ปมร้อนหลังพักโทษ “ทักษิณ” ผิดกฎหมาย-ท้าทายความจริง

ปมร้อนหลังพักโทษ “ทักษิณ” ผิดกฎหมาย-ท้าทายความจริง

หลายคนคงคิดว่า หลังนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการ “พักโทษ” และรอพ้นโทษ ทุกอย่างจบไปแล้ว เหลือก็แต่คดีตาม ป.อาญา ม.112 ที่อยู่ในขั้นตอน อัยการสูงสุด สั่งสอบสวนเพิ่ม ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่

แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลายฝ่ายต่างตั้งข้อสงสัย ปมป่วยรุนแรงอย่างที่มีการกล่าวอ้างจริงหรือไม่ เข้าข่ายโกงขังคุกหรือไม่ รวมทั้งการได้รับพักโทษที่ขาดคุณสมบัติข้อสำคัญ ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจงใจไม่ยอมพูดถึงและยืนยัน

ทั้งหมดไม่แค่เป็น “ปมคาใจ” หากแต่มีการยื่นต่อ “ป.ป.ช.”คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ตรวจสอบแล้ว โดยป.ป.ช. รับเรื่องไว้ตรวจสอบเช่นกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะหลับหูหลับตา ปล่อยให้ใครบางคน “มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น” ทำลายกระบวนการยุติธรรมที่ต้องปฏิบัติต่อนักโทษอย่างเท่าเทียม ยิ่ง “ความเท่าเทียม-ความยุติธรรม” เป็นกระแสเรียกร้องแห่งยุคสมัยอยู่แล้ว ยิ่งรอดยาก

ที่น่าสนใจ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ป.ป.ช. เรื่อง ขอแจ้งเค้ามูลการพักโทษนายทักษิณโดยผิดกฎหมาย พร้อมแนบตัวอย่างแบบประเมินความสามารถช่วยตัวเองของผู้สูงอายุ มีเนื้อหาว่า

ด้วยได้ทราบว่าขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบว่า การพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่า คำสั่งพักโทษนี้มีเค้ามูลว่า ไม่ถูกต้อง จึงขอแจ้งข้อมูลมาเพื่อประกอบการตรวจสอบของท่านต่อไป ดังนี้

ข้อกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ ในประกาศกรมลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ได้วางหลักเกณฑ์ไว้เป็นองค์ประกอบสามประการประกอบกัน คือ

1.นักโทษอายุ 70 ปีขึ้นไป

2.รับโทษมาแล้วเป็นเวลา 6 เดือนหรือ 1/3 ของโทษตามหมายแจ้งโทษอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าเงื่อนเวลาใดจะยาวกว่ากัน

3.นักโทษนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย

โดยองค์ประกอบข้างต้น นักโทษสูงอายุที่ติดคุกมา 6 เดือนจะพักโทษได้หรือไม่นั้น สภาพร่างกายต้องเสื่อมถึงขนาดด้วย มิใช่ว่าอายุมากแล้วติดคุกมาระยะหนึ่ง ก็พักโทษได้เลย

ข้อเท็จจริง ตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เรื่องการพักโทษนายทักษิณ ระบุแต่เพียงเงื่อนไขทางอายุและเวลาที่ต้องโทษเท่านั้น มิได้ยืนยันระบุให้เห็นเลยว่า นายทักษิณ มีสมรรถภาพช่วยเหลือตัวเองได้เพียงใด ซึ่งเมื่อไม่มีการตรวจสอบให้ปรากฏองค์ประกอบในข้อนี้ การพักโทษที่ออกคำสั่งไปจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายอย่างปฏิเสธไม่ได้

คำขอ ขอให้ตรวจสอบว่า คำสั่งพักโทษนี้ได้มีการประเมินสมรรถภาพของนักโทษแล้วหรือไม่ มีหลักฐานตามใบประเมินของกรมอนามัยมาแสดงโดยได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 11 คะแนน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศหรือ ไม่ พร้อมกันนี้ผมก็ขอส่งตัวอย่างแบบประเมินมาเพื่อพิจารณาแล้วด้วย

