ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

สายน้ำปิงไม่ไหลกลับ ‘ทักษิณ’ เจอโจทย์ยากทวงคืนเชียงใหม่ ‘ก้าวไกล’ รุกคืบยึดท้องถิ่นทุกระดับ จับตาตัวแปร ‘บูรณุปกรณ์’

สแกนพื้นที่การเมืองเชียงใหม่ พ.ศ.นี้ ก้าวไกลแชมป์ สส. เพื่อไทยยังยึดครอง อบจ. และตระกูลบูรณุปกรณ์ คุม 2 เทศบาลใหญ่

สถานการณ์การเมืองในเชียงใหม่ ได้รับความสนใจจากผู้คนอีกครั้ง เมื่อทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับไปกราบอัฐิบรรพบุรุษตระกูลชินวัตร เป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี

เชียงใหม่ ไม่ใช่แค่บ้านเกิดของทักษิณ หากแต่เป็นฐานที่มั่นการเมืองของตระกูลชินวัตร อันสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่เลิศ จนถึงรุ่นหลาน-อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

ปัจจุบัน แผนที่ทางการเมืองระดับชาติของเชียงใหม่เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ จากสีแดงกลายเป็น ‘สีส้ม’ เกือบทั้งจังหวัด

เฉพาะ อบจ.เชียงใหม่ ที่ยังอยู่ในการบริหารของทีมเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกฯก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร 

ส่วนเทศบาลขนาดใหญ่ใน อ.เมืองเชียงใหม่ 2 แห่งคือ เทศบาลนครเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลช้างเผือก บริหารงานโดยกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ของตระกูลบูรณุปกรณ์

การเลือกตั้งท้องถิ่นเชียงใหม่ช่วงปี 2568-2569 จะเป็นบททดสอบอันสำคัญของตระกูลชินวัตร หากพ่ายแพ้แก่พรรคก้าวไกล เหมือนเลือกตั้ง สส.ปี 2566 ย่อมสะท้อนอนาคตของทักษิณ

ยุคทองไทยรักไทย

ดังที่ทราบกัน ทักษิณ ชินวัตร นำทัพพรรคไทยรักไทย เข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง สส.ครั้งแรกปี 2544 โดยสนามเชียงใหม่ ทักษิณมอบให้เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นแม่ทัพใหญ่

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

เจ๊แดง เยาวภา เจรจากับปกรณ์ บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม และอดีต สส.บ้านใหญ่จากหลายพรรค จัดทีมผู้สมัคร สส.เชียงใหม่ 10 เขต 

ด้วยกระแสนายกฯลูกข้าวนึ่ง ไทยรักไทยกวาดเก้าอี้ สส.เชียงใหม่ 9 ที่นั่ง เหลือให้พรรค ปชป. 1 ที่นั่ง

สส.เชียงใหม่ ไทยรักไทยสมัยนั้น ประกอบด้วย เขต 1 ปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ,เขต 2 เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ,เขต 3 บุญทรง เตริยาภิรมย์ ,เขต 4วิทยา ทรงคำ ,เขต 5 พรชัย อรรถปรียางกูร, เขต 6 นพคุณ รัฐผไท ,เขต 7 สุรพล เกียรติไชยากร ,เขต 8 ผณินทรา ภัคเกษม และเขต 10 สันติ ตันสุหัช     

มีข้อน่าสังเกต เจ๊แดงลงสมัคร สส.เขต ร่วมกับปกรณ์ บูรณุปกรณ์ และมีดาวรุ่งดวงใหม่ที่มาจากภาคธุรกิจคือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ 

ส่วนเขต 9 ยงยุทธ สุวภาพ พรรค ปชป.แทรกเข้ามาได้ เพราะเขตนี้ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีต สส.เจ้าถิ่น ประกาศเว้นวรรค 

ครั้นเลือกตั้งปี 2548 สมพงษ์ตอบรับคำเชิญของทักษิณและเจ๊แดง ได้ส่งลูกชาย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ลงสนามเขต 9 ก็เป็น สส.มาแต่สมัยโน้นจนถึงปัจจุบัน

ยุคเปลี่ยนผ่าน

    นักวิชาการในรั้ว มช.ต่างคาดไม่ถึงว่า กระแสพิธาจะแรงถึงขั้นส่งผลให้ภูมิทัศน์การเมืองเชียงใหม่เปลี่ยนแปลง จากเขตอิทธิพลของตระกูลชินวัตร กลายเป็นที่มั่นใหม่ของก้าวไกล

กว่า 20 ปี สส.เชียงใหม่ ถูกผูกขาดโดยอดีต สส. และลูกหลาน สส.บ้านใหญ่ในสีเสื้อเครือข่ายชินวัตร แต่ปี 2566 สส.เชียงใหม่ 7 คน มาจากพรรคก้าวไกล พวกเขาเป็นลูกชาวบ้าน 

