มิตรภาพ “ทักษิณ-ฮุนเซน” เจรจาเกาะกูดเข้าทางใคร?

มิตรภาพ “ทักษิณ-ฮุนเซน” เจรจาเกาะกูดเข้าทางใคร?

การเดินทางมาเยี่ยม นายทักษิณ ชินวัตร ของ “สมเด็จฮุนเซน” อดีตนายกรัฐมนตรี กัมพูชา ทันทีที่ได้รับ “พักโทษ” และกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า สะท้อนสายสัมพันธ์ที่ทั้งสองมีต่อกันได้เป็นอย่างดี

ในทาง “ส่วนตัว” ถือว่านี่คือ การแสดงออกเยี่ยง “มหามิตร” ที่พึงกระทำ โดยไม่มีอะไรที่ต้องรีรอแต่อย่างใด

แต่ทางการเมือง ในฐานะผู้กุมบังเหียนรัฐบาลกัมพูชา แม้ว่า จะเป็นอดีตผู้นำอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม การเดินทางมาพบ อดีตผู้นำไทย ที่หลายคนเชื่อว่า มีบทบาทสูงในการตัดสินใจทางการเมือง น่าจะมีเบื้องหลังมากกว่ากระชับสัมพันธ์ส่วนตัวหรือไม่   

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ชี้ให้เห็นผ่านโพสต์เฟซบุ๊ก ว่า

จาก กรณี “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางมาเยือนไทยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 รัฐบาลแถลงว่า ได้คุยกันเรื่องแบ่งผลประโยชน์ในแหล่งปิโตรเลียม

หลังจากนั้น วันที่ 21 กุมภาพันธ์ สมเด็จฮุนเซน มาเยี่ยมนายทักษิณที่บ้าน นายกฯเศรษฐา(ทวีสิน) ก็แถลงเองว่า ฮุนเซน เชิญ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปกัมพูชา “อุ๊งอิ๊ง” ก็บอกจะไปคุยเรื่องผลประโยชน์ระหว่าง 2 ประเทศ

“มันต่อเนื่องกันมาแบบนี้จะให้เราคิดอย่างไรได้ละครับ”....

ก่อนหน้านี้ (26 ก.พ.67) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ก็ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กเช่นกัน โดยประเด็นที่น่าสนใจ หนีไม่พ้น การเจรจาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกาะกูดที่ไทย-กัมพูชา ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ  

น.ส.รสนา เริ่มจากประเด็นคำถาม คนไทยได้อะไรถ้า “ทักษิณ - ฮุนเซน” ตกลงผลประโยชน์ก๊าซในทะเลได้สำเร็จ !?!

พร้อมกับย้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาลากเส้นอาณาเขตทางทะเลผ่านเกาะกูดซึ่งเป็นของประเทศไทย(ตามสัญญา ไทย-ฝรั่งเศส เฉพาะพื้นที่บนบก ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ เพื่อแลกกับจันทบุรี ตราด และเกาะกูด มาเป็นของไทย)

แต่กัมพูชาตีเส้นเขตแดนผ่านเกาะกูดล้ำเข้ามาในดินแดนไทย โดยไม่มีข้อบัญญัติทางกฎหมายทะเลรับรอง ต่อมาในปี 2516 รัฐบาลไทย สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ลากเส้นเขตแดนไทยโดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง ตามกฎหมายทะเล

การลากเส้นของกัมพูชา และไทยทำให้เกิดเป็นพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิว่า ทับซ้อนกันขนาดใหญ่มากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี2516 เป็นต้นมา กล่าวกันว่า พื้นที่ที่มีการอ้างสิทธินั้น เป็นแหล่งที่อุดมด้วยปิโตรเลียมมูลค่าถึง 20 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

รัฐบาลไทยรักไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งในปี 2544 หลังชนะการเลือกตั้งก็แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ในปี 2544 โดยใช้เวลาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียง 77 วินาที ทั้งที่เคยหาเสียงว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ที่มี พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ (กฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) แต่พอได้เป็นรัฐบาล ก็ใช้กฎหมายดังกล่าว แปรรูป ปตท.ในปีเดียวกันทันที

หลังจากนั้นก็มีการทำ MOU 2544 เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กับกัมพูชา เรื่องปิโตรเลียมในพื้นที่ที่อ้างว่าทับซ้อนกัน โดยกำหนดว่า พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศา เป็นพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขตแดน ส่วนพื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาจะมาตกลงแบ่งผลประโยชน์กัน และใน MOU ก็ระบุว่า ทั้งการแบ่งเขตแดน และแบ่งผลประโยชน์จะทำไปพร้อมๆกัน แต่ทั้ง ทักษิณ และฮุนเซ็น ยังตกลงผลประโยชน์ไม่สำเร็จ รัฐบาลทักษิณก็ถูกรัฐประหารไปเสียก่อนในปี 2549

รัฐบาลทั้งพรรคของทักษิณ และรัฐบาลจากการรัฐประหารหลังจากนั้น มีความพยายามจะเจรจากับกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทางทะเลที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันดังกล่าว แต่ไม่ประสบความสำเร็จตลอดมา

จนเมื่อทักษิณยอมกลับมารับโทษ ในรัฐบาลที่เป็นพรรคของตัวเอง และได้รับการอภัยโทษ จนมาถึงการพักโทษ สิ่งที่ต้องจับตามองคือการมาเยี่ยมทักษิณของสมเด็จฮุนเซ็นทันทีที่นักโทษชายได้รับการพักโทษถึงบ้านพัก เป็นการมาเยี่ยมเยียนกันแบบข้ามหัวรัฐบาลไทย ข้ามหัวนายกรัฐมนตรี และข้ามหัวรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แสดงว่าฮุนเซ็นรู้ดีว่า อำนาจแท้จริงในการเคาะตกลงผลประโยชน์เรื่องก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธิ์อยู่ที่ใคร ใช่หรือไม่

แม้แต่สื่อญี่ปุ่น Nikkei (21 ก.พ. 2567)ยังลงข่าวว่า “บุรุษทั้งสองที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลปัจจุบันของทั้งสองประเทศ มีความชัดเจนว่า เป้าประสงค์ของการเยี่ยมเยียนในครั้งนี้คือการช่วยให้การเจรจามีความคืบหน้าเรื่องการต่อรองผลประโยชน์เกี่ยวกับแหล่งก๊าซในพื้นที่อ้างสิทธิว่าทับซ้อนกัน” (Both men have strong influence on the current governments of both countries. It appears that the aim of this visit is to make progress in negotiations regarding territorial rights over gas fields. ) โดยที่ครั้งนี้ ต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าของรัฐบาลของตัวเองที่มีทายาทเป็นนายกรัฐมนตรี และอีกฝ่ายแม้ทายาทยังไม่ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เป็นหัวหน้าพรรค ที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในอนาคตอันใกล้ ใช่หรือไม่

“มาดูกันว่า คนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากทรัพยากรในอ่าวไทย ถ้ารัฐบาลไทยที่มีนายทักษิณเป็นเจ้าของ และรัฐบาลกัมพูชาที่มี ฮุนเซ็น เป็นเจ้าของ สามารถตกลงแบ่งผลประโยชน์กันได้ลงตัว โดยอ้างว่า เขตแดนแผนที่ทางทะเลให้พักเอาไว้ก่อน ขอเอาก๊าซและน้ำมันมาใช้เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันให้คนไทยก่อน” รสนา ขมวดปมให้เห็น

นอกจากนี้ ยังชี้ประเด็นอีกว่า ตั้งแต่ปี 2516 พื้นที่ที่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนดังกล่าวนี้ ถูกปล่อยทิ้งไว้ แต่ขอให้ดูแผนที่ที่นำมาให้ดู จะเห็นว่า มีบรรษัทพลังงานข้ามชาติเป็นผู้จับจองสัมปทานไว้เกือบเต็มพื้นที่แล้ว ทั้งเชฟรอน และ BG เครื่องหมายสีแดงที่ขีดไว้ คือบริษัทที่เคยจับจองสัมปทานไว้ โดยรัฐบาลหลังจากปี2516 ไม่ได้ยกเลิกการจับจองสัมปทานเลย ใช่หรือไม่

ดังนั้นการเปิดพื้นที่ทางทะเลมาแสวงหาประโยชน์ทั้งก๊าซและน้ำมัน ร่วมกับกัมพูชา จะตกเป็นผลประโยชน์ของบรรษัทต่างชาติเป็นหลัก ใช่หรือไม่

หรือแม้จะมีส่วนแบ่งให้รัฐบาลไทยบ้างเล็กน้อย ตามระบบแบ่งปันผลผลิต ที่รัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่แท้จริงมาจัดการกับส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่ได้ ก็ต้องอาศัยบริษัทเอกชนนายหน้าช่วยจัดการให้นั้น ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลย่อมตกกับบรรษัทต่างชาติ และบริษัทด้านพลังงานเอกชนเป็นหลัก ใช่หรือไม่

ประชาชนคนไทยจะได้ผลประโยชน์บ้างก็เป็นส่วนน้อยมาก ตราบเท่าที่โครงสร้างราคาพลังงานยังถูกคุมด้วยกลุ่มทุนพลังงานผ่านนักการเมืองที่ต้องตอบสนองต่อกลุ่มทุนที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับพรรคการเมือง ใช่หรือไม่

ประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงการเสียดินแดนและเสียประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลเพิ่มขึ้น จากการกระทำของนักการเมืองและกลุ่มทุนพลังงานที่เห็นแต่ผลประโยชน์ตัวเอง ใช่หรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น “รสนา” ยังย้อนให้เห็นปัญหาเสียดินแดนในอดีตก็มาจากการตัดสินใจผิดพลาดของรัฐบาลพรรคทักษิณ

โดยระบุว่า ขอให้คนไทยจดจำเรื่องปราสาทเขาพระวิหารที่เริ่มจากการที่รัฐบาลพรรคทักษิณยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหารฝ่ายเดียว แทนที่จะตกลงขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน 2 ประเทศ

เพราะฮุนเซ็นต้องการใช้ การทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารจากไทย เป็นประเด็นการเมืองเพื่อให้เขาชนะเลือกตั้ง ใช่หรือไม่

จากประเด็นขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร ลามรุกคืบมาจนถึงการฟ้องศาลโลกเพื่อเอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปเป็นของกัมพูชา

โดยที่ศาลโลกเมื่อปี2505 ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับเนื้อที่ การวินิจฉัยเฉพาะปราสาทเขาพระวิหาร และระบุพร้อมกับพื้นที่ตั้งประสาทเขาพระวิหารแคบๆ (Vicinity) ขนาดความกว้าง 1 เมตรรอบปราสาทเขาพระวิหาร และที่กษัตริย์สีหนุยอมรับกับรัฐบาลไทยตามนั้น

แต่จากการดำเนินการต่อมาของนักการเมืองในพรรคดังกล่าว กลับกลายเป็นไทยต้องเสียดินแดนภูเขาที่ตั้งปราสาทเขาพระวิหาร เนื้อที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กับกัมพูชา เริ่มต้นจากการที่พรรคการเมืองของทักษิณยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ใช่หรือไม่ !!??

ในอดีตจะเห็นว่า กัมพูชาหาทางรุกคืบดินแดนของไทย เริ่มจากการฟ้องเอาปราสาทเขาพระวิหารคืนในปี 2505 พอปี2515 ก็ตีเส้นล้ำเข้ามาในดินแดนทางทะเลของไทยโดยตัดผ่านเกาะกูดของไทยเข้ามา ไทยต้องตีเส้นตามกฎหมายทะเลออกไปในปี 2516 ย่อมเห็นได้ชัดว่านักการเมืองของกัมพูชาให้ความสำคัญกับเรื่องดินแดน จึงหาทางรุกคืบดินแดนไทยตลอดมา ใช่หรือไม่?