อนึ่งการพักโทษผู้สูงอายุในรอบนี้กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าทั้งประเทศมี 8 คน ดังนั้นหากตรวจสอบพบว่าการพักโทษครั้งนี้มีนายทักษิณคนเดียวที่ไม่ได้ถูกประเมินสมรรถภาพ กรณีก็จะชัดเจนทันทีว่ามีความทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ส่วนเรื่อง 6 เดือนที่ผ่านมา นายทักษิณจะป่วยหนักถึงขั้นนอนโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ได้นั้น จะเป็นจริงหรือไม่ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่ต้องขอให้ทาง ป.ป.ช. เร่งตรวจสอบต่อไปให้ปรากฏความจริงด้วย

ก่อนหน้านี้(21 ก.พ.67) น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อดีตแกนนำเสื้อหลากสี นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กองทัพธรรม พร้อมคณะ  เข้ายื่นคำร้องต่อป.ป.ช. ผ่าน นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่นเดียวกัน  

โดย ขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและพวก ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ได้รับการพักการลงโทษ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมเร่งรัดให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยให้ ป.ป.ช.เชิญแพทย์ผู้เชียวชาญเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวของนายทักษิณมาสอบสวนเพิ่มเติม 

น.พ.ตุลย์ ชี้ว่า การพิจารณาพักโทษนายทักษิณ โดยอ้างว่าเพราะมีอายุ 70 ปี ถ้าเป็นกรณีพิเศษคือต้องช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ภาพที่คนทั้งประเทศเห็นนายทักษิณ ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนกรณีอ้างโรคร้ายแรงก็ต้องเป็นระดับโรคเอดส์ ไตวายเรื้อรังต้องมีการฟอก   ไม่ใช่โรคอะไรก็ได้ ที่สำคัญต้องติดเตียง แต่ 2 วันที่ผ่านมาคนทั้งประเทศก็เห็นว่านายทักษิณ เป็นอย่างไร จึงมองว่าเป็นเรื่องที่คาใจคนทั้งประเทศที่รักความเป็นธรรม

“ที่อยู่โรงพยาบาลมาตั้งแต่กันยายน 2566 แล้ว มีการปกปิดข้อมูล แต่มาถึงวันนี้ที่เราเห็นภาพของนายทักษิณ  มันเหมือนกับเป็นการแฉตัวเอง ว่าแท้จริงเป็นอย่างไร ฉะนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.น่าจะทำงานง่าย ซึ่งเราก็ได้เตรียมเอกสารของกรมราชทัณฑ์ที่เปิดเผยต่อสาธารณะเอามาเทียบเคียง ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ความจริงก็จะได้ปรากฏต่อคนทั้งประเทศ”

ด้าน นายพิชิต กล่าวว่า ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งในวันที่ 27 มีนาคมนี้  จะครบกรอบเวลา 180 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้น จึงต้องการมาเร่งรัด เพราะจากการให้สัมภาษณ์ของบุคคลต่างๆ และภาพนายทักษิณที่ปรากฏวันนี้ ชัดเจนว่าไม่ได้ป่วยตามที่มีการกล่าวอ้าง

ขณะที่ นายศรชัย ชี้แจงว่า ระยะเวลาตามระเบียบกฎหมายกำหนด เป็นกรอบเบื้องต้นที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานภายใน 180 วัน แต่หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถขยายเวลาในแต่ละขั้นตอนได้ หลัง ป.ป.ช.รับเรื่องนี้ในช่วงเดือนกันยายน 2566  เจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งเฉย อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ วันนี้มีการขอเอกสาร หลักฐาน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โรงพยาบาลตำรวจ รวมถึงเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง    ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่การทำงานของ ป.ป.ช.มีขั้นตอนกระบวนการอยู่ เมื่อรับเรื่องแล้วก็ต้องตรวจดูพยานหลักฐาน ไปหาพยานหลักฐานว่าจะตั้งไต่สวนได้เมื่อไร ยืนยันว่าถ้าข้อเท็จจริงพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อม และมีมูลความผิด ก็จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป

ทั้งนี้ถ้าหากย้อนกลับไปดูเส้นทางการกลับมารับโทษของนายทักษิณ เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้แต่วันเดียว

