แผน ‘คณะก้าวหน้า’ รณรงค์ ‘เสียงอิสระ’ โหวต สว.สกัดขา ‘อำนาจเก่า’ 

แผน ‘คณะก้าวหน้า’ รณรงค์ ‘เสียงอิสระ’ โหวต สว.สกัดขา ‘อำนาจเก่า’ 

“...สนามนี้ถามว่าชอบไหม ไม่ชอบ เราบอกเลยว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ ทำรอบนี้ ไม่มีแพ้ มีแค่เสมอตัว ไม่ก็ชนะ แต่ถ้าทำแล้วได้ขึ้นมา ก็มีแต่ได้ เป็นแคมเปญหนึ่ง ไม่งั้นก็จะเป็น สว.บ้านใหญ่ สว.ลากตั้ง...”

KEY

POINTS

  • ชำแหละแผน “คณะก้าวหน้า” เปิดแคมเปญ “เสียงอิสระ” โหวต สว.ชุดใหม่ สกัดขา “ขั้วอำนาจเก่า” ไม่ให้กลับมา
  • ปัดข่าวหนุนกลุ่มไหน ทำตามกฎหมายของ กกต.ทุกประการ ไม่จำกัดแนวคิด-อุดมการณ์ประชาชน ขอแค่ให้รู้ความสำคัญของ สว.ว่าจำเป็นแค่ไหนสำหรับการเมืองไทย
  • “ธนาธร” ชู 2 ธงนำ ลุยแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่-ให้ความเห็นชอบบุคคลนั่งองค์กรอิสระอย่าง “เป็นกลาง” เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง
  • ถ้า สว.จากเสียงอิสระได้เข้าสภาฯ เชื่อว่าจะเป็นการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย ฟื้นวิกฤติศรัทธาจากประชาชนกลับมาได้

“...สนามนี้ถามว่าชอบไหม ไม่ชอบ เราบอกเลยว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ ทำรอบนี้ ไม่มีแพ้ มีแค่เสมอตัว ไม่ก็ชนะ แต่ถ้าทำแล้วได้ขึ้นมา ก็มีแต่ได้ เป็นแคมเปญหนึ่ง ไม่งั้นก็จะเป็น สว.บ้านใหญ่ สว.ลากตั้ง...”

นับถอยหลังอีกราว 1 เดือนเศษ สว.ชุดปัจจุบัน ที่มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “250 สว.” กำลังจะหมดอำนาจลงในวันที่ 10 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการ “เลือก สว.” หากอิงตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าการเลือก สว.ครั้งนี้จะมีผู้สมัครราว 2-3 แสนคน

โดยไทม์ไลน์การเลือก สว.ชุดใหม่ หลัง สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระ 10 พ.ค. 2567 หลังจากนั้นรอ พ.ร.ฎ.เลือก สว. ภายใน 15 วัน (ไม่เกิน 25 พ.ค. 2567) ก่อนที่จะเปิดรับผู้สมัคร สว. ภายใน 5 วัน (25-30 พ.ค. 2567) ประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. ภายใน 5 วัน (31 พ.ค.-4 มิ.ย. 2567) ต่อมาอีกไม่เกิน 20 วัน (ไม่เกิน 24 มิ.ย. 2567) จัดการเลือกระดับอำเภอ ต่อมาอีกไม่เกิน 7 วัน (ไม่เกิน 1 ก.ค. 2567) จัดการเลือกระดับจังหวัด หลังจากนั้นอีกไม่เกิน 10 วัน (ไม่เกิน 11 ก.ค. 2567) จัดการเลือกระดับประเทศ โดย กกต.คาดว่าจะรู้ผลภายใน ก.ค. 2567

