กกต.เผยเลือกตั้ง สว.ลำบากสุดตอนดูคุณสมบัติ-หุ้นสื่อ ทุ่ม 20 ล.แก้ปัญหาด่วน

กกต.เผยเลือกตั้ง สว.ลำบากสุดตอนดูคุณสมบัติ-หุ้นสื่อ ทุ่ม 20 ล.แก้ปัญหาด่วน

‘ปกรณ์’ กรรมการ กกต.เผยความลำบากที่สุดในการเลือกตั้ง สว.67 คือการคัดเลือกคุณสมบัติ วินิจฉัยใครเคยต้องโทษ หรือถือหุ้นสื่อบ้าง เหตุมีผู้สมัครหลายหมื่นคน พนักงาน กกต.มีไม่เพียงพอ เป็นปัญหาใหญ่ แต่กำลังเร่งแก้เต็มที่ ทุ่มงบกว่า 20 ล้านให้ฝ่ายทะเบียนตรวจสอบอย่างรวดเร็ว

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ที่ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. สำนักงาน กกต.จัดประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา "สาระรอบรู้เรื่อง สว. ปี 67"  

นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการ กกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้ง สว.เป็นความยากลำบากอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากกรรมการระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน เลขาระดับอำเภอ คือพนักงาน กกต.หรือข้าราชการของอำเภอ ผู้เกี่ยวข้องกำลังจะประสานเป็นแนวทางเดียวกันแล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะให้การปฏิบัติงานระดับอำเภอ เป็นแนวทางเดียวกัน

1.เมื่อมีผู้มาสมัครแล้ว ผู้นั้นกล่าวอ้างว่า สมมติ อยู่ในกลุ่มที่ 10 มีหลักฐานทำอย่างไร กรรมการระดับอำเภอที่ จ.นครราชสีมา มี 32 อำเภอ จะปฏิบัติได้ในลักษณะเดียวกัน และปฏิบัติเหมือนกับอำเภอที่จังหวัดอื่น ๆ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง สำหรับ 900 กว่าอำเภอทั่วประเทศ ผู้ที่จะเป็นจักรกลสำคัญคือ นายอำเภอ และเลขา รวมทั้งกรรมการ ต้องร่วมกันวินิจฉัยว่า ผู้สมัครอยู่ในกลุ่มนั้นจริงหรือไม่
    
2.การตรวจคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ที่มาสมัคร จำนวนหลายหมื่นคน เท่าที่คาด สำหรับ 900 กว่าอำเภอ อำเภอละ 20 กลุ่ม รวมกว่า 18,000 กลุ่ม ถ้ามีผู้สมัครแค่กลุ่มละ 5-10 คน ก็เป็นแสนแล้ว มากกว่าสมัคร สส.เป็นจำนวนมาก การตรวจคุณสมบัติ การตรวจลักษณะต้องห้าม ทำอย่างไรจะเสร็จได้รวดเร็ว มีเวลาแค่ 5 วัน 7 วัน แต่ให้นึกถึงจำนวนนี้ คนซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญคือ นายอำเภอ และกรรมการอำเภอ ถ้าอำเภอไหน จังหวัดไหน พนักงาน กกต.ไม่ได้ไปเป็นเลขา ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว พนักงาน กกต.ไม่สามารถเป็นเลขาได้หมด เพราะจังหวัดหนึ่ง มีหลายอำเภอ แต่ กกต.มีพนักงานเลือกตั้ง พนักงานสอบสวนไม่ถึง 10 คน นี่คือปัญหาและอุปสรรค

นายปกรณ์ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน จะต้องวินิจฉัยคุณสมบัติ จะต้องวินิจฉัยลักษณะต้องห้าม เหมือนกันจะต้องมาดูว่า เคยกระทำความผิดหรือไม่อย่างไร เคยต้องโทษจำคุกหรือไม่อย่างไร โทษจำคุกเป็นลักษณะใด เป็นเรื่องยุ่งยากมาก แต่ที่ยุ่งยากมากกว่าคือ เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในสื่อที่เกี่ยวกับการโฆษณาหรือไม่ ท่านจะต้องวินิจฉัย ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในไม่เกิน 7 วัน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กกต.กับสำนักทะเบียน พยายามร่วมมือกันเพื่อพัฒนาจุดนี้ อนุมัติเงินให้สำนักทะเบียนกว่า 20 ล้านบาท เป็นการเร่งด่วน สำนักทะเบียนพิจารณาใบสมัคร ตรวจสอบเลขทะเบียน ภูมิลำเนา ส่วนที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทางทะเบียนอย่างรวดเร็ว 
    
“แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือผู้นี้เคยต้องโทษหรือไม่ เคยกระทำผิดหรือไม่ เคยผิดเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ทำอย่างไรให้เสร็จใน 5-7 วัน เป็นเรื่องยุ่งยากของเรามาก แต่ต้องทำให้ได้ ทำอย่างไรจะประสานร่วมมือกับเรือนจำ ศาลทั่วประเทศ สำนักทะเบียนต่าง ๆ เพื่อทราบสิ่งนี้ เรากำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา แม้จะมีปัญหาในการตีความ เราก็กำลังให้ฝ่ายกฎหมาย ถือข้อวินิจฉัยให้เป็นยุติ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยมาเมื่อสัปดาห์ก่อนอย่างเป็นทางการ ทำอย่างไรจะถือปฏิบัติได้เหมือนกัน เป็นลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ 900 กว่าอำเภอ นี่คือปัญหาที่ฝ่ายบริหารกำลังเร่งแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ฝากทุกจังหวัดด้วยความห่วงใย สิ่งที่ทำต้องยึดกฎหมายและระเบียบเป็นหลัก ขั้นตอนต่าง ๆ ระยะเวลา 2 อย่างนี้สำคัญ ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นายปกรณ์ กล่าว