สงครามชิง ‘เกาะภูเก็ต’ เรวัตหยัดได้ปะทะพิธา

สงครามชิง ‘เกาะภูเก็ต’  เรวัตหยัดได้ปะทะพิธา

ชิงรุกเร็ว พิธา เปิดตัวหมอเลอศักดิ์ ชิงนายก อบจ.ภูเก็ต ปลุกกระแสสีส้ม ล้มนายกฯเรวัต ทีมภูเก็ตหยัดได้ ไม่ถอย เร่งตีปี๊ปผลงาน

สมรภูมิท้องถิ่นภูเก็ตเดือด พิธาพ่วงหมอโอ ต่อจิ๊กซอว์สุดท้ายสู่เป้า หมายส้มทั้งเกาะ นายกฯเรวัตอิงฐานเสียงขั้วอนุรักษนิยมต้านก้าวไกล

ภูมิทัศน์การเมืองภูเก็ต เกาะนี้เป็นสีฟ้ามานานกว่า 2 ทศวรรษ เลือกตั้งปี 2566 ก็เปลี่ยนเป็นเกาะสีส้ม ศึก อบจ.ครั้งใหม่จะเป็นสีอะไร

สงครามชิง ‘เกาะภูเก็ต’  เรวัตหยัดได้ปะทะพิธา

หลังอุ่นเครื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ได้ฤกษ์เปิดตัว นพ.เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ รพ.วชิระภูเก็ต เป็นว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2567

เนื่องจากพรรคก้าวไกล มี สส.ภูเก็ต 3 คนคือ สมชาติ เตชถาวรเจริญ,เฉลิมพงศ์ แสงดี และฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล จึงขอต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะเปลี่ยนชีวิตคนภูเก็ต ด้วยเก้าอี้นายก อบจ.

‘หมอโอ’ หรือ นพ.เลอศักดิ์ เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด ก่อนจะไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ที่กรุงเทพฯ และไปใช้ทุนในภาคอีสาน กลับมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านด้านศัลยกรรมประสาท จบแล้วก็เลือกมาอยู่ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ

4 ปีที่แล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ส่ง อัฐ-สรวุฒิ ปาลิมาพันธ์ แกนนำม็อบภูเก็ตไม่ทน ลงสมัครนายก อบจ.ภูเก็ต แต่แพ้ เรวัติ อารีรอบ อดีต สส.ภูเก็ต 2 สมัย

สรวุฒิเป็นทายาทนายหัวภูเก็ต ซึ่งคนในตระกูลปาลิมาพันธ์ เคยลงสมัคร สส.ภูเก็ต มาหลายหนแต่ไม่ถึงฝั่งฝัน

เลือกตั้งท้องถิ่นเที่ยวหน้า ก้าวไกลขอส่งหมอลูกชาวบ้านลงสนาม โดยหวังภูเก็ตแลนด์สไลด์ ตอนเลือกตั้ง สส. จะช่วยให้ฝันเป็นจริง

เสรีนิยมเหนืออนุรักษนิยม

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และแกนนำพรรคก้าวไกล สรุปบทเรียนจากปี 2563 จึงงัดกลยุทธ์ขายพ่วง ‘รักพิธาเลือกหมอโอ’ 

ไม่ต้องรอเลือกพิธาเป็นนายกฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ต้นปี 2568 รักพิธาก็เลือกหมอโอ เป็นนายก อบจ.ภูเก็ตได้เลย

จากสถิติการเลือกตั้ง สส.ภูเก็ต ปี 2566 พรรคก้าวไกล ได้คะแนน สส.บัญชีรายชื่อเกือบ 1 แสนคะแนน คิดเป็นร้อยละ 41 จากผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 235,077 คะแนน    

ขณะที่อันดับ 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กว่า 7 หมื่นคะแนน ซึ่งเป็นคะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ และสะท้อนฐานเสียงอนุรักษนิยมในเกาะภูเก็ต     

ย้อนไปการเลือกตั้ง สส.ภูเก็ต ปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ได้เกือบ 6 หมื่นคะแนน และพรรคอนาคตใหม่ ได้ 4 หมื่นคะแนน

ท้องถิ่นนิยมชนะกระแส

การเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต เมื่อปี 2563 เป็นการต่อสู้ระหว่างท้องถิ่นนิยมกับกระแสสีส้ม

สงครามชิง ‘เกาะภูเก็ต’  เรวัตหยัดได้ปะทะพิธา

เรวัต อารีรอบ อดีต สส.ภูเก็ต พรรค ปชป. ลงสนามไม่สวมเสื้อสีฟ้า แต่เลือกแบรนด์ท้องถิ่น-ทีมภูเก็ตหยัดได้ (หยัดได้ หมายถึงไว้ใจได้) 

จิรายุส ทรงยศ ลงสมัครในนามทีมคนบ้านเรา ซึ่งเป็นทีมของนายกฯเก่า ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ 

