'สว.วันชัย' หนุนดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ส่วน คดี112 แนะหาทางออกร่วมกัน

'สว.วันชัย' หนุนดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ส่วน คดี112 แนะหาทางออกร่วมกัน

"สว.วันชัย" หนุนดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วนคดี112 ต้องให้คณะกรรมการไปพิจารณาร่วมกัน แนะรัฐบาลเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีถก

ทึ่รัฐสภา สว.วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ยังมีความต่างในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ตนเองเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 20 ปี อะไรที่จบได้ควรจบ เลิกได้ควรเลิก ยุติได้ควรยุติ อย่าให้เป็นบาดแผลที่มีอยู่ในสังคมไทยอีกเลย แน่นอนว่าการเผาทำลายอาคารบ้านเรือนต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว ซ่อมแซมไปแล้ว คนบาดเจ็บล้มตาย ก็ต้องหาวิธีการเยียวยากันต่อไป แต่ความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน อาจเกิดการพูดจารุนแรง ทั้งทางกาย วาจา และความรู้สึก 

“แต่ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว คุณจะให้เรื่องแบบนี้เป็นบาดแผลในสังคมไทยไปทำไม ผมมองว่า ถ้าจบแล้ว แล้วเราเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ในบรรยากาศการเมืองเช่นนี้เหมาะอย่างยิ่ง เพราะการโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เป็นปฐมบทที่ชัดเจนของการปรองดอง เสมือนการนิรโทษกรรม แดง-เหลือง นปช.-กปปส. ในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้รัฐบาลควรจะทำให้เป็นรูปธรรมในทางกฎหมาย อย่าสักแต่ว่าพูดกันไป แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม“ นายวันชัย กล่าว

ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรม ม.112 เป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ แน่นอนบางคนบอกว่า คดีอะไรที่รุนแรง และคดีอะไรที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะต้องมีคณะกรรมการไปพิจารณาร่วมกัน และหาความพอดีทางกฎหมายที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยให้คาราคาซังกันต่อไป ถ้าเราจะแยกแยะ ม.112 มันมีเหตุผลทั้งทางการเมือง และทางกฎหมาย ที่เราออกมาโต้แย้งกันได้ แต่สามารถหาความพอดีได้ หาข้อยุติได้

นายวันชัย กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าผู้มีอำนาจที่เป็นรัฐบาล สามารถพิจารณา และรู้ได้ว่า ม.112 เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เป็นเรื่องที่สำคัญ ควรรู้ว่ากระทำอย่างไรแล้วเหมาะสม และควรรู้ว่าทำด้วยวิธีการใดแล้วผลออกมาก่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ได้ มีหลายวิธีในอดีตเป็นตัวอย่าง ม.112 ที่สามารถทำให้จบลงได้ด้วยดี ตนอาจไม่ได้พูดถึงขนาดให้เป็นประเด็นชัดเจน แต่ตนเชื่อว่าผู้มีอำนาจสามารถหาความพอดีต่อ ม.112 และทำให้เกิดความปรองดอง ส่วนที่เห็นว่ามีการประทะกัน หรือความเห็นแตกแยกทางความคิดของกลุ่มคนต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองปกติในระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าจะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต

“เรื่องที่จะทำให้ประเทศเกิดความสงบ เพื่อทำให้เกิดความปรองดองต่อกัน รัฐบาลจะต้องทำเป็นเป้าหมายใหญ่ และเป้าหมายสำคัญ ไม่ใช่ว่าเป็นรัฐบาลกันแล้ว เคยพูดเรื่องปรองดองในสมัยที่เป็นฝ่ายค้าน พอเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ลอยนวลไปเรื่อย ดึงเวลาไปเรื่อย ผมว่าไม่น่าที่จะเป็นการกระทำของคนที่เป็นรัฐบาลพึงกระทำ ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญที่สุด ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ควรเอาเรื่องการปรองดองมาเป็นหัวใจในการผลักดัน ไม่ใช่เช้าก็มาพูดเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์เท่าไหร่ รังแต่จะขยายความขัดแย้งไปมา” นายวันชัย กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ แม้ในสัปดาห์นี้ จะมีการพิจารณาร่วมในที่ประชุมรัฐสภา เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญสองฉบับ ซึ่งจะมีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 
และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน รีบนำมาพิจารณา รังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้คดีที่ยุติไปแล้วหากมาพิจารณา อาจจะทำให้เกิดการรื้อฟื้นคดีเก่า ลามไปถึงสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาฟ้องร้องกันต่อไป 

“ทำไปหาสวรรค์วิมานอะไร บ้านเมืองน่าจะทำเรื่องปรองดอง กลับทำเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แปลกมาก รัฐบาลนี้คิดเรื่องอย่างนี้ได้ยังไง เรื่องที่ควรทำกลับไม่ทำ เรื่องไม่ควรทำกลับมาทำ แปลกมาก” นายวันชัย กล่าวทิ้งท้าย