บ่วงคดี 112 มัด ‘ทักษิณ’ สยบ ‘ดีล’ ร่วมก้าวไกล?

บ่วงคดี 112 มัด ‘ทักษิณ’ สยบ ‘ดีล’ ร่วมก้าวไกล?

สัญญาณ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจได้รับ “พักโทษ” จากกรมราชทัณฑ์ ไม่เพียงข่าวดีสำหรับครอบครัวชินวัตรเท่านั้น หากแต่ดูเหมือนรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ก็กำลังรอ “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” อยู่เช่นกัน

“หวังว่าจะมีชื่อนะคะ แต่ยังไม่ทราบยังไม่เห็นเหมือนกันค่ะ” อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก “ทักษิณ ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว เมื่อถูกถามกรณี “ทักษิณ” มีคุณสมบัติที่จะได้รับการพักโทษ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้าจาก รมว.ยุติธรรม(9 ก.พ.67)

นอกจากนี้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ยังเปิดเผยว่า ทางครอบครัวได้เตรียม “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เอาไว้รอแล้ว

ท่ามกลางกระแสข่าว วันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ “ทักษิณ” อาจได้รับการพักโทษ เพราะถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมาย กรณีรับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมด หรือ 6 เดือน ยึดอย่างใดอย่างหนึ่งที่มากกว่ากัน แม้ยังนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจก็ตาม รวมทั้งเข้าเกณฑ์ เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

แต่ถึงกระนั้น “ทักษิณ” ก็ยังไม่พ้น “บ่วงกรรม” เสียทีเดียว เนื่องจากยังเหลือคดีเก่าอยู่อีกหนึ่งคดี นั่นคือ ถูกกล่าวหา ทำผิดนอกราชอาณาจักร พาดพิงสถาบันฯ หรือความผิด ม.112 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558

คดีนี้ แม้ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องไปตั้งแต่ปี 2559 แต่ผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ จึงออกหมายจับมาดำเนินคดี

กระทั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 “ทักษิณ” เดินทางกลับไทย เพื่อรับโทษคดีอาญาอื่น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 อัยการฯได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

โดย “ทักษิณ” ได้ให้การปฏิเสธ และยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และอธิบดีอัยการ สำนักการสอบสวนได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นต้นและหนังสือขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา ประกอบสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว

รวมทั้งมีการทำความเห็นส่งให้อัยการสูงสุดใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้มีความเห็นและสั่งคดีต่อไป

ทั้งนี้ “ทักษิณ” ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 8 ปี (3 คดี) ต่อมาทำเรื่อง ขอพระราชทานอภัยโทษ จนได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า การร้องขอความเป็นธรรมทางคดีของ “ทักษิณ” ไม่มีเงื่อนเวลา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่อัยการสูงสุดมีระเบียบว่า ผู้ต้องหาต้องยื่นด้วยตนเองและจะไม่ให้มีการประวิงเวลาให้ช้าออกไป

ที่น่าสนใจ ขณะยังไม่มีคำสั่ง “พักโทษ ทักษิณ” จากกรมราชทัณฑ์ออกมา แต่พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัว โดยกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดสอบสวนจะอายัดตัวไว้ และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ โดยการขออำนาจจากศาลฝากขัง

หากพนักงานสอบสวนอายัดตัวไว้ในช่วงที่อัยการตรวจสำนวนเสร็จ พนักงานอัยการสามารถส่งตัวฟ้องได้ทันที แต่หากต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม อัยการมีอำนาจในการปล่อยตัว โดยหลังจากสำนวนเสร็จสิ้น อัยการจะแจ้งให้ส่งตัวฟ้องในภายหลัง ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการว่า ณ เวลาที่ “ทักษิณ” ได้พักโทษ กระบวนการของอัยการอยู่ในขั้นตอนใด

ประเด็น ที่เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ หลังจาก “ทักษิณ” เดินทางกลับไทย เพื่อรับโทษคดีอื่น เคยมีบางคนออกมาเคลื่อนไหวทวงถามถึงความคืบหน้า คดี 112 ของ “ทักษิณ” เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด และกระแสตอบรับจากสังคมที่จะขยายผลเรื่องนี้ก็ไม่มีให้เห็นมากนัก จนเรื่องเงียบไป   

ไม่เพียงเท่านั้น “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังตอบผู้สื่อข่าวที่ถามถึงเรื่องนี้ว่า ไม่มีประเด็นอะไรแล้ว เป็นการเข้าใจผิดด้วยซ้ำ โดยในเรื่องของคดีต่างๆ ตนขอไม่พูด ให้ทนายพูดจะได้ชัด เกรงว่าหากตนเองพูดไปจะมีประเด็นเพิ่มเติมอีก และยืนยันว่าภายหลังการได้รับอภัยโทษเหลือ 1 ปีนั้น ไม่มีคดีอื่นแล้ว(19 กันยายน2566)