ส่วน สรวุฒิ ปาลิมาพันธ์ ลงสมัครในนามคณะก้าวหน้าภูเก็ต อาศัยกระแสธนาธรเป็นหลัก

ผลเลือกตั้งปรากฏว่า เรวัต ทีมภูเก็ตหยัดได้ กวาดไป 83,144 คะแนน รองลงมา จิรายุส ทีมคนบ้านเรา ได้ 50,914 คะแนน และสรวุฒิ คณะก้าวหน้า ได้ 20,073 คะแนน

จากผลคะแนนข้างต้น สะท้อนแบรนด์ท้องถิ่นนิยม ยังเหนือกว่ากระแส ธนาธร หรือแบรนด์คณะก้าวหน้า

พลิกแฟ้มเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต ‘โกนิด’ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ มาจากตระกูลเก่าแก่ของเมืองภูเก็ต มีฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ได้สร้างแบรนด์ท้องถิ่น-ทีมคนบ้านเรา ลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต

การเลือกตั้งปี 2551 โกนิด ไพบูลย์ เอาชนะอัญชลี วานิช เทพบุตร อดีตนายก อบจ.ภูเก็ต ในสีเสื้อพรรค ปชป. และปี 2555 โกนิดรักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกสมัย ก่อนจะเสียชีวิตในปี 2558

ช่วงปี 2544-2554 กระแสพรรค ปชป.มาแรง กวาด สส.ได้เกือบยกภาค แต่การเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต กลับพ่ายแบรนด์ทีมคนบ้านเรา

แบรนด์ภูเก็ตหยัดได้


เรวัต อารีรอบ เป็นสมาชิกพรรค ปชป.มาตั้งแต่ปี 2529 กระทั่งปี 2550 พรรค ปชป.ก็เลือกให้เขาลงสมัคร สส.ภูเก็ต คู่กับทศพร เทพบุตร ตัวแทนบ้านใหญ่ภูเก็ต

ปี 2554 คนใต้ไม่เอาระบอบทักษิณ เรวัตจึงได้เป็น สส.ภูเก็ต สมัยที่ 2 ได้คะแนนทิ้งห่างคู่แข่งประมาณ 2 หมื่นคะแนน

สงครามชิง ‘เกาะภูเก็ต’  เรวัตหยัดได้ปะทะพิธา
การเลือกตั้งปี 2562 เรวัต สวมเสื้อสีฟ้าลงสนาม แต่พ่ายกระแสลุงตู่ กลายเป็น สส.สอบตก แต่ก็ได้ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ รมช.สาธารณ สุข (สาธิต ปิตุเตชะ)

ต่อมา เรวัตตัดสินใจทิ้ง ปชป.ลงสนามการเมืองท้องถิ่น ในนามทีมภูเก็ตหยัดได้ และมีคู่แข่งอย่างโกยุส-จิรายุส ทรงยศ ลงสมัครในนามทีมคนบ้านเรา ของอดีตนายกฯไพบูลย์

โชคดีของเรวัต เมื่อ สจ.เก่าของทีมคนบ้านเราหลายคนย้ายมาสวมเสื้อทีมภูเก็ตหยัดได้ จึงทำให้ทีมแชมป์เก่า 2 สมัยไม่เป็นเอกภาพ

อีกอย่าง ‘เจ้กี่’ ธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีต สว.ภูเก็ต ภรรยาของประมุขพิสิฐ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมการ โรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป ในเบื้องต้นประกาศว่า จะลงสมัครนายก อบจ.ภูเก็ต แต่ภายหลัง เจ้กี่-ธันยรัศม์ ถอนตัวไม่ลงสมัคร และหันไปช่วยเรวัต

ด้วยเหตุนี้ เรวัต อารีรอบ จึงโกยคะแนนไปกว่าครึ่งแสน เอาชนะทั้งโกยุส และตัวแทนคณะก้าวหน้า ได้เป็นนายก อบจ. โดยอาศัยแบรนด์ท้องถิ่นนิยม

การเลือกตั้งนายก อบจ.ภูเก็ต ต้นปี 2568 จะเป็นศึกใหญ่หลวงของ เรวัต เพราะบริบทการเมืองภูเก็ตเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กระแสพิธายังมาแรง บวกกับหมอโอ นพ.เลอศักดิ์ วัย 40 ต้นๆ มีความโดดเด่นในทุกด้าน

สมรภูมิท้องถิ่นภูเก็ต จึงจะเป็นการพิสูจน์มนต์ขลังพิธา โดยมีเรวัตหยัดได้ หรือทีมภูเก็ตหยัดได้ ชูธงท้องถิ่นนิยม ตีฝ่ากระแสก้าวไกล จะสำเร็จหรือไม่ คนภูเก็ตจะให้คำตอบ