เมื่อมีรัฐบาลไทยที่ไม่สนใจเรื่องเขตแดนของประเทศ มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนที่มักอ้างว่าเพื่อประชาชน ประเทศก็สุ่มเสี่ยงในการสูญเสียดินแดน และทรัพยากรที่ประชาชนคนไทยควรได้รับ ใช่หรือไม่

“พื้นที่ในทะเล 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่ยังไม่แบ่งอาณาเขตให้ชัดเจน คนไทยอาจต้องเสียทั้งอาณาเขตทางทะเล และทรัพยากรในดินแดนไทยรวมถึงเกาะกูดให้กัมพูชาอีกก็เป็นได้ในอนาคต เพราะวิธีการรุกคืบแบบกัมพูชา ใช่หรือไม่” รสนา สรุปตรงประเด็น....

สำหรับ “ทักษิณ” กับ “สมเด็จฮุนเซน” เป็นที่ทราบกันดีว่า มีเบื้องหลังช่วยเหลือเกื้อกูลกันมานาน

ที่เห็นได้ชัด สมัย “ทักษิณ” เป็นนายกฯ รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนา และการลงทุนของรัฐบาลสมเด็จฮุนเซน หลายโครงการ แม้ด้านหนึ่ง ถูกมองเรื่องผลประโยชน์ร่วมกันก็ตาม

นอกจากนี้ ช่วงปลายปี 2552 “ทักษิณ” ซึ่งพ้นจากอำนาจหลังการรัฐประหารปี 2549 ยังได้รับเกียรติจากสมเด็จฮุนเซน แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

รวมถึง กรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลกัมพูชา ให้ส่งตัว “ทักษิณ” กลับไทย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไม่รวมถึงกรณีนักโทษทางการเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จฮุนเซน ยังเคยอนุญาตให้ “ทักษิณ” จัดกิจกรรมเล่นสงกรานต์กับมวลชนคนเสื้อแดงจากประเทศไทย เมื่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 โดยมีแกนนำ นปช. มวลชนเสื้อแดง รวมทั้งรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น อย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไปร่วมกิจกรรมด้วย

ทั้งยังร้องเพลงสรรเสริญสดุดีบนเวทีคอนเสิร์ตให้สมเด็จฮุนเซน โดยประพันธ์คำร้อง ทำนองและขับร้องโดยนายวิสา คัญทัพ นักคิด นักเขียน และนักแต่งเพลงชื่อดัง

ยิ่งกว่านั้น ในงานวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จฮุนเซน เมื่อ 5 สิงหาคม 2566 ก่อน “ทักษิณ” จะเดินทางกลับประเทศไทยไม่กี่วัน เขาและน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ อีกคน ยังได้รับเชิญไปร่วมงานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี และเป็นแขกภายนอกเพียง 2 คน ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของสมเด็จฮุนเซน...

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่หลายคนห่วง ว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่ได้เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับที่ต้องสูญเสีย ในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเล ก็มีเหตุผล เพราะเคยพลาดพลั้งเสียเปรียบมาแล้วในอดีต

รวมถึง การให้ความสำคัญกับดินแดนเกาะกูด ซึ่งเชื่อว่า “กัมพูชา” ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จะลงเอยอย่างไร

แต่ดูจากเกมรุกของ “กัมพูชา” แบบ “ถึงลูกถึงคน” ขนาดนี้หากเห็นแก่สายสัมพันธ์ ผลประโยชน์ส่วนตัวเมื่อไหร่ เข้าทาง “สมเด็จฮุนเซน” แน่นอน เว้นแต่ “คนไทย” จะไม่ยอมเท่านั้น!?