เขต 1 เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ,เขต 2 การณิก จันทดา, เขต 3 ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ,เขต 4 พุธิตา ชัยอนันต์ ,เขต 6 อรพรรณ จันตาเรือง,เขต 7 สมดุลย์ อุตเจริญ และเขต 8 ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ 

หลังเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตร รู้สึกเสียหน้าและวิจารณ์ลูกพรรคในคลับเฮาส์ เมื่อเพื่อไทย ได้ สส.เชียงใหม่ เพียง 2 ที่นั่งคือ เขต 5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต 10 ศรีโสภา โกฏคำลือ 

ส่วนเขต 9 นเรศ ธำรงทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในสังกัดกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม 

ดูเหมือนว่า ตระกูลบูรณุปกรณ์ ได้ฝากนเรศไว้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 แต่มาประสบความสำเร็จในปี 2566

อบจ.ใต้ร่มเงาชินวัตร

ปลายปี 2563 สังเวียนศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ ไม่ต่างจากสงครามคนกันเอง เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่าง บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม กับ พิชัย เลิศพงษ์อดิศร พรรคเพื่อไทย

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

บุญเลิศ เป็นน้องชายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ (เสียชีวิตแล้ว) ถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนพลังประชารัฐ เพราะมีภาพตัวเขาไปร่วมงานเปิดสาขาพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแกนนำภาคเหนือเมื่อปี 2562

เนื่องจากตระกูลบูรณุปกรณ์ ยึดครอง อบจ.เชียงใหม่ มาหลายสมัย จึงมีแต้มต่อคนเพื่อไทย ทักษิณกลัวแพ้ จึงเขียนจดหมายด้วยลายมือของตัวเองโพสต์ลงเฟซบุ๊คส่วนตัว พร้อมส่งภาพคู่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ อ้อนชาวเชียงใหม่ ให้สนับสนุนพิชัย เลิศพงศ์อดิศร 

เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และเยาวเรศ ชินวัตร ก็ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยพิชัยในโค้งสุดท้าย 

คนเชียงใหม่วิจารณ์กันเยอะ กรณีทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ทุ่มสุดตัวเพื่อเอาชนะตระกูลบูรณุปกรณ์ และคนที่เจ็บปวดที่สุดคือ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ผู้ถูกประทับตราว่าเป็นผู้ทรยศนายใหญ่

บ้านใหญ่บูรณุปกรณ์

หลัง สว.ก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร โค่นแชมป์เก่าได้เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทย มีความฮึกเหิมในสนามเลือกตั้งนายก เทศมนตรีนครเชียงใหม่ 

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

ต้นปี 2564 เพื่อไทยส่ง ชาตรี เชื้อมโนชาญ ลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ชน อัศนี บูรณุปกรณ์ ลูกชายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม

เทศบาลนครเชียงใหม่ อยู่ในการบริหารงานของกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม มายาวนานกว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นจากปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ,บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ และทัศนัย บูรณุปกรณ์

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

ในที่สุด อัศนี บูรณุปกรณ์ ก็เอาชนะชาตรี เชื้อมโนชาญ ค่ายเจ๊แดงไปได้ ถือว่ากอบกู้ศักดิ์ศรีบ้านใหญ่คืนกลับมา หลังพ่ายศึกนายก อบจ.

นอกจากนั้น กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ยังเอาชนะได้ที่เทศบาลตำบลช้างเผือก ทำให้บ้านใหญ่เชียงใหม่ ยังยึดพื้นที่ใจกลางเขตเศรษฐกิจเชียงใหม่เอาไว้ได้ 

การเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่จะมีขึ้นในปีหน้า ก็จะเป็นการต่อสู้เพื่อทวงคืนเชียงใหม่ของตระกูลชินวัตร โดยมีคู่แข่งสำคัญคือ พรรคก้าวไกล

วันนี้ ค่ายก้าวไกลกำลังจัดเตรียมผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมี ไพรัช ใหม่ชมภู อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นคีย์แมนคนสำคัญสำหรับทัพท้องถิ่นสีส้ม

ผ่าสมรภูมิ ‘เชียงใหม่’ สแกนขุมกำลัง ‘ชินวัตร-ก้าวไกล’ 

เหนืออื่นใด ตัวแปรที่สำคัญในสนามท้องเชียงใหม่คือ ตระกูลบูรณุปกรณ์ ที่ยังมีความหลังฝังใจกับนายใหญ่และเจ๊แดง พวกเขาจะเลือกขั้วไหน ระหว่างส้มกับแดง