‘เคเอ็นยู’ ใต้เงาอินทรี ศึก‘เมียวดี’ ลึกล้ำกว่าที่เห็น

‘เคเอ็นยู’ ใต้เงาอินทรี  ศึก‘เมียวดี’ ลึกล้ำกว่าที่เห็น

"เมียวดี" ประตูการค้าไทย-เมียนมา ที่ตั้งของธุรกิจสีเทา จับตาอนาคตเมื่อพี่ใหญ่จีนหนุนกองทัพเมียนมา ขณะที่สหรัฐให้การช่วยเหลือกลุ่มKNLA ฉากทัศน์สงครามตัวแทนริมน้ำเมย เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ขณะที่ไทยประมาทไม่ได้

KEY

POINTS

  • เมืองเมียวดี ประตูการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของไทย-เมียนมา และเป็นที่ตั้งของธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะอาชญากรรมไซเบอร์ของกลุ่มคนจีนหรือทุนจีนสีเทา
  • สหรัฐให้การช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNLA สายแข็ง ฉากทัศน์สงครามตัวแทนริมน้ำเมย เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไทยเราก็ประมาทไม่ได้

"เมียวดี" ประตูการค้าไทย-เมียนมา ที่ตั้งของธุรกิจสีเทา จับตาอนาคตเมื่อพี่ใหญ่จีนหนุนกองทัพเมียนมา ขณะที่สหรัฐให้การช่วยเหลือกลุ่มKNLA ฉากทัศน์สงครามตัวแทนริมน้ำเมย เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ขณะที่ไทยประมาทไม่ได้

สงครามชิงเมืองเมียวดี ยกแรกนี้ กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำ ฐานทหารใน จ.เมียวดี ถูกกองกำลังผสมกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน(PDF) ตีแตกทุกฐาน

พูดง่ายๆ วันนี้ เมืองเมียวดี ตกอยู่ในกำมือของกองทัพชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หลายคนไม่คาดคิดว่า เหตุใดกองทัพเมียนมา จึงแตกพ่ายแบบง่ายดาย

มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ ช่วงต้นเดือน มี.ค.2567 ทางการจีน ได้ส่งเครื่องบินพลเรือนมายังสนามบินแม่สอด จ.ตาก เพื่อรับชาวจีน 997 คน ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และกลุ่มทุนจีนสีเทา กลับไปสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายจีน

ปฏิบัติกวาดล้างแก๊งสแกมเมอร์ในเมียวดี ก็คือละครฉากหนึ่งของหม่องชิดตู่ หรือ พ.อ.ซอ ชิดตู่ ผู้นำกะเหรี่ยง KNA (กะเหรี่ยง BGF เดิม) เพื่อลดแรงกดดันจากพี่ใหญ่จีน เนื่องจากหม่องชิดตู่ ทำงานรับใช้ทหารเมียนมา มานานกว่า 30 ปี จึงหลีกเลี่ยงใบสั่งพี่ใหญ่จีนไม่ได้

ปัจจุบัน หม่องชิดตู่เลือกที่จะรักษาหม้อข้าวตัวเอง จึงฉวยโอกาสร่วมมือกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) เปิดปฏิบัติการยึดเมียวดี

ถ้ายังจำได้ ช่วงปลายปีที่แล้ว ทางการจีนสนับสนุนกองทัพชาติพันธุ์ในรัฐฉานเหนือ กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเปิดยุทธการ 1027 จนยึดเมืองได้หลายแห่ง

ที่สำคัญ ทลายเครือข่ายอาชญากรรมไซเบอร์ในเมืองเล้าก์ก่าย เขตปกครองโกก้าง และจีนเสนอโมเดลนี้ให้หม่องชิดตู่ จัดการแก๊งสแกมเมอร์ในเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ และเมืองใหม่เคเคพาร์ค

จุดนี้เองที่หม่องชิดตู่ หนีห่างทหารเมียนมา และหันไปเจรจาคืนดีกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)

จะว่าไปแล้ว ในบรรดากองทัพชาติพันธุ์ ที่มีฐานที่มั่นอยู่ตามชายขอบประเทศเมียนมา มากกว่า 20 กลุ่ม และส่วนใหญ่ได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ

กองทัพชาติพันธุ์ในรัฐฉาน ส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดจีน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพโกก้าง กองทัพตะอาง กองทัพสหรัฐว้า ฯลฯ 

