ขั้วหนึ่ง หลงเหลิงในอำนาจ อีกขั้ว คะแนนสงสารมาเต็ม

ขั้วหนึ่ง หลงเหลิงในอำนาจ อีกขั้ว คะแนนสงสารมาเต็ม

ดูเหมือนการเมืองไทย กำลังเดินไปสู่จุดต่ำที่ประชาชน “คับแค้นใจ” ที่สุดในอนาคตอันใกล้ เพราะนักการเมืองบางคน พรรคการเมืองขั้วหนึ่ง ทำตัวไม่เห็นหัวประชาชน ไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ปล่อย “นักโทษเทวดา” คนเดียว อยู่เหนือกฎหมายชัดแจ้ง สำแดง “อำนาจ-บารมี” อย่างหลงเหลิง โดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้ แม้แต่ “ผู้มีอำนาจหน้าที่” ตามกฎหมาย หนำซ้ำ “รัฐ-ราชการ” ยัง “ก้มหัว” รับใช้สนองพระเดช อย่างไม่กลัวเกรงความผิด ปฏิบัติอย่าง “สองมาตรฐาน” กับประชาชนทั่วไปอีกด้วย

เกิดอะไรขึ้น? คือ คำถามข้อใหญ่ที่คนไทยยังไม่มีคำตอบ และสับสนกันไปใหญ่อยู่ทุกวันนี้ 

หากจะย้อนให้เห็น มี “จิ๊กซอว์” สำคัญอยู่แค่ หลังจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า (ขณะนั้น) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ถูกสว.และสส.พรรคร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “รับไม่ได้” กรณีเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 และพรรคก้าวไกล ใช้การแก้ไข ม.112 เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้การโหวตลงมติเห็นชอบ “นายกรัฐมนตรี” ไม่ผ่านรัฐสภา 

รวมถึง ประเด็นนายพิธา ถือหุ้นไอทีวี ที่ถูกยื่นคำร้องขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย จึงทำให้นายพิธา หมดโอกาสที่จะถูกเสนอชื่อเพื่อโหวตลงมติเห็นชอบ เป็นนายกรัฐมนตรี จากรัฐสภา

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสจึงตกมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ได้ส.ส.อันดับสอง ทั้งการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และการโหวต “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” 

ในช่วงนี้เอง ที่มีกระแสข่าวว่า มี “ดีลพิเศษ” ในการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ในการพบปะพูดคุย “ข้ามขั้ว” กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรคเพื่อไทย โจมตีมาตลอดว่า เป็น “นั่งร้านให้เผด็จการ” และเป็นขั้วอำนาจ “สองลุง” ที่จะไม่ยอมร่วมรัฐบาลด้วยเป็นอันขาด จนพรรคก้าวไกล “ด้อมส้ม” และ “ด้อมแดงเข้ม” ออกมาเคลื่อนไหวดักคอ ไม่ให้เปลี่ยนขั้ว ไม่เช่นนั้น จะถือว่า “ตระบัดสัตย์” 

ขณะเดียวกัน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีโทษและคดีทุจริตหลายคดีในต่างประเทศ ก็เคลื่อนไหวเช่นกัน โดยประกาศจะเดินทางกลับไทย และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก ที่อยู่ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็ออกมายืนยันเช่นกัน เพียงแต่วันเวลาไม่ชัดเจน 

กระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566 วันเดียวกับ รัฐสภาโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ด้วย คะแนนเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง จากทั้งหมด 705 เสียง “ทักษิณ” ก็เดินทางกลับประเทศไทย ตามที่ประกาศไว้ พร้อมเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย คือ รับโทษ และถูกดำเนินคดี
 

ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” เคยประกาศว่า จะกลับไทยแบบเท่ๆ และไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว ซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้ ต่างคิดว่า เป็นราคาคุยเสียมากกว่า หรือ ถ้าทำจริง หลายฝ่ายคงออกมาต่อต้าน

และแล้ว “ทักษิณ” ก็ทำได้ หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา 3 คดี จำคุก 8 ปี เขาขอพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือ 1 ปี

