ถกงบวาระ2 ก้าวไกลชำแหละ'ศูนย์เฟกนิวส์'ลวง- พท.ข้องใจประเคนงบ 'กรมอุทยานฯ'

ถกงบวาระ2  ก้าวไกลชำแหละ'ศูนย์เฟกนิวส์'ลวง- พท.ข้องใจประเคนงบ 'กรมอุทยานฯ'

ไฮไลท์ถกงบวาระ2 วันที่2 เปิดฉากกระทรวงดีอีเอส "ปกรณ์วุฒิ" "ล็อกเป้าศูนย์เฟกนิวส์ อั "ไม่เป็นกลาง-เครื่องมือรัฐบาล" ตามด้วยงบกระทรวงทส. เพื่อไทย ข้องใจประเคนงบ "กรมอุทยานฯ"

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระ 2-3 เป็นวันที่2  เริ่มต้นที่การพิจารณา ในมาตรา 16 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ไฮไลท์สำคัญอาทิ อาทิ  นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ตนเสนอตัดงบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งโครงการ จำนวน 69 ล้านบาท ทั้งนี้นังตั้งแต่ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐมนตรีคนใหม่เข้าดำรงตำแหน่ง เดือนดังกล่าวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมต้องคัดกรองข้อความราว 5.4 ล้านข้อความ แต่พบข้อความที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบ 539 เรื่อง ซึ่งจะถูกส่งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สุดท้ายได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงาน 356 เรื่อง และมีเรื่องที่สามารถเผยแพร่ได้เพียง 235 เรื่อง

อัดศูนย์เฟกนิวส์ "ไม่เป็นกลาง-เครื่องมือรัฐบาล"

 ทั้งนี้มีข้อสงสัยเหตุใดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอเลือกตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น   ทั้งนี้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมยังแบ่งกลุ่มข่าวที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.หน่วยงานไม่สามารถชี้แจงได้ 2.หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ 3. หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่ โดยเฉพาะในกลุ่มข่าวที่ไม่ประสงค์เผยแพร่ยังระบุเหตุผลไว้ชัดเจน โดยเฉพาะข่าวครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 ล้านบาท หรือข่าวทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณในการจัดซื้อยางรถยนต์แปดเส้น  3.4 ล้านบาท จากการตรวจสอบกับกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวจริง  แต่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล

ตลอด 4 ปี 5 เดือน การส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานราชการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการตรวจสอบแต่เป็นการขออนุญาตเผยแพร่ข้อมูล   ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่มีความเป็นอิสระ และเป็นแค่เครื่องมือของรัฐเพียงเท่านั้น 
 

กมธ.แจงเหตุผลตัด72ล้าน

นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ในฐานะกมธ. กล่าวว่า การตัดลดงบประมาณลงแทบทุกหน่วยรับงบประมาณ เช่น ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันปี 2567 เป้าหมายไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ได้รับหลักการไว้ในวาระที่ 1 ความไม่มีประสิทธิภาพในการตั้งงบประมาณ ปัญหาทางดิจิทัลของเราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และยังมีปัญหาอีกเยอะ ซึ่งขณะเดียวกันสมาชิกตั้งข้อสังเกตเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก 

ทั้งนี้หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ท้ายที่สุดที่ประชุมเห็นชอบตัดงบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 72 ล้านบาท ตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก
 

จวกทส.แก้ฝุ่นพิษPM2.5ล้มเหลว

ขณะที่ มาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอภิปรายส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่กระทรวงฯไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น

รวมถึงการเกลี่ยงบประมาณภายในหน่วยงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้งบประมาณอย่างเพียงพอกับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาภัยแล้ง

โดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า งบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกปรับลดลงเหลือ 870ล้านบาท ถูกตัดทิ้ง ทั้งที่ประเทศมีวิกฤติเรื่องน้ำ แต่กลับไม่ติดอาวุธให้หน่วยงาน 

สส.เพื่อไทย ข้องใจเน้นประเคนงบ "กรมอุทยานฯ"

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเกลี่ยงบไม่สมดุล กรมอุทยานแห่งชาติฯได้งบ 5,600ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าอุทยานมากอยู่แล้ว มีรายได้ต่อปี 1,000ล้านบาท แต่กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีส่วนสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ อย่างกรมป่าไม้ มีอุปกรณ์ดับไฟป่าแค่ไม้กวาด เครื่องเป่าลม ควรได้รับงบเพิ่มเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย

ขณะที่นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.ชี้แจงว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 แก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องฝุ่นPM2.5เป็นเรื่องส่วนรวม ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ถ้าให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯเพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะใช้เวลานาน  หลังจากสส.อภิปรายมาตรา 17ครบถ้วน แล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าว