โชว์ 6 ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.ถึง ครม.แก้ปัญหาทุจริต 'รถบรรทุกน้ำหนักเกิน'

โชว์ 6 ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช.ถึง ครม.แก้ปัญหาทุจริต 'รถบรรทุกน้ำหนักเกิน'

ป.ป.ช.โชว์มติที่ประชุมใหญ่ ชง 6 ข้อเสนอแนะป้องกันทุจริต 'รถบรรทุกน้ำหนักเกิน' ถึง ครม. ออกมาตรการให้รถมีใบชั่งน้ำหนักตั้งแต่ต้นทาง ออกกลไกกำกับดูแล จนท.รัฐ ป้องละเว้นปฏิบัติหน้าที่

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข้อมูล กรณีมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวทางหน้าสื่อในช่องทางต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดส่งผลให้ถนนเกิดการทรุดตัวและรถตกลงไปในหลุม

การกระทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมตามมาอีกมากมาย และปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดของผู้ประกอบกิจการรถบรรทุก ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนที่เสียหายและหมดอายุการใช้งานก่อนเวลาที่ได้ออกแบบไว้ ทั้งยังเป็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติภัยบนท้องถนนและเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีบำรุงรักษาทางหลวง

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. จะมีการเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 และได้มีการติดตามมาตรการดังกล่าวมาโดยตลอด แต่รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ยังปรากฏเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และพบว่ามีการเสนอข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ว่ามีพฤติการณ์ละเลยต่อหน้าที่ ในการอนุญาตให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินสัญจรได้

ด้วยสาเหตุข้างต้น ส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินให้กระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการแก้ไขปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป้นรูปธรรมโดยเร็วและให้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีด้วย โดยข้อเสนอแนะมีรายละเอียด ดังนี้

1. บังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการควบคุมกำกับดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ

3. จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย

4. ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนัก ที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วยพร้อมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิดด้วย

5. ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ

6. เพิ่มมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องเป็นธรรม โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

จากปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบในภาพรวมโดยรัฐบาลต้องนำงบประมาณมาซ่อมแซมถนนที่ชำรุดเสียหายจากการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินมาวิ่งบนถนนที่ไม่ได้รองรับน้ำหนักดังกล่าว ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเป็นหูเป็นตาและช่วยกันสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต เราจะต้องไม่มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติในสังคม โดยการบูรณาการและเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต