ฉากชีวิต ‘ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก’ จากนักร้อง สู่ผู้ต้องหาคดีแบล็คเมล์

ฉากชีวิต ‘ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก’ จากนักร้อง สู่ผู้ต้องหาคดีแบล็คเมล์

ฉากชีวิต ‘ศรีสุวรรณ’ จากเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อม เคยเล่นการเมืองปี 45-46 สอบตก สว.ปี 50 ก่อนเดินบนเส้นทางนักร้อง ส่วน ‘เจ๋ง ดอกจิก’ จากตลกคาเฟ่ สู่คนใกล้ชิดนักการเมือง โลดแล่นยุค ‘ไทยรักไทย-นปช.-เพื่อไทย’ พลิกขั้วไป รทสช.ปี 66 ก่อนโดนจับคดีแบล็คเมล์ ‘อธิบดีกรมการข้าว’

KeyPoints

  • ก่อนเป็นนักร้องเรียน “ศรีสุวรรณ” เคยเดินบนเส้นทาง “เอ็นจีโอ” มาก่อนหลายปี มีบทบาทสำคัญ-อยู่เบื้องหลังคดีสิ่งแวดล้อมดัง ๆ หลายเรื่อง
  • “ศรีสุวรรณ” เคยเป็นรองหัวหน้า-นายทะเบียน “พรรครักษ์ถิ่นไทย ปี 45-46 เคยสมัคร สว.กทม.ปี 50 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
  • ผลงานสำคัญในช่วงเป็น “นักร้อง” คือการรวบรวมหลักฐานจากสื่อ ไปร้อง กกต.ขอให้ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” กรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ปล่อยเงินกู้แก่พรรค 191.2 ล้านบาท
  • ส่วน “เจ๋ง ดอกจิก” จากตลกคาเฟ่ สู่นักการเมือง รุ่งโรจน์สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ก่อนขึ้นแท่นแกนนำ นปช.ปี 53
  • ช่วงรัฐบาลเพื่อไทย เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่ถูกศาลฎีกาฯสั่งพ้นตำแหน่ง เนื่องจากยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ตรงตามกำหนด
  • ตอนปลาย “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” เขากลับมาเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มไทยไม่ทนร่วม “จตุพร พรหมพันธุ์” วิพากษ์วิจารณ์ขับไล่รัฐบาลขณะนั้น
  • ปี 2566 เขาพลิกขั้วอีกครั้งมาร่วมงานกับ “รทสช.” ซึ่งเป็นพรรคที่ชู “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ

  
กลายเป็นข่าวใหญ่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (26 ม.ค.) พลันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ปิดล้อมบ้านพัก และซ้อนแผนจับกุม “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน กรณีถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงิน “อธิบดีกรมการข้าว” จำนวน 3 ล้านบาท แลกกับการไม่เปิดโปงเรื่องร้องเรียน

เบื้องหลังปฏิบัติการครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจาก “ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์” อธิบดีกรมการข้าว ว่าถูก ศรีสุวรรณ พร้อมด้วย 2 ตัวละครทางการเมืองอย่าง “ยศวริศ ชูกล่อม” หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานเขตราชการที่ 11 ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี และ “พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์” อดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ร่วมกันข่มขู่เรียกเงินจำนวน 3 ล้านบาท ก่อนจะมีการเจรจาต่อรองเหลือเพียง 1.5 ล้านบาท
    
โดยวานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกจับกุมตัว “ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก” ส่วน “พิมณัฏฐา” นั้นได้เข้ามอบตัวในเวลาต่อมา ปัจจุบันทั้ง 3 คน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้วทั้งหมด

สำหรับคนในแวดวงการเมืองย่อมคุ้นหูกับชื่อของ “ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก” กันอยู่แล้ว

สำหรับ “ศรีสุวรรณ” ก่อนที่หลายคนจะรู้จักกับบทบาท “นักร้อง” เขาเริ่มต้นบนเส้นทาง “เอ็นจีโอ” ตั้งแต่ช่วงจบมหาวิทยาลัย โดยเข้าไปเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่มูลนิธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและรณรงค์ด้านสังคมมาโดยตลอด พร้อม ๆ กับเข้าไปช่วยงานที่สภาทนายความฯ ทำคดีสิ่งแวดล้อม โดยเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญหลายคดี เช่น คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คดีสารตะกั่วห้วยคลิตี้ เป็นต้น แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงคือ กรณีร้องขอศาลปกครองสั่งระงับการขยายโรงงาน 76 แห่งในอุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นชีวิตของ “ศรีสุวรรณ” ก็เดินบนเส้นทาง “เอ็นจีโอ” เรื่อยมา กระทั่งเขาขึ้นมาอยู่ในฐานะรองเลขาธิการมูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ก่อตั้งโดย “พิจิตต รัตตกุล” อดีตผู้ว่าฯ กทม. โดยเขาคือหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง คดี ขสมก.ปล่อยให้รถเมล์เสื่อมสภาพวิ่งปล่อยควันพิษ ท้ายที่สุดศาลตัดสิน ให้ ขสมก.พ่ายแพ้ หลังจากนั้น “ศรีสุวรรณ” ร่วมกับกลุ่มเพื่อนก่อตั้งสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนขึ้น โดยใช้องค์กรนี้เคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่อยมา