นั่นแสดงว่า “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” ได้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคดีนี้ จึงมั่นใจ ไม่มีประเด็นอะไรแล้ว เป็นการเข้าใจผิดด้วยซ้ำ

ทั้งที่ การให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ(21 พ.ค.58) ของ “ทักษิณ” ที่ประเทศเกาหลีใต้นั้น มีเนื้อหาบางช่วงบางตอนกระทบต่อสถาบันฯ

ทำให้ต่อมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เวลานั้น มอบหมายสำนักพระธรรมนูญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ต่อศาลอาญา

และเมื่อวันนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน(12 ต.ค.58) ปรากฏว่า “ทักษิณ” ในฐานะจำเลย ไม่ได้เดินทางมา เพราะยังคงลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ทำให้ศาลอาญา ออกหมายจับเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี พร้อมสั่งจำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะติดตามตัวมาได้

คดีที่คนระดับเลขาธิการ คสช. มอบหมายให้สำนักพระธรรมนูญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอง ไม่น่าจะมีพยานหลักฐานเบาหวิวถึงขนาดไม่มีประเด็นอะไร หรือแค่เข้าใจผิด?

นอกจากนี้ “ดีล” ทางการเมือง หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทำให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร เชื่อว่า คดี ม.112 ของ “ทักษิณ” ไม่มีประเด็นอะไรแล้ว ทั้งยังเชื่อมั่นถึงขนาดว่า นอกจากคดีที่รับโทษอยู่ ไม่มีคดีอื่นอีกแล้ว

อย่าลืม ในช่วงที่มีการเจรจา จัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทย ปล่อยมือจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ เพราะรัฐสภา ไม่ลงมติให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างก็ตั้งป้อม ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีนโยบายแก้ไขป.อาญา ม.112

มีกระแสข่าวเรื่อง “ดีล” สำคัญเกิดขึ้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลเดิมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นพรรคร่วมรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า ตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

ก่อนที่ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารชื่อดัง จะไลฟ์สดผ่าน Youtube เผยเบื้องหลังที่มาที่ไปการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เชิญชวนพรรคร่วมรัฐบาลเก่า มาหารือเรื่องการหาทางออกของประเทศอย่างรวดเร็วทันใจ

โดย “วาสนา” ชี้ว่า พรรคเพื่อไทย และกลุ่มอดีตพรรคร่วมรัฐบาล มีการพูดคุยกันมานานแล้ว รวมถึงเล่ามุมมองของเกมการเมืองของพี่น้อง 3 ป. ว่า

ในกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนี้ ถือว่า ก้าวไกลเป็นอันตรายที่สุด จึงพุ่งเป้าจัดการไปที่ก้าวไกล และมีการตกลงสลายขั้ว เหลือง-แดง เพื่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยจะให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีเงื่อนไขให้ “ทักษิณ” กลับบ้าน ไม่ถือเป็นศัตรูอีกต่อไป ขณะที่บทบาท 3 ป.ถอยไปอยู่ข้างหลัง(23 ก.ค. 66)

แล้วก็ดูเหมือนทุกอย่างจะเดินตามแนวทางนี้ เพียงแต่รายละเอียดของ “ดีล” เท่านั้น ที่ไม่มีใครรู้ว่า ตื้นลึกหนาบางแค่ไหน อย่างไร

นั่นแสดงให้เห็นเช่นกันว่า ปรากฏการณ์ที่ พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้ง เข้ามาเป็นอันดับ 1 ด้วยที่นั่งส.ส. 151 ที่นั่ง ชนะพรรคเพื่อไทย ที่ได้อันดับสอง 10 ที่นั่ง(ได้ 141 ที่นั่ง)นั้น คือ ความน่ากลัวทางการเมือง และถ้าขืนปล่อยไปตามเกมการเมืองปกติ ไม่แน่พรรคก้าวไกล อาจพลิกความคาดหมายครั้งใหญ่ ด้วยการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ได้เกินครึ่งของสภาฯ คือ 251 ที่นั่ง ใครจะรู้

ที่สำคัญ พรรคก้าวไกล มีนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 และอุดมการณ์ทางการเมือง ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจเดิม คือ สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างของฝ่ายอนุรักษนิยม

แต่ถึงกระนั้น “จุดอ่อน” ของพรรคก้าวไกล ก็คือ ถูก “โดดเดี่ยว” ทางการเมืองได้ง่าย โดยเฉพาะการ “จัดตั้งรัฐบาล” ดังนั้นทางเดียวที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาล ก็คือ ได้ที่นั่งในสภาฯเกินครึ่ง หรือ ชนะแบบถล่มทลายตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย   

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกล จึงพยายามหาพันธมิตรทางการเมืองที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันมากที่สุด และเป็นพรรคขนาดใหญ่เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ไม่ยาก ซึ่งก็คือ พรรคเพื่อไทย ที่เชื่อว่า อย่างน้อยก็ยึดมั่นแนวทาง “ประชาธิปไตย”

เรื่องนี้เช่นกัน ที่มีการเคลื่อนไหวคู่ขนานมาตั้งแต่ “ดีล” จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการเดินทางไปพบ “ทักษิณ” ที่ฮ่องกง ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ท่ามกลางการออกมาปฏิเสธข่าวของ แกนนำพรรคก้าวไกล

แต่ในที่สุด “ธนาธร” ก็เปิดเผยเอง ขณะให้สัมภาษณ์ในรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” ที่มี สรยุทธ สุทัศนะจินดา และไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดย ช่วงหนึ่งพิธีกรถามถึงการไปพบกับนายทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกง ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำ โดยยอมรับว่าไปพบกับนายทักษิณจริง ส่วนเรื่องที่คุยกันนั้น นายธนาธร ระบุว่า “เป็นปกติที่เราพบปะพูดคุยกับนักการเมืองทั่วไป คุยเรื่องชีวิต เช่น ชีวิตมีหลานแล้วเป็นอย่างไรบ้าง แต่ไม่ได้ไปต่อรองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล เพราะตนเองไม่มีตำแหน่งในการเมือง และก็อาจจะโดนยุบพรรคถ้าไปต่อรอง”

แต่ใครจะเชื่อว่า “ธนาธร” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า อยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล จะลงทุนลงแรงไปฮ่องกงพบกับ “ทักษิณ” เพียงเพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบเท่านั้น

แม้จนวันนี้ ก็ยังไม่มีใครเชื่อ เพียงแต่ไม่รู้แน่ชัดเท่านั้น ว่า “ดีล” อะไรกันหรือไม่

ยิ่งกว่านั้น นักวิเคราะห์หลายคน ยังจับจ้องเอาการทำงานในฐานะ “ฝ่ายค้น” ในสภาฯของพรรคก้าวไกล ที่ไม่เต็มที่กับการตรวจสอบรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย

รวมถึงกรณี “ทักษิณ” มี “อภิสิทธิ์” เหนือนักโทษคนอื่น ที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากกรมราชทัณฑ์ ในการให้ออกมารักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจจนจะครบ 6 เดือนอยู่แล้ว และมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้ “พักโทษ” กลับไปอยู่บ้าน โดยไม่ต้องนอนเรือนจำแม้แต่วันเดียว

แต่พลพรรคก้าวไกล ที่ถือเป็น “ฝ่ายค้าน” ความหวังของประชาชนยุคนี้ ก็ยังนิ่งเฉย ไม่ยอมตรวจสอบ ว่าจริงอย่างที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องอาการป่วยหนักจริงหรือไม่ เรื่องทำตามระเบียบกรมราชทัณฑ์อย่างเคร่งครัด เยี่ยง “นักโทษ” เหมือนนักโทษคนอื่น

จนมีกระแสข่าวตามมาว่า พรรคก้าวไกล ยังหวังที่พรรคเพื่อไทยจะ “พลิกกลับ” อีกครั้ง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล กรณีเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาล หรือ เป็นไปตาม “ดีล” บางอย่าง ที่ไม่เปิดเผยหรือไม่

เมื่อ “ธนาธร” ยอมรับไปพบ “ทักษิณ” ที่ฮ่องกง แต่ไม่ยอมเปิดเผย “ดีล” ว่ามีหรือไม่? ไม่ทำให้เชื่อได้ว่า การไปพบกันนั้น เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล มากกว่าการไปถามข่าวคราวเรื่องหลาน เรื่องทั่วไป หากไม่มี “ดีล” อะไรกันจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์บีบให้ “ทักษิณ” ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ตัวเอง ว่า ไม่ได้มี “ดีล” อะไรกับ “ธนาธร-ก้าวไกล” และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ “ปิดประตูตาย” ที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล อย่างที่ทั้งสองพรรค ยังมีท่าทีต่อกัน  

หาไม่ “ทักษิณ” ย่อมรู้ดีว่า กำลังเผชิญหน้าอยู่กับชะตากรรมอะไร แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่า “ทักษิณรอด” ก็ตาม?