‘สื่อนอก’ ชี้ชัยชนะการทูตของไทย หลังการเจรจามหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ-จีน’

‘สื่อนอก’ ชี้ชัยชนะการทูตของไทย หลังการเจรจามหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ-จีน’

การพบกันระหว่างซัลลิแวนและหวังอี้ถือได้ว่าเป็นการรับรองรัฐบาลเศรษฐา โดยวอชิงตัน ถึงแม้เศรษฐาและพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ตัวเต็งที่จะขึ้นสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว

Key Points :

  • การเจรจาระดับสูงเมื่อเร็วๆ นี้ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ถูกมองได้ว่าเป็นชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญของรัฐบาลไทย

 

  • สหรัฐฯ และจีน มีความสบายใจในความสัมพันธ์ที่มีกับไทย และคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่เหมาะสม

 

  • การพบกันระหว่างซัลลิแวนและหวังอี้ในไทย ถือได้ว่าเป็นการรับรองรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน โดยวอชิงตัน แม้ “พรรคเพื่อไทย” จะไม่ได้ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมา

 

  • จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย มีมูลค่าการค้า 135,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2566 

 

  • "หวัง อี้” ของจีนได้พบกับ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อลงนามในข้อตกลงยกเว้นวีซ่า ทำให้คนไทยและจีนสามารถท่องเที่ยวกันได้ง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 สำนักข่าวด็อยท์เชอเว็ลเลอ  (https://www.dw.com) ของประเทศเยอรมนี ได้เผยแพร่บทความ “การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ-จีน: ไทยยืนอยู่ตรงไหน?” ของ ทอมมี่ วอล์กเคอร์ ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ ที่เขียนบทความลงเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567  โดยบทความนี้ระบุว่า การเจรจาระดับสูงเมื่อเร็วๆ นี้ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ถูกมองได้ว่าเป็นชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญสำหรับรัฐบาลไทยและนโยบายต่างประเทศที่มีความพอประมาณ 

โดยกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมลับระหว่าง เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และ หวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการทูตของไทยท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง

ทอมมี่ วอล์กเคอร์ ระบุผ่านบทความนี้ว่า การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้งสองเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน เบนจามิน ซาวัคกี ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground Between the US and Rising China กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าทั้งวอชิงตันและปักกิ่งมองประเทศไทยอย่างไร

“ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นว่าทั้งสหรัฐฯ และจีน มีความสบายใจและรู้สึกปลอดภัยเพียงพอในความสัมพันธ์ที่เขามีกับไทยและระหว่างกัน พวกเขาคิดว่ากรุงเทพเป็นสถานที่ที่เหมาะสมจัดได้”

เจค ซัลลิแวนและหวัง อี้ หารือประเด็นต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอิหร่าน การปะทะรอบทะเลแดง ไต้หวัน เมียนมา เกาหลีเหนือ และข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยทั้งสองได้สัญญาว่าจะรักษาช่องทางการติดต่อกันในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนเหล่านี้

‘สื่อนอก’ ชี้ชัยชนะการทูตของไทย หลังการเจรจามหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ-จีน’

นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนการพูดคุยเพิ่มเติมระหว่างสองฝ่าย โดยคาดว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ จะมีการสนทนาทางโทรศัพท์กับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฤดูใบไม้ผลินี้ และ แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คาดว่าจะเยือนปักกิ่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

  • สนับสนุนเศรษฐา

แต่สำหรับฝ่ายทางการไทยแล้ว ผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดถือเป็นเรื่องรอง ตามที่นายเบนจามิน ซาวัคกี วิเคราะห์ การที่การประชุมเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ และเป็นการยืนยันว่านโยบายของไทยที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ผล

"ประเทศไทยรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะมีอำนาจในการรวมตัวคนมาเจอกันได้ มากกว่าที่จะใช้อำนาจในทางอื่น ไทยเป็นเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่เป็นศัตรูกับใครเลย" ซาวัคกีกล่าว

และอีกประการหนึ่งที่เป็นผลดีต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน คือ การพบกันระหว่างซัลลิแวนและหวังอี้ถือได้ว่าเป็นการรับรองรัฐบาลเศรษฐา โดยวอชิงตัน ถึงแม้เศรษฐาและพรรคเพื่อไทยไม่ใช่ตัวเต็งที่จะขึ้นสู่อำนาจหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว และตามหลังพรรคก้าวไกล (MFP) แต่วุฒิสภาสายอนุรักษนิยมของไทยได้ขัดขวางพรรคก้าวไกลที่ถือเป็นพรรคปฏิรูป ทำให้นายเศรษฐากลายเป็นนายกรัฐมนตรีทางเลือกจากการประนีประนอม

  • สหรัฐฯ และไทยมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

ก่อนการพบปะกันที่กรุงเทพฯ ซัลลิแวนได้พบกับเศรษฐาและเจ้าหน้าฝ่ายไทยอื่นๆ ด้วย ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังได้หารือถึงความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐฯ-ไทย และส่งสัญญาณว่าจะมีโอกาสเพิ่มเติมในการเสริมสร้างความร่วมมือและขยายการค้าและความมั่นคง ตามแถลงข่าวที่ออกจากสถานทูตสหรัฐฯ ในไทย

ประเทศไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแม้จะมีประเด็นทางการทูตในช่วงสั้นๆ หลังจากการรัฐประหารของไทยในปี 2557 และการต่อต้านการรัฐประหารของวอชิงตันในขณะนั้น ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ในขณะที่วอชิงตันลดความร่วมมือด้านความมั่นคงและถอนเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทย แต่ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นตั้งแต่นั้นมาจนทำให้นายเศรษฐา สามารถพบปะกับไบเดนในช่วงสั้นๆ ที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว

‘สื่อนอก’ ชี้ชัยชนะการทูตของไทย หลังการเจรจามหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ-จีน’

  • "หวังอี้" ชู "ไทย-จีน" ครอบครัวเดียวกัน เว้นวีซ่าสองชาติ

สำหรับไทยและจีน ทั้งสองประเทศในเอเชียนี้ยังคงส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งต่อไป

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยโดยมีมูลค่าการค้า 135,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 125,000 ล้านยูโร) ในปี 2566 ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ชาวจีนคิดเป็น 11 ล้านคนจากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ 39 ล้านคนในปี 2562

‘สื่อนอก’ ชี้ชัยชนะการทูตของไทย หลังการเจรจามหาอำนาจ ‘สหรัฐฯ-จีน’

บทความชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า ในระหว่างการเยือนกรุงเทพฯ หวัง อี้ ของจีนได้พบกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อลงนามในข้อตกลงยกเว้นวีซ่า ซึ่งช่วยให้คนไทยและจีนสามารถเยี่ยมชมประเทศของสองชาติได้ง่ายขึ้น โดย หวัง อี้ อ้างว่าคนจีนและไทยเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน

“ประเทศไทยต้องการที่จะเป็น และต้องการให้ถูกมองว่า เป็นสถานที่ที่ทุกคนจะได้รับการต้อนรับที่ดี” ซาวัคกีกล่าว

"เราเป็นมิตร เราเปิดกว้าง ทุกคนอาจมีความแตกต่างกัน แต่ที่นี้เราสามารถมาคุยกันได้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และเราไม่ต้องการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเหล่านั้น มันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของไทย” ตามคำบอกเล่าของผู้เชี่ยวชาญ