ศึกพิพาท ‘ส.ป.ก.เขาใหญ่’ พันธกิจ ‘เจ้ากรมแผนที่ทหาร’

ศึกพิพาท ‘ส.ป.ก.เขาใหญ่’ พันธกิจ ‘เจ้ากรมแผนที่ทหาร’

2 เดือนถัดจากนี้ คณะกรรมการวันแมปจะเคาะที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ อยู่ในความรับผิดชอบ กรมอุทยานฯ หรือ ส.ป.ก. แน่นอนว่า ย่อมมีหนึ่งในสองหน่วยงานถูกดำเนินคดี

KEY

POINTS

 

  • "บิ๊กกองทัพไทย" เรียก "เจ้ากรมแผนที่ทหาร" ติวเข้ม ตั้งรับกลเกมการเมืองและสู้คดีในชั้นศาล
  • ผู้ใหญ่กองบัญชาการกองทัพไทย ต้นสังกัดกรมแผนที่ทหาร พยายามดับไฟความขัดแย้ง ไม่ให้ลามเข้ากองทัพ ด้วยการชงคณะกรรมการวันแมป เสนอยกพื้นที่พิพาทให้อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ 

ความผิดพลาดเดียวของ “กรมแผนที่ทหาร” คือ การชี้ พื้นที่ทับซ้อน หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แทนที่จะระบุแค่เพียงเส้นแบ่งเขต ส่งผลให้หน่วยงานกลางกลายเป็นคู่กรณีเสียเอง

“ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกาศไม่ยอมรับแผนที่ วันแมป (One Map) ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ภายใต้คณะกรรมการการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ที่มี “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เป็นประธาน

ภายหลัง พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร ทำเอกสารรายงานนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 ก.พ.2567 ถึงกรณีแนวเขตข้อพิพาทดังกล่าว โดยแนบสำเนาพระราชกฤษฎีกาและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ พ.ศ.2505 และผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดินทับซ้อน บริเวณบ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ระบุผลการตรวจสอบ พร้อมความเห็นสรุปว่า 

ศึกพิพาท ‘ส.ป.ก.เขาใหญ่’ พันธกิจ ‘เจ้ากรมแผนที่ทหาร’

1.สำรวจหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกา และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ พ.ศ.2505 เนื่องจากเป็นแนวเขตที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการเดินสำรวจในภูมิประเทศบริเวณโดยรอบพื้นที่ทับซ้อน ตามข้อมูลการสำรวจแนวเขตที่ระบุไว้ในสมุดบันทึกการรังวัด (Field Book) พ.ศ.2503 และใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปี 2496 ถึงปี 2563 และแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50,000 ตั้งแต่ปี 2505 ถึงปี 2564 ในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อประกอบพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจหาแนวเขต

2.ผลการตรวจสอบ ทราบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พระราชกฤษฎีกา และแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาใหญ่ ปี 2505 บริเวณที่ดินทับซ้อน บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีผลให้แปลงปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก.ไม่ทับซ้อน และอยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

แม้ผู้ใหญ่กองบัญชาการกองทัพไทย ต้นสังกัดกรมแผนที่ทหาร พยายามดับไฟความขัดแย้งไม่ให้ลามเข้ากองทัพ ด้วยการยกหูเคลียร์ผู้ใหญ่กรมอุทยานแห่งชาติฯ หวังยุติปัญหานี้ และเพื่อหาข้อสรุปที่ดี ด้วยการชงคณะกรรมการวันแมปเสนอยกพื้นที่พิพาทให้อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ 

ทว่า ดูเหมือนปัญหานี้จะอยู่เหนือการควบคุมของ 2 หน่วยงาน และถูกยกระดับเป็นเรื่องการเมือง ว่าด้วยการบริหารงานของ 2 กระทรวง คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสกรณ์  

หลังจาก พล.ต.อ.พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไฟเขียว “ชัยวัฒน์”เดินหน้าเต็มสูบ พิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของกรมอุทยานฯ และเอาผิดกับ ส.ป.ก. พร้อมหาความเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมไปถึงกรมแผนที่ทหาร ซึ่งถูกครหานำเอกสารไม่ถูกต้องเสนอนายกรัฐมนตรี

