เหตุผล กมธ.งบฯ 'ก้าวไกล' ไฟเขียว ทร.ซื้อ 'เรือฟริเกต' 1.7 พันล. ไว้ป้องกันชาติ

เหตุผล กมธ.งบฯ 'ก้าวไกล' ไฟเขียว ทร.ซื้อ 'เรือฟริเกต' 1.7 พันล. ไว้ป้องกันชาติ

'ก้าวไกล' แจงเหตุผล กมธ.งบ 67 สัดส่วนพรรค เห็นชอบ 1,700 ล้านบาท ให้ ทร.ซื้อ 'เรือฟริเกต' เพื่อป้องกันชาติ ชี้ขาดยุทโธปกรณ์ปกป้องน่านน้ำ หลังเสนอแผนนำไปสู่อุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อยอด 'ผลิต-ซ่อม-ขาย' สำหรับอนาคต

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2567 นายชยพล สท้อนดี สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 กล่าวว่า กรณี กมธ.งบ 67 สัดส่วนพรรคก้าวไกล เห็นชอบต่อคำขออุทธรณ์ของกองทัพเรือในการจัดซื้อเรือฟริเกต วงเงิน 1,700 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของวงเงินโครงการ เพื่อขอซื้อเรือฟริเกตลำใหม่ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเรือจะสื่อสารว่า เพื่อเป็นการซื้อเรือแฝดคู่กับเรือหลวงภูมิพล ที่ซื้อมาจากประเทศเกาหลีใต้ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา กองทัพเรือยังไม่เคยสื่อสารในรายละเอียดเชิงลึกของโครงการจัดหาเรือครั้งนี้ 

ทั้งนี้ จนกระทั่งอนุ กมธ. งบฯ ด้านความมั่นคง กองทัพเรือได้นำเอกสารมาชี้แจง ถึงความจำเป็นและแนวคิดของการจัดหาเรือครั้งนี้ โดยได้ชี้แจงว่า ตามการประเมินของกองทัพเรือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเรือฟริเกตจำนวน 8 ลำ เพื่อป้องกันน่านน้ำไทย โดยแบ่งพื้นที่ฝั่งอ่าวอันดามันและอ่าวไทย ฝั่งละ 4 ลำ

อย่างไรก็ตาม แต่ในปัจจุบันกองทัพเรือไทยมีเรือฟริเกตใช้งานเพียง 4 ลำเท่านั้น ประกอบด้วย

  • เรือหลวงรัตนโกสินทร์ อายุ 38 ปี
  • เรือหลวงนเรศวร อายุ 30 ปี
  • เรือหลวงตากสิน อายุ 29 ปี
  • เรือหลวงภูมิพล อายุ 5 ปี 

นายชยพล กล่าวอีกว่า จากการชี้แจงของกองทัพเรือ โดยปกติเรือรบฟริเกตจะใช้งานกันอยู่ที่ราว 30 ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ซื้อเรือฟริเกตใหม่ จึงจำเป็นต้องซ่อมบำรุงเรือให้ใช้งานต่อถึง 40 ปีถึงค่อยปลดระวาง ซึ่งเรือหลวงรัตนโกสินทร์กำลังจะถึงเวลาที่จะต้องปลดระวางในปี 2569 เท่ากับเหลือเวลาใช้งานอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น ทำให้ไทยเหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง 3 ลำจากความต้องการทั้งหมด 8 ลำ 

สำหรับการซื้อเรือฟริเกตครั้งนี้ จะใช้เวลาในการต่อเรือประมาณ 4-5 ปี ซึ่งแปลว่าไทยจะได้รับเรือช่วงประมาณปี 2571 ถ้าได้รับอนุมัติโครงการในปีงบ 2567 และไทยจะเหลือเรือฟริเกตใช้งานเพียง 3 ลำ เป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะได้รับเรือลำใหม่ หากไม่ได้รับอนุมัติงบในปี 2567 นี้ มีความเป็นไปได้สูงว่ากว่าจะได้รับอนุมัติงบการจัดซื้ออีกที อาจจะเป็นปีงบประมาณ 2569 เนื่องจากส่งคำขอสำหรับปีงบ 2568 ไม่ทัน ทำให้อาจได้รับเรือช้าถึงปี 2573 แปลว่าจะมีเรือฟริเกตในการป้องกันประเทศเพียง 3 ลำจากความต้องการ 8 ลำ ไปถึง 4 ปี เป็นความเสี่ยงทางความมั่นคง

"โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนยุทโธปกรณ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือระดับฟริเกตตั้งแต่ 3 จนถึง 14 ลำ ซึ่งหากเกิดภัยความมั่นคงทางทะเลขึ้นมา ในช่วงเวลานี้ที่กองทัพเรือไม่มีเรือใช้งาน ก็คงโทษใครไม่ได้นอกจากตัวรัฐบาลเอง" นายชยพล กล่าว

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากเหตุผลด้านความมั่นคง ยังมีเหตุผลด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การจัดหาเรือฟริเกตครั้งนี้ กองทัพเรือได้ชี้แจงในอนุ กมธ. งบฯ ด้านความมั่นคง ว่าคำนึงถึงเรื่อง Offset Policy เป็นสำคัญ เพราะมีความตั้งใจจะให้เรือลำนี้ต่อในไทย โดยให้บริษัทต่อเรือในไทยทำสัญญาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับองค์ความรู้ในการต่อเรือ

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดการจ้างงานภายในประเทศมากกว่า 1.2 ล้านชั่วโมงทำงาน เกิดการจัดซื้อพัสดุในประเทศมากกวว่า 1,000 ล้านบาท และซื้อเหล็กต่อเรือไม่น้อยกว่า 550 ตัน โดยประเทศต้นทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเสนอแบบเรือให้กองทัพเรือมีทั้งจากเนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี เกาหลีใต้ และสเปน 

สำหรับการต่อเรือครั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ไทยจะได้ต่อเรือที่มีขนาดมากกว่า 4,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันโรงต่อเรือประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อเรือขนาดเพียง 2,000 ตันเท่านั้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ สามารถรองรับการผลิตเรือฟริเกตในการใช้งานเอง หรือขายต่อให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ในอนาคต

นอกจากนี้ การต่อเรือครั้งนี้ จะเป็นการต่อเรือแบบโมดูล หรือการแบ่งส่วนเรือให้อู่ต่อเรือหลายเจ้าในไทยมีส่วนร่วมในการสร้าง แล้วค่อยนำมาประกอบเข้าด้วยกันในภายหลัง ทำให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยหลายรายได้รับองค์ความรู้จากโครงการครั้งนี้ด้วย

"กองทัพเรือเองได้ยืนยันในอนุ กมธ. ด้านความมั่นคง ว่าโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตครั้งนี้จะส่งผลทำให้ไทยสามารถต่อเรือเอง ซ่อมเรือเอง สร้างเรือเอง และสามารถผลิตขายต่อได้ในอนาคต และยืนยันว่าโครงการนี้จะถ่ายทอดองค์ความรู้ระดับสูงให้แรงงานไทย ไม่ใช่เป็นเพียงการจ้างงานแบบ low skill เท่านั้น และยืนยันว่าจะแตกต่างจากกรณีของเรือดำน้ำอย่างแน่นอน รวมถึง ผบ.ทร. เองก็ได้ยืนยันว่าจะพิจารณาเรื่องการจ่ายมูลค่าโครงการเป็นผลผลิตอื่นๆ ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน" นายชยพล กล่าว

จากการชี้แจงครั้งนี้ จึงมองเห็นความสำคัญของตัวโครงการ ทั้งจากปัจจัยด้านความมั่นคงที่เห็นภาพชัดจากข้อมูลที่กองทัพเรือได้นำมาชี้แจง ว่าขาดยุทโธปกรณ์ในการปกป้องน่านน้ำไทยจริง ไม่ใช่สถานการณ์การเสริมสร้างรั้วความมั่นคง เช่น การซื้อยุทโธปกรณ์ครั้งอื่น ๆ แต่เป็นสถานการณ์ที่ไทยไม่มีรั้วในการปกป้องน่านน้ำทะเลไทยแล้ว จึงจำเป็นต้องเร่งจัดซื้อให้ทันการใช้งาน และลดช่องว่างเวลาที่ไทยจะอ่อนแอด้านการปกป้องน่านน้ำให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านความเติบโตทางเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเงินทั้งหมด 17,000 ล้านบาท จะถูกใช้เพื่อจุดประกายอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้านการต่อเรือให้เติบโตขึ้นจริงในประเทศ และจะทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ รวมไปถึงโอกาสในการผลิตยุทโธปกรณ์ขายให้ต่างประเทศต่อไปในอนาคต เช่นเดียวกับที่ประเทศเกาหลีใต้ทำอยู่ 

ด้วยเหตุผลนี้เอง การลงทุน 17,000 ล้านบาทจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ในการส่งออกต่อได้ในอนาคต จึงมองว่าการลงทุนครั้งนี้ หากกองทัพเรือทำได้จริงตามแนวคิดแนวทางที่วางไว้ จึงสมควรแก่การสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว