สว.สถิตย์ แนะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลุยตรวจเชิงรุกหลังพบละเมิดลิขสิทธิ์ กางเกงช้าง

สว.สถิตย์ แนะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลุยตรวจเชิงรุกหลังพบละเมิดลิขสิทธิ์ กางเกงช้าง

สว.สถิตย์ แนะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกกางเกงลายศิลปะท้องถิ่น คุมเข้มด่านชายแดนของไทย ล้อมคอกหลังเกิดปมละเมิดลิขสิทธิ์ กางเกงช้าง

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ในที่ประชุมวุฒิสภา วาระการปรึกษาหารือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ุ สมาชิกวุฒิสภา ได้ขอหารือเรื่องการคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ ด้วยกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญา

นายสถิตย์ ได้อ้างถึงบทสัมภาษณ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ากางเกงช้างซึ่งมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แบบศิลปะไทยลักษณะลวดลายช้างได้มีการสร้างสรรค์โดยคนไทย มีการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบย่านการค้าสำคัญ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย และยังได้ร่วมกับกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกด่านชายแดนของไทย

 นายสถิตย์ กล่าวต่อไปว่า กางเกงที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบศิลปะไทยที่สร้างสรรค์โดยคนไทยยังมีอีกจำนวนมาก เช่น กางเกงแมว จังหวัดนครราชสีมา กางเกงลิง จังหวัดลพบุรี กางเกงกระซิบรัก จังหวัดน่าน กางเกงลายหอย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กางเกงปูก้ามดาบจังหวัดสมุทรสาคร กางเกงไก่ชน จังหวัดพิษณุโลก กางเกงไดโนเสาร์ จังหวัดขอนแก่น กางเกงมังกร จังหวัดนครสวรรค์ กางเกงปลาทู จังหวัดสมุทรสงคราม กางเกงวัวลาน จังหวัดเพชรบุรี กางเกงปลาแรด จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น จนกระทั่งจะกลายเป็นหนึ่งกางเกงหนึ่งจังหวัดไปแล้ว

นายสถิตย์ ได้หารือประธานวุฒิสภาผ่านไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้ทำงานในเชิงรุก ในการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และอำนวยความสะดวก ในการจดยื่นลิขสิทธิ์กางเกงลายศิลปะไทยทั้งหลาย ทั้ง การยื่นที่กระทรวงพาณิชย์  ที่พาณิชย์จังหวัด และการยื่นออนไลน์ เพื่อคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์อันเป็นงานศิลปะของคนไทย ให้คงไว้ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศ

นายสถิตย์ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า แท้ที่จริงแล้วศิลปะสร้างสรรค์ลายไทยดังกล่าว เมื่อได้สร้างสรรค์แล้วย่อมมีลิขสิทธิ์ในตัวเอง เพียงแต่หากยื่นจดแจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฏหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกระทำได้โดยเพียงการจดแจ้งลิขสิทธิ์ เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเป็นการจดทะเบียน ดังเช่น เครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตร แต่อย่างใด