ชี้คำตัดสินศาลรธน.ผิดทั้งกระบวนการ-เนื้อหา

ชี้คำตัดสินศาลรธน.ผิดทั้งกระบวนการ-เนื้อหา

นักกฎหมายอิสระชี้คำตัดสินศาลรธน.ให้การเลือกตั้งโมฆะ ผิดทั้งกระบวนการ-เนื้อหา เจตนาทำรธน.ปี50โมฆะไปด้วย

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะนั้น ส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเป็นโมฆะไปด้วย เนื่องจากสิ่งที่ศาลรัฐธรรมูญวินิจฉัยเหตุแห่งการโมฆะ เพราะการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร โดย ทั้งที่ประเด็นการออก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง รอบที่ 2 ในพื้นที่ 28 เขตนั้นถือเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าวันเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้ และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรค6 ได้กำหนดชัดเจนว่ากรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 480 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาฯ แต่ต้องดำเนินการให้มี ส.ส. ครบตามจำนวนที่บัญญัติภายใน 180 วัน จึงถือว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ที่ไม่สส.เพื่อให้ประกอบเป็นสภาฯ ที่ครบจำนวนตามหลักเกณฑ์

"ผมมองว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้การตัดสินที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งในแง่กระบวนการและเนื้อหา อย่างไรก็ตามเหตุที่ศาลไม่นำเหตุแห่งการขัดขวางการเลือกตั้งมาพิจารณาเป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งจำนวน 28 เขต มากล่าวนั้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยให้การรับรองว่าการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ทำได้ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยจึงถือเป็นการพูดขัดกันเองและอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ" นายวีรพัฒน์ กล่าว

นักกฎหมายอิสระ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งหลังจากนี้ตนมองว่าอาจจะเกิดความไม่สงบขึ้นได้ ยกเว้นเปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรองบนเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งเดินหน้า และอาจจะเป็นการเรียกร้องที่เป็นการเรียกค่าไถ่ทางการเมือง เช่น ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกและไม่ลงรับเลือกตั้ง, ให้กลุ่มกปปส. ยุติการขัดขวางการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเรียบร้อย แต่ตนมองว่ากรณีการเรียกร้องให้รักษาการนายกฯ ลาออกและไม่ลงเลือกตั้งจะไม่ใช่ทางออกของปัญหาความไม่สงบบ้านเมือง เพราะเชื่อว่าคนที่สนับสนุนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม ส่วนกรณีที่ กปปส.ยุติการขัดขวางการเลือกตั้งอาจจะเป็นไปได้ แต่อาจมีเงื่อนไขอื่น เช่น ให้รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาอยู่เพียง 6 เดือน-1ปีเพื่อทำปฏิรูปกติกาการเลือกตั้ง แล้วยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาใหม่