า ตำรวจคุมบ่อนคุมซ่อง ซึ่งเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชน ซึ่งเมื่อถูกตำหนิติเตียน ก็ได้มาปรึกษาพล.ต.อ.โกวิท บอกว่าไม่สามารถทำงานกับผู้บังคับบัญชาแบบนี้ได้แล้ว แต่ว่าจะย้ายให้ตนไปไหนก็ได้ ซึ่งพล.ต.อ.โกวิทก็บอกว่า จะย้ายไปเป็นเลขาฯสมช. ซึ่งตนยืนยันว่าเป็นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ต่อรอง แต่อย่างใด ส่วนนายกรัฐมนตรี ก็ไม่เคยทาบาทม ไม่เคยยื่นเงื่อนไข และไม่เคยแทรกแซงการโยกย้ายแต่อย่างใด

นายไพบูลย์ ได้ขึ้นซักถามว่าก่อนที่จะย้ายมาเป็นเลขาฯสมช. ทราบหรือไม่ว่ามีการเสนอชื่อพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มาเป็นผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ตนไม่ทราบมาก่อน เพราะการแต่งตั้งผบ.ตร. ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน้าที่นายกฯที่จะเห็นว่าใครเหมาะสม ในการเสนอชื่อให้เป็นผบ.ตร. ตนไม่ยึดติดตำแหน่ง แต่เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ก็พร้อมทำเต็มที่ ตนตั้งใจจริงที่จะเกษียณในตำแหน่งหัวหน้าตำรวจพระราชสำนัก ซึ่งตนไม่ได้ยึดกับตำแหน่ง แต่ตั้งใจจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนจะไปอยู่ตำแหน่งไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา

นายไพบูลย์ ซักต่อว่า การที่ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผู้บังคับบัญชาต่อว่าเป็นการข่มขู่คุกคามหรือไม่ และต่อมายังถูกย้ายไปในตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการคุกคาม แต่ตนสมัครใจเอง การที่ร.ต.อ.เฉลิมตำหนิการทำงาน ไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจการโยกย้ายตำแหน่ง เพราะตนตัดสินใจด้วยตนเอง ไม่ได้ถูกข่มขู่คุกคาม และเมื่อย้ายไปเป็นเลขาฯสมช. ถือเป็นคณะกรรมกตร.โดยตำแหน่ง และได้เห็นชอบพล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ เป็นผบ.ตร.

นายไพบูลย์ ซักต่อว่าเคยพูดคุยกับนายถวิล ก่อนโยกย้ายหรือไม่ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวชี้แจงว่า ตนเคยพูดคุยกับนายถวิล เคยคุ้นเคยกัน เนื่องจากเคยเรียนที่สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ด้วยกัน แต่ก่อนการโยกย้ายไม่ได้มีการปรึกษาในเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อโยกย้ายมาแล้ว ก็ไม่เคยพูดคุยกัน ซึ่งตนก็เสียใจที่ทำให้นายถวิลเดือดร้อน แม้จะตนจะมีอายุมากกว่า แต่เมื่อเจอหน้ากันก็ได้ยกมือไหว้และขอโทษที่ทำให้เดือดร้อน

จากนั้น เมื่อเวลา 13.45 น. นายจรูญ ได้สั่งพักการประชุม 10 นาที ก่อนที่ในเวลา 14.05 น. ตุลากรศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนังบัลลังก์อีกครั้ง โดยนายจรูญ ได้อ่านกระบวนการวิธีพิจารณา โดยระบุว่ากรณีที่ผู้ถูกร้องขอให้สอบพยานเพิ่มพยาน ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายนพดล เฮงเจริญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ นายสมชัย วัฒนการุณ และนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ขอยื่นแถลงปิดคดีซึ่งศาลไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานครบถ้วนและกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอนัดคำฟังวินิจฉัยในวันที่ 7 พ.ค.เวลา 12.00 น.