ดังนั้นในช่วงเวลานี้มีการปล่อยข่าวออกมาว่า “พรรคการเมือง-บ้านใหญ่” หลายแห่งเริ่มเคลื่อนไหว จัดตั้ง-เตรียมคน เข้าไปสมัครเพื่อโหวตคนของตัวเอง เข้าไปนั่งในสภาฯ แม้ว่า กกต.จะออกมาย้ำเตือนหลายครั้งว่า พรรคการเมือง หรือองค์กรอื่น ๆ ไม่มีสามารถสนับสนุนการเลือก สว.ได้ หากตรวจสอบพบ จะตัดชื่อคนนั้นออกจากสารบบทันที แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็ยังคงมีอยู่ หลังฉากอย่างต่อเนื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สว.ถือเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” ของอำนาจ “นิติบัญญัติ” การเมืองไทย โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบและผ่านร่างกฎหมายใหม่ หรือร่างแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ จาก สส. การตรวจสอบผลงานของรัฐบาล หรือแม้แต่การเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจ มีความเคลื่อนไหวจาก “คณะก้าวหน้า” นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-พรรณิการ์ วานิช” เริ่มเดินสายรณรงค์ “เสียงโหวตอิสระ” เพื่อเข้าไปเลือก สว. โดยหวังให้ สว.ชุดใหม่ หรือ “สว.67” มาด้วยความอิสระ ไม่ถูกพรรคหรือ “บ้านใหญ่” ครอบงำ เพื่อเข้าไปทำงานในสภาฯ ฟื้นฟูประชาธิปไตย ฟื้นศรัทธาจากประชาชน โดยที่ “คณะก้าวหน้า” จะไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสนับสนุนผู้สมัครใด ๆ เลยแม้แต่นิดเดียว

ธนาธร เล่าเบื้องหลังแนวคิดแคมเปญเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันกฎการเลือก สว.ค่อนข้างหยุมหยิม และมีความซับซ้อนอย่างมาก ดังนั้นเราจะหาคนที่มี “คุณภาพ” เข้าไปดำรงตำแหน่ง สว.อย่างอิสระ เพื่อผลักดันวาระกลุ่มวิชาชีพนั้น ๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากนี้ที่สำคัญ สว.ชุดต่อไปทำไมต้องเป็น “อิสระ” เนื่องจากมีความจำเป็น 2 ประการคือ 1.การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ สว.หรือประมาณ 70 คน 2.การให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย มีผลต่อความศรัทธาของประชาชนต่อระบบการเมือง และองค์กรยุติธรรม

“ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลชุดก่อน ๆ หรือยุคคนเสื้อแดง มันมีวาทกรรม 2 มาตรฐานเสมอ ดังนั้นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทั้งหมด ต้องกลับเข้ามาสู่ที่ทางประชาธิปไตย ฟื้นฟูวิกฤติศรัทธาจากประชาชน คนที่ทำได้มีแค่ สว.” ธนาธร กล่าว

แผน ‘คณะก้าวหน้า’ รณรงค์ ‘เสียงอิสระ’ โหวต สว.สกัดขา ‘อำนาจเก่า’ 

ธนาธร อธิบายความสำคัญของ สว.ชุดใหม่ หรือที่เขาใช้คำว่า “สว.67” เพราะหลังจากนี้ 7 ใน 9 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ใน 7 ของคณะกรรมการ กกต. และ 5 ใน 9 ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะถูกให้ความเห็นชอบโดย สว.67 ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่องค์กรอิสระที่มาจากพรรคก้าวไกล หรือตัดสินเข้าข้างคณะก้าวหน้า เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ประเทศพังอีก แต่เราอยากได้องค์กรอิสระที่ “เป็นกลาง” เพราะถ้าองค์กรเหล่านี้เป็นกลางเมื่อไหร่คือ “แฟร์เพลย์” ทำให้คนกลับมาใช้กลไกปกติในการทำงานมากขึ้น

ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะถ้าต้องการโละทิ้ง “ระบอบประยุทธ์” ซึ่งเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ทิ้ง คำถามคือถ้าเรามีแต่ สว.ในระบบเดิม ร่างรัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้าทางวาระประชาธิปไตยจะถูกยกออก เช่น ถ้าคุณไม่ยอมแก้ หรือตัดทอนมาตราพวกนี้ คุณไม่เปลี่ยนคำพูดในบทบัญญัติเหล่านี้ เรา (สว.) ไม่ให้ผ่านนะ เป็นต้น ทำให้เกิดแรงต่อรอง หรือต่อรองไม่ได้ ก็โหวตไม่ผ่าน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราต้องสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตย โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้ามากขึ้น 

ด้วยเหตุผล 2 ส่วนนี้จึงมองว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ ส่งผลต่ออนาคตของประเทศ เลยคิดว่ามีวิธีเดียวที่จะ “บล็อกโหวต” ฝ่ายขั้วอำนาจเก่าได้ คือการรณรงค์ให้เสียงอิสระมาจากประชาชน เข้าไปสมัคร หรือไปโหวต สว. ให้มากกว่า สว. “ฝ่ายจัดตั้ง” เราจะมีโอกาสได้ สว.คุณภาพเข้าสภาฯ 