ส่วนการติดคุก เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในวันแรก และอยู่ได้ไม่ทันข้ามคืน ก็ถูกส่งมารักษาอาการป่วยกะทันหันที่ ชั้น 14 ซึ่งเป็นชั้นวีไอพีของโรงพยาบาลตำรวจ โดยกรมราชทัณฑ์ อ้างว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่อาจรักษาได้ และรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเวลา 6 เดือน จนเข้าเกณฑ์ได้รับพักโทษ ที่กฎหมายระบุว่า จะต้องรับโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่ต้องคำพิพากษา หรือ จำคุกมาแล้ว 6 เดือน แล้วแต่อันไหนยาวนานกว่ากัน ที่สุดก็ได้รับเสนอชื่อ “พักโทษ” จากกรมราชทัณฑ์

สรุปว่า “ทักษิณ” ทำได้ กลับไทยแบบเท่ๆ และไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว เพราะอยู่เรือนจำไม่ถึง 1 วัน

แค่นี้เอง ที่เป็น “จิ๊กซอว์” ให้เห็นว่า อำนาจของ “ทักษิณ” ที่ดูเหมือน “ล้นฟ้า” อยู่ในเวลานี้ได้คืนมาอย่างไร ยอมแม้กระทั่งกลืนน้ำลายตัวเอง ที่จะไม่ร่วมรัฐบาลกับเผด็จการ “ตระบัดสัตย์” กับแม้กระทั่งเพื่อนร่วมอุดมการณ์ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

ปรากฏการณ์ “ดีลพิเศษ” ที่ช่วยให้ “ทักษิณ” กลับไทย และ โหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ทำให้การเมืองไทย แบ่งออกเป็น “สองขั้ว” ชัดเจนยิ่งขึ้น นั่นคือ ขั้วพรรคก้าวไกล และแนวร่วม เปลี่ยนแปลงการเมืองเป็น “เสรีประชาธิปไตย” ซึ่งอยู่ในฐานะฝ่ายค้าน กับ ขั้วพรรคเพื่อไทย และแนวร่วมพรรคอนุรักษนิยม อยู่ในฐานะรัฐบาล

ส่วนมวลชนที่สนับสนุน ก็มีการปรับตัวตามไปด้วย โดย “ด้อมเหลือง” จำเป็นต้องปรองดองกับ “ด้อมแดง” ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม และผลักให้ “ด้อมแดงเข้ม” ไปร่วมกับ “ด้อมส้ม” โดยปริยาย สังเกตได้จากท่าทีที่มีต่อกระแสทางการเมือง

ดังนั้น จุดโฟกัสของขั้วอำนาจรัฐบาล จึงหนีไม่พ้น การเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” ที่ดูเหมือนได้ “อภิสิทธิ์” ในการเป็นนักโทษ อย่างเหนือความคาดหมาย และกล้าท้าทายต่อสายตาประชาชนผู้รักความยุติธรรมอย่างเหลือเชื่อ ทั้งที่เขาเองเคยเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองมาตลอด แต่ยามนี้ เขาทำในสิ่งย้อนแย้งไม่สนใจ “ความยุติธรรม”?

อย่าลืม สิ่งที่ไล่ล่า “ทักษิณ” และคนที่ช่วย “ทักษิณ” ให้หลีกเลี่ยงติดคุกในเรือนจำ ก็คือ คำร้องที่ร้องต่อ “ป.ป.ช.” ให้ตรวจสอบ ไต่สวน “ทักษิณ” ป่วยหนักจริงหรือไม่ พักโทษ ได้อย่างไร ฝ่าฝืนเงื่อนไขคุมประพฤติหน้าตาเฉย

แม้ว่า “ทักษิณ” และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อาจไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่ มองว่ากระแสต่อต้านมีเพียงเล็กน้อย

แต่ถ้าพูดถึงการทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง “แก้วสรร อติโพธิ” นักวิชาการกฎหมาย ชี้ประเด็นเอาไว้อย่างน่าสนใจ จากการเผยแพร่บทความเรื่อง “กฎหมาย กับ คดีโกงคุก” ผ่าน www.thaipost.net ในลักษณะ ถาม-ตอบ 

โดยเนื้อหาตอนหนึ่ง ระบุว่า

...ถาม ถ้าฝ่ายบริหารยังเฉยอยู่อีก เราก็เหลือแต่ ปปช.

ตอบ อันที่จริง เรื่องโกงคุกนี้ มันมีสามคดี ที่ ปปช.ไต่สวนได้แล้วนะครับ ทั้ง ๖ เดือน ที่นอนโรงพยาบาลตำรวจ ก็ตรวจสอบว่า ป่วยวิกฤตจริงไหม แล้วพอ ๖ เดือนที่เหลือได้พักโทษ โดยเหตุสูงอายุเกิน ๗๐ และสภาพร่างกายช่วยตัวเองไม่ได้ นี่ก็ตรวจสอบได้อีกคดีหนึ่งว่าช่วยตัวเองไม่ได้จริงหรือเปล่า คดีที่สามก็มาปัจจุบันเรื่องขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่ ว่าผิดเงื่อนไขอย่างนี้ ทำไมใครไม่ทำอะไรเลย    ทั้งหมดนี่มีกฎหมายวางหลักเกณฑ์ ใช้ควบคุมจัดการได้อยู่แล้วทั้งสิ้น เหลือแต่คนเป็นตัวๆเท่านั้นว่า จะรับผิดชอบกันตามอำนาจหน้าที่หรือไม่...”   

ก่อนหน้านี้(22 ก.พ.67) “แก้วสรร” เคยทำจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ชัดว่า องค์ประกอบของการได้รับพักโทษ 1 ใน 3 ที่ว่า นักโทษนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย อาจเป็นการได้รับพักโทษโดยมิชอบ

ประเด็นอยู่ที่ ถ้า “ทักษิณ” ทำอะไรก็ไม่ผิด แม้ว่าขัดต่อกฎหมายชัดแจ้ง “คนไทย” จะยังอยู่ดีมีสุข อยู่กับรัฐบาลภายใต้ “ทักษิณ” อยู่หรือไม่?

หันมาทางขั้วอำนาจ “ก้าวไกล” กรณีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม2567 คณะกรรมการการเลือกตั้้ง (กกต.) มีมติ “เอกฉันท์”เสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยก่อนที่ที่ประชุมจะมีมติดังกล่าว ได้มีการพิจารณาผลการศึกษาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และความเห็นที่สำนักงาน กกต.เสนอว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายเป็นความผิด มาตรา 92 (1) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

ประเด็นที่ประชาชนคนไทย จะเริ่มนำมาคิดก็คือ ทำไมการทำผิดกฎหมายของฝ่ายหนึ่ง จึงไม่เป็นความผิด ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อาจรวมถึงโทษที่ได้รับก็ยังหลีกเลี่ยงที่จะติดคุกได้ รวมถึงการแสดงออกอย่างหลงเหลิงอำนาจ แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไรแม้แต่น้อย

กับอีกฝ่าย ที่ถูกคดีไล่ล่าไม่สิ้นสุด จนถึงขั้นยุบพรรคครั้งแล้วครั้งเล่า กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองรุ่นแล้วรุ่นเล่า กระทำย่ำยีกันขนาดนี้เลยหรือ?

แน่นอน, มันผิดจริงทั้งสองฝ่าย แต่ถูกลงโทษ และได้รับโทษหนักอยู่แต่ฝ่ายเดียว คิดดูคะแนนสงสารจะเทไปที่ใคร?

ถ้ารัฐบาลยังบริหารประเทศ แบบเกรงอกเกรงใจการมีอำนาจ-บารมีของ “ทักษิณ” รวมทั้งการใช้อำนาจอย่างหลงเหลิงอยู่อย่างนี้ เลือกตั้งครั้งหน้าคงไม่ต้องเดาให้ยาก ว่าใครจะ “แลนด์สไลด์” ได้เสียงเกินกว่าครึ่ง หรืออาจได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ไม่เชื่อก็ลองดู!