1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการบุกยึดเมียวดี โดยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) มีข่าวว่า ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐ ได้พบปะตัวแทน 4 องค์กรการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์

‘เคเอ็นยู’ ใต้เงาอินทรี  ศึก‘เมียวดี’ ลึกล้ำกว่าที่เห็น

( เดเร็ค ชอลเล็ต ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา) 

วันที่ 29 มี.ค.2567 เดเร็ค ชอลเล็ต ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชี X (ทวิตเตอร์) ระบุว่า เขาเพิ่งได้พบกับตัวแทนกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ซึ่งเขาเรียกว่า K3C เพื่อหารือถึงความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ ในการสร้างสหภาพบนพื้นฐานของประชาธิปไตยและสหพันธรัฐขึ้นในเมียนมา 

การสร้างสหพันธุ์รัฐ บนแผ่นดินเมียนมา เป็นความฝันของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เหล่านี้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

  • กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) ขององค์กรอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) 
  • กองทัพกะเรนนี (KA) กองกำลังของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) 
  • กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) 
  • กองทัพแห่งชาติชิน (CNA) ของแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)

‘เคเอ็นยู’ ใต้เงาอินทรี  ศึก‘เมียวดี’ ลึกล้ำกว่าที่เห็น

(พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหาร KNLA)

เฉพาะภายใน KNU พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNLA) เป็นผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางขอรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ

พล.ท.บอจ่อแฮ ไม่ไว้ใจการร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา เรียกร้องให้เมียนมาเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ปัจจุบัน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) มี ซอ กวยทูวิน เป็นประธานKNU คนที่ 10 สืบต่อจาก พล.อ.มูตูเซโพ ที่มีอายุกว่า 90 ปี และมีปัญหาสุขภาพ

ปี 2557 KNU เจรจาแบบทวิภาคีกับรัฐบาลทหารเมียนมา และนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ

หลังการรัฐประหารปี 2564 โดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ทำให้ พล.ท.บอจ่อแฮ ปฏิเสธแนวทางการเจรจาและหยุดยิงกับทหารเมียนมา

ผู้นำทางทหารของ KNLA หลายกองพล เริ่มไม่ไว้ใจ พล.อ.มูตูเซโพ ผู้ริเริ่มให้มีการเจรจากับทหารเมียนมา ตั้งแต่สมัยเต็งเส่ง ในที่สุด สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ก็มีการเปลี่ยนตัวผู้นำ จากมูตูเซโพเป็นซอ กวยทูวิน ผู้ควบคุมดูแลกองพลที่ 6 KNLA

‘เคเอ็นยู’ ใต้เงาอินทรี  ศึก‘เมียวดี’ ลึกล้ำกว่าที่เห็น

(ซอ กวยทูวิน ประธาน KNU) 

ดังนั้น กำลังหลักของทหารกะเหรี่ยงในการโจมตีเมืองเมียวดี จึงเป็นทหารกองพลที่ 6 KNLA สมทบด้วยทหารหน่วยรบพิเศษจากสภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) ,กะเหรี่ยงพุทธ(DKBA) และกองกำลัง PDF

เมืองเมียวดี ประตูการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของไทย-เมียนมา และเป็นที่ตั้งของธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะอาชญากรรมไซเบอร์ของกลุ่มคนจีนหรือทุนจีนสีเทา

ปัจจุบัน พ.อ.ซอชิดตู่ หรือหม่องชิดตู่ เป็นผู้บัญชาการรับผิดชอบพื้นที่เมืองเมียวดี รวมถึงเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่ และเคเคพาร์ค

แม้ในศึกยึดเมียวดี หม่องชิดตู่ ได้สั่งถอนกำลังทหาร KNA และเปิดทางให้ทหาร KNLA รุกตีทหารเมียนมา แต่ผู้นำ KNU บางปีกยังระแวงหม่องชิดตู่

ศึกเมียวดีในอนาคต อาจรุนแรงกว่านี้ เมื่อพี่ใหญ่จีนหนุนกองทัพเมียนมา ยึดคืนหัวเมืองชายแดน ปราบทุนจีนสีเทาในเมืองใหม่ชเวโก๊กโก่-เคเคพาร์ค

ขณะที่สหรัฐให้การช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง KNLA สายแข็ง ฉากทัศน์สงครามตัวแทนริมน้ำเมย เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไทยเราก็ประมาทไม่ได้