ธนาธร ระบุชัดเจนว่า “คณะก้าวหน้า” และเครือข่าย ไม่ได้สนับสนุนบุคคลหรือทีมใดที่ลงสมัครรับเลือก สว.ในครั้งนี้ ทุกอย่างที่ทำเป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่า “คณะก้าวหน้า” ร่วมกับ “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” หรือ “ไอลอว์” ได้หารือกันเพื่อสกัด สว.ฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยจะเฟ้นหาผู้สมัคร สว.ใหม่ราว 100 คนทั่วประเทศ เพื่อชิงเก้าอี้สภาสูง

ธนาธร ยืนยันว่า คณะก้าวหน้าทำเพียงแค่ “รณรงค์” ให้ประชาชนทราบว่าความสำคัญของ สว.เป็นอย่างไร ทำไมถึงจำเป็นต้องมี “เสียงอิสระ” ซึ่งคนที่สนใจจะไปสมัครเพื่อต้องการเป็นเอง หรือสมัครเพื่อจะไปโหวตให้คนที่ชอบ หรือสมัครไปสังเกตการณ์ เป็นเรื่องของประชาชนทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องมีแนวคิดเดียวกับพวกเรา หรือที่สังคมบางกลุ่มเรียกว่า “แนวคิดสีส้ม” แต่อย่างใด จะมีแนวคิดหรืออุดมการณ์แบบไหนได้ทั้งหมด ขอแค่เป็น “เสียงอิสระ”

แต่ปัญหาประการสำคัญของ “เสียงอิสระ” ในครั้งนี้คือ การจะเข้าไปโหวตเลือก สว.ได้ จะต้องยื่นสมัคร สว.กับ กกต.ก่อน จึงต้องตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และเสียเงินค่าสมัคร 2,500 บาท จุดนี้ถือเป็น “จุดอ่อน” ในการชิงธงนำ “เสียงอิสระ” หากเทียบกับ “ฝ่ายจัดตั้ง” ดังนั้น “ธนาธร” เชื่อว่าในการเลือก สว.ครั้งนี้มี 2 ทฤษฎีคือ 1.คนสมัครจะล้น 2.ไม่มีคนสมัครเลย 

“สนามนี้ถามว่าชอบไหม ไม่ชอบ เราบอกเลยว่าไม่เห็นด้วย แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ ทำรอบนี้ ไม่มีแพ้ มีแค่เสมอตัว ไม่ก็ชนะ แต่ถ้าทำแล้วได้ขึ้นมา ก็มีแต่ได้ เป็นแคมเปญหนึ่ง ไม่งั้นก็จะเป็น สว.บ้านใหญ่ สว.ลากตั้ง แต่ถ้าเราทำสำเร็จให้มี สว.จากเสียงอิสระ คนมีความรู้ความสามารถปกปักรักษาฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้ซัก 20-40% พวกนี้มีผล เราผลักดันได้เท่าไหร่ยิ่งมีผล คนที่เดินไปสมัครเฉย ๆ แล้วตั้งใจว่า ฉันดีเด่นดัง ไม่มีทางเข้าถึง 200 คนสุดท้ายแน่นอน เพราะการเลือก สว.67 สำคัญต่ออนาคตของประเทศ ไม่ใช่แค่เลือกตั้ง สส.ที่ไปเลือกรัฐบาล แต่นี่อยู่ระดับลึกซึ้งกว่านั้นเยอะ หลายคนมองไม่เห็น เพราะบทบาท สว.ที่ผ่านมาอาจไม่ยึดโยงประชาชน” ธนาธร กล่าว

สำหรับแคมเปญรณรงค์เลือก สว.ด้วย “เสียงอิสระ” ของคณะก้าวหน้า “ธนาธร” บอกว่า เตรียมเปิดตัวราว 22-23 เม.ย. หลังสงกรานต์ รอให้อุณหภูมิทางการเมืองคลี่คลายภายหลังเทศกาลใหญ่เสียก่อน 

“ให้ตัวแห้งนิดนึง” เขากล่าวติดตลก

ส่วนแคมเปญนี้ จะได้การตอบรับจากภาคประชาชนมากน้อยแค่ไหน “เสียงอิสระ” จะถึงฝั่งฝันหรือไม่ ต้องรอดูกัน
////