เจ้ากรมแผนที่ทหาร ถูกผู้ใหญ่ในกองทัพไทยเรียกไปติวเข้ม หากอนาคตพื้นที่พิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล พร้อมชี้ให้เห็นจุดอ่อนคือหลักหมุดที่กรมแผนที่ทหารกล่าวอ้างหายไปจากพื้นที่ เนื่องจากในอดีต หลักหมุดที่ทำจากไม้ย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา มีเพียงแผนที่แผ่นเดียว จึงขาดความน่าเชื่อถือ

ส่วนจุดแข็ง คือการชี้แจงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 27 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา “ชัยวัฒน์” ระบุชัดว่า สมุดบันทึกการรังวัดที่กรมแผนที่ทหารกล่าวอ้าง มีความคลาดเคลื่อน

“เป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่จะทำให้กรมแผนที่ทหารพ้นผิด ทางเจ้ากรมแผนที่ทหารได้สั่งเก็บหลักฐานมาทั้งหมด เพื่อต่อสู้ในชั้นศาล ทั้งภาพถ่าย สมุดบันทึกการรังวัด บันทึกการประชุม กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ 27 ก.พ.2567 หากคนจด จดผิด กรมแผนที่ทหารก็ไม่ผิด เพราะการดำเนินการทุกอย่าง ทำบนหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่หากจดผิดมาตั้งแต่ต้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำกันมาก่อนหน้านี้ก็ผิดกันทั้งประเทศ” แหล่งข่าว จากกรมแผนที่ทหาร ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “คอนเนกชัน” แม้เจ้ากรมแผนที่ทหารจะยืนยันกับผู้ใหญ่ในกองทัพไทยว่า ความเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 (ตท.25) เพื่อนร่วมรุ่นกับนักการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ แต่ก็ได้รับคำแนะนำว่า คนบางกลุ่มมีความพยายามเชื่อมโยงให้กลายเป็นประเด็นการเมือง จึงต้องระมัดระวัง

สำหรับความคืบหน้าแก้ปัญหาพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ ในการประชุมคณะกรรมการวันแมป ซึ่งมี “สุทิน” นั่งเป็นประธานครั้งล่าสุด กำชับเร่งดำเนินการหาข้อสรุปให้เสร็จภายใน 2 เดือน ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตหน่วยงานใด ผ่าน 3 อนุกรรมการวันแมป

โดยให้อนุกรรมการด้านเทคนิคที่ดูเรื่องแนวเส้น ซึ่งมี “เจ้ากรมแผนที่ทหาร” เป็นประธาน ลงพื้นที่ไปสำรวจ ให้ทำเป็นคณะ มีตัวแทนจากกรมต่างๆ กรมอุทยานฯ ฝ่ายปกครองท้องที่ เพื่อป้องกันข้อครหา และให้ชี้เฉพาะแนวเขตเท่านั้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกันของอนุกรรมการด้านกฎหมาย และอนุกรรมการนโยบายที่ดูเรื่องการเมือง

อีก 2 เดือนถัดจากนี้ คณะกรรมการวันแมปจะเคาะที่ดินพิพาท ส.ป.ก.เขาใหญ่ ว่าเป็นของหน่วยงานใด ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แน่นอนว่า ย่อมมี 1 ใน 2 หน่วยงานนี้ถูกดำเนินคดี

แต่ที่น่าเห็นใจที่สุด คงไม่พ้น “เจ้ากรมแผนที่ทหาร” เพราะอยู่ท่ามกลางการสะสางปัญหาของ 2 กระทรวง 

คงต้องรอดูว่า “เจ้ากรมแผนที่ทหาร” จะสลัดข้อครหา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นว่า กรมแผนที่ทหารเป็นหน่วยงานกลางอย่างแท้จริง ที่จะเข้ามายุติความขัดแย้งที่ดิน ส.ป.ก.เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่พิพาททั่วประเทศภายใต้แผนที่วันแมปได้หรือไม่