นับจาก วันที่ 22 สิงหาคม 2566 หลังจากนายทักษิณกลับมาสู่ประเทศไทยที่สนามบินดอนเมือง เขาถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ทันที โดยไม่ปรากฏภาพนั่งรถผู้ต้องขังหรืออุปกรณ์พันธนาการใด ๆ

จากนั้นศาลฎีกาฯ แจ้งคำพิพากษาจำคุกทักษิณรวม 8 ปี จาก 3 คดี ได้แก่ คดีสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้, คดีหวยบนดิน และคดีแก้ไขสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น

ต่อมาเขาถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยกรมราชทัณฑ์แถลงว่า ได้แยกคุมขังเดี่ยวที่แดน 7 เหตุเพราะว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง มี 4 โรค ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะเกี่ยวกับปอด ความดันโลหิตสูง และภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ

เช้าวันถัดมา กรมราชทัณฑ์ แถลงว่า ได้ส่งตัวนายทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ช่วงกลางดึกเวลา 00.20 น. หลังจากมีอาการแน่นหน้าอก

โดย รพ.ราชทัณฑ์ อ้างว่า มีเครื่องมือทางการแพทย์ไม่พร้อมจึงเห็นควรส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า และต่อมานายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ออกมาแถลงว่า นายทักษิณ รักษาตัวอยู่ที่ ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

หลังจากนั้น “ทักษิณ” ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566

กระทั่ง 1 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพระราชหัตถเลขา มีความตอนหนึ่งระบุว่า “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”

หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษจนเหลือ 1 ปี ความสนใจของสังคมและสื่อมวลชนพุ่งเป้าไปที่ การกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งของ “ทักษิณ” และระเบียบกฎหมายใดบ้างที่จะช่วยให้เขาไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำหรือไม่

โดยเฉพาะ ช่วงเดือนธันวาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ได้ออกระเบียบฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566

สาระสำคัญ คือการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ โดยเปิดทางให้คุมขังผู้ต้องขังใน “สถานที่สำหรับอยู่อาศัย” หรือ “สถานพยาบาล” ได้ โดยถือเป็นระยะเวลาจำคุก ทำให้ถูกวิจารณ์ว่า เอื้อประโยชน์ หรือแผ่อานิสงส์ให้แก่นายทักษิณหรือไม่

ปัญหาอยู่ที่สถานที่นั้นจะต้องถูกประกาศให้ใช้ในการคุมขังนักโทษหลายคน ไม่อาจเลือกปฏิบัติเพื่อคนหนึ่งคนใดได้ ซึ่ง ถ้าเป็น “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ก็จะต้องประกาศให้เป็นที่คุมขังนักโทษทั่วไปที่เข้าเกณฑ์ด้วย และถ้ามีการช่วยเหลือ ดูเหมือนเสี่ยงสูงที่จะถูกเอาผิดได้ง่าย

แม้ว่า ประเด็นอยู่ที่ “ทักษิณ” รักษาตัวนอกเรือนจำครบ 120 วัน ในวันที่ 21 ธ.ค. ซึ่งตาม กฎกระทรวง เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพ.ศ. 2563 ระบุว่า “หากพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ”

จึงจำเป็นต้องหาทางออก โดยมีทางเลือก สองทาง คือ “ทักษิณ” ยอมสละ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เพื่อเป็นสถานที่คุมขังร่วมของนักโทษที่เข้าเกณฑ์ และยอมอยู่ร่วมกับนักโทษคนอื่นได้ ซึ่งไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำ หรือ “ทักษิณ” ยอมรักษาตัวอยู่ รพ.ตำรวจต่อไปจนครบตามเงื่อนไข “พักโทษ” จำคุก 1 ปี คือ 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของโทษจำคุก แล้วแต่กรณีอันไหนระยะเวลายาวกว่ากัน

ส่วนการเคลื่อนไหว ที่ถือว่าน่าสนใจ ในการตรวจสอบว่า “ทักษิณ” ป่วยหนักจริงหรือไม่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ได้เดินทางไปขอศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ทว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังพื้นที่ที่ “ทักษิณ” พักรักษาตัวอยู่

นายชัยชนะ ระบุว่า ได้ขึ้นไปถึงชั้น 14 “เห็นเจ้าหน้าที่” แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า นายทักษิณรักษาอยู่ในห้องผู้ป่วยหรือไม่ เพราะโรงพยาบาลตำรวจไม่อนุญาตให้เข้าตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล...

