กกต.ตอบ 3 ปมลักษณะต้องห้ามสมัคร สว. เป็นตัวแทน-สมาชิกพรรคได้หรือไม่

กกต.ตอบ 3 ปมลักษณะต้องห้ามสมัคร สว. เป็นตัวแทน-สมาชิกพรรคได้หรือไม่

สังคมถาม กกต.ตอบ! 3 ประเด็นสมัครรับเลือก สว. 67 ถ้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ต้องลาออกเมื่อไหร่ เป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัดสมัครได้หรือไม่ นั่งเป็นกรรมการชุมชน เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่า

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบข้อหารือลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 3 ประเด็น ดังนี้

1. กรณีเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ออกจากการเป็นสมาชิกกี่วัน

2. กรณีบุคคลดำรงตำแหน่งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่

3. กรณีบุคคลดำรงตำแหน่งคณะกรรมการชุมชน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยคณะกรรมการชุมชน พ.ศ. 2565 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่สอง พ.ศ.2566 ข้อ 16 และ ข้อ 18 วรรคสอง ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ถ้าไม่ ต้องลาออกในวันรับสมัครหรือไม่ และกี่วัน

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้

1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 14 (21) กำหนดว่า ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ดังนั้น หากปรากฎข้อเท็จจริงว่า ในวันสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา บุคคลซึ่งสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ย่อมถือว่าบุคคลนั้นไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครตามมาตรา 14 (21) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 กำหนดคำนิยามคำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ซึ่งหมายความว่า (1) นายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรี (3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (4) สมาชิกวุฒิสภา (5) ข้าราชการการเมืองอื่น นอกจาก (1) และ (2) ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง (6) ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา กรณีตามข้อหารือเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงเทียบเคียงจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

3. ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2543สรุปลักษณะของ "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ไว้ โดยเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมายรวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำโดยอยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของรัฐและมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย ดังนั้น บุคคลใดจะมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ต้องพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ ควรหารือไปยังหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อวินิจฉัยว่าตำแหน่งคณะกรรมการชุมชนอยู่ในความหมายของคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" ตามแนวคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นหรือไม่

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567