สุดท้าย “ทักษิณ” เลือก “พักโทษ” เพื่อกลับมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพียงคนเดียว และไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำอีก ส่วนเงื่อนไขอาการป่วยที่จะต้องพักรักษาตัวต่อที่ รพ.ตำรวจจนถึง 180 วัน หรือ 6 เดือน เป็นหน้าที่ของ แพทย์ผู้รักษาใน รพ.ตำรวจ กรมราชทัณฑ์ และ รมว.ยุติธรรม ที่จะต้องชี้แจง

แล้วก็เป็นไปตามคาด กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีนายทักษิณรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกิน 120 วัน(ลงวันที่12 ม.ค. 2567) ว่า ต้องให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจต่อไป “เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต”

ในที่สุดเมื่อใกล้ครบ 6 เดือน รมว.ยุติธรรม-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ก็ออกมายอมรับครั้งแรกว่า ชื่อ “ทักษิณ” เป็น 1 ในนักโทษจำนวน 945 คน ที่ได้รับการพักโทษ โดยการพิจารณาของคณะกรรมการพักโทษ ซึ่งพิจารณาเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอมา

และกล่าวด้วยว่า นายทักษิณเข้าเกณฑ์เป็นผู้ที่เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป

“การพักโทษอยู่ในกฎหมายราชทัณฑ์มาตรา 52 ซึ่งการที่จะพิจารณาบุคคลที่พักโทษจะต้องรับโทษมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน หรือรับโทษมา 1 ใน 3 หากอันไหนมากกว่ากันก็ใช้อันนั้นเป็นเกณฑ์ โดยต้องมีโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 10 ปี ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย การพักโทษดังกล่าวถือเป็นเกณฑ์ตามปกติ เพราะในแต่ละเดือนเฉลี่ยแล้วตัวเลขจะอยู่ประมาณนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เสนอมา 1,000 คน ก็ได้รับการอนุมัติประมาณ 930 คน”

ประเด็น จึงอยู่ที่ว่า นับแต่ “ทักษิณ” กลับมารับโทษในความผิดคดีทุจริต 3 คดี โทษจำคุก 8 ปี ก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี ไม่ปรากฏว่า “ทักษิณ” ได้รับโทษจำคุกแม้แต่วันเดียว(อยู่เรือนจำไม่เต็มวัน)

ท่ามกลางกระแสเรียกร้อง ให้ออกมาเปิดเผยเรื่องอาการป่วย ว่า ป่วยหนักจริง จนรพ.ราชทัณฑ์ รักษาไม่ได้จริงหรือไม่ และจำเป็นต้องรักษายาวนานถึง 6 เดือนจริงหรือ

แต่ความจริงที่ปรากฏ ในวันที่ “ทักษิณ” ได้รับการ “พักโทษ” กลับเป็นคนละเรื่องกับในช่วงพักรักษาตัว ที่ กรมราชทัณฑ์ กล่าวอ้าง ว่า วิกฤตถึงขั้นเสี่ยงเสียชีวิต

นี่คือ การหลอกประชาชนหรือไม่ และท้าทาย “ความจริง” แท้ โดยไม่สนใจ ว่า ประชาชนจะคิดอย่างไร ยอมรับได้หรือไม่ โดยเฉพาะคนที่รักความเป็นธรรม

ขณะเดียวกัน คดีที่ “ป.ป.ช.” กำลังตรวจสอบอยู่ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จะ “เอาผิด” ใครได้บ้าง หรือไม่

อันจะเป็นการพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ว่า เป็นที่พึ่งของ “ทุกคน” โดย “เสมอภาค-เท่าเทียม” หรือไม่ เมื่อเทียบกับคนมีเงิน มีอำนาจบารมี!?