ในส่วนเส้นทางการเมือง “ศรีสุวรรณ” เข้าร่วมกับพรรครักษ์ถิ่นไทย โดยเป็นนายทะเบียน และรองหัวหน้าพรรค ระหว่างปี 2545-2546 รวมถึงสมัคร สว.กทม. เมื่อปี 2557 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงเวลาเดียวกันเขาก่อตั้งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2552 แต่ปัจจุบันสมาคมนี้ถูกกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนการจดทะเบียนไปแล้วเมื่อ มิ.ย. 2566 หลังจากตรวจสอบพบว่า สมาชิกผู้ขอจดทะเบียนจัดตั้ง 11 คนนั้น มี 3 คนไม่ได้เป็นสมาชิกที่แท้จริง

โดยนับแต่ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา “ศรีสุวรรณ” ค่อนข้างมีบทบาทในหน้าสื่อ ในการเดินหน้าตรวจสอบร้องเรียนหลายฝ่าย แม้จะถูกบางฝ่ายตั้งข้อครหาว่าเขาเลือกปฏิบัติในการร้องเรียนก็ตาม ส่งผลให้เขาถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 2 ครั้ง (ที่ปรากฏผ่านสื่อ” เช่น เมื่อปี 2565 กรณีการยื่นเรื่องต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ตรวจสอบ “โน้ส อุดม แต้พานิช” นักทอล์กโชว์ชื่อดัง ที่วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถูก “วีรวิทย์ รุ่งเรืองศิริผล” หรือ “ศักดิ์ เสื้อแดง” ทำร้ายร่างกาย ต่อมาเมื่อปี 2566 เขายื่น กกต.ให้ตรวจสอบนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย และการถือครองหุ้นไอทีวีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ก่อนโดน “ทศพล ธนานนท์โสภณกุล” เข้าทำร้ายร่างกายเช่นกัน

โดยหนึ่งในผลงานเด่นของ “ศรีสุวรรณ” คือการรวบรวมพยานหลักฐานจากสื่อ ไปร้องเรียนต่อ กกต.ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคขณะนั้น ปล่อยกู้ให้แก่พรรค รวม 191.2 ล้านบาท กระทั่ง กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ และศาลมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัย “ยุบพรรค” ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีกรณีรวบรวมพยานหลักฐานจากสื่อ ไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ “นักการเมือง” ที่ถือครองใบ ภบท.5 โดยในรายของ “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร. ขณะนั้น) ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า “ปารีณา” ผิดจริยธรรมจริง พร้อมกับให้พ้นตำแหน่ง สส.

ปัจจุบัน “ศรีสุวรรณ” ยังคงเดินหน้าร้องเรียนตรวจสอบ “นักการเมือง-ข้าราชการ” หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะการโฟกัสประเด็น “นักโทษเทวดา ชั้น 14” ที่มีการยื่นไปหลายหน่วยงานให้ตรวจสอบอยู่ กระทั่งเขาถูกเปิดโปง และโดนซ้อนแผนจับกุมเรื่องเรียกรับเงินจนเป็นข่าวดังเมื่อวานที่ผ่านมา 

ฉากชีวิต ‘ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก’ จากนักร้อง สู่ผู้ต้องหาคดีแบล็คเมล์

อีกคนที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาคดีนี้เช่นกันคือ “เจ๋ง ดอกจิก” หรือ “ยศวริศ ชูกล่อม” อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ปัจจุบันถอดเสื้อแดง มาสวมเสื้อน้ำเงินในฐานะสมาชิกพรรค รทสช. โดยเขาเป็นประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ ที่หวังจะสร้างความสามัคคีให้คนในชาติ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานเขตราชการที่ 11 ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี

“เจ๋ง ดอกจิก” เริ่มต้นจาก “นักแสดงตลก” ชื่อดังในคาเฟ่ หลังจากนั้นเขาผันตัวมาเดินบนถนนการเมือง ด้วยการเข้าเป็นคนสนิทของทีมงานรัฐมนตรี ในคณะรัฐบาล “บรรหาร ศิลปอาชา” และรัฐบาล “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” หลังจากนั้นเข้าแข่งขันรายการ “แฟนพันธุ์แท้ การเมืองไทย” กระทั่งตัวเขาสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา

โดยเมื่อปี 2548 “เจ๋ง ดอกจิก” พยายามลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.สุราษฎร์ธานี เขต 4 พรรคไทยรักไทย เนื่องจากเป็นเขตบ้านเกิดของตัวเอง แต่เขาไม่ถูกรับเลือกตั้ง ต่อมาเขาย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทย (ขณะนั้น) แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเช่นกัน ต่อมาในปี 2550 เขาสมัครรับเลือกตั้งอีกหนที่ จ.นนทบุรี สังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่ก็สอบตกอีก

สปอร์ตไลท์ทางการเมืองฉายไปที่เขาเมื่อปี 2549 ที่ “เจ๋ง ดอกจิก” ตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ว่าจ้างผู้สมัครพรรคเล็กลงเลือกตั้งที่ จ.ตรัง ก่อนกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานที่นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทยในเวลาต่อมา

หลังจากสอบตกในปี 2550 “เจ๋ง ดอกจิก” ก็โลว์โพรไฟล์ลงไป กระทั่งกลับมาอีกครั้งในช่วงการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 เขาเป็นหนึ่งในแกนนำที่ขึ้นปราศรัยบนเวที นปช. และอยู่ในช่วงเหตุการณ์ “เมษาเลือด” ปี 2552 และ “พฤษภาเลือด” ปี 2553 หลังจากจบเหตุการณ์เศร้าสลดครั้งนั้น เขาเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย 

ต่อมาในรัฐบาล “นารีขี่ม้าขาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ เกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 เขาตกเป็นข่าวอีกครั้งว่า เป็นผู้ยึดเรือบริจาค และทำกิริยาไม่เหมาะสมกับสื่อ ในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลืออุทกภัย (ศปภ.) จนถูกเล่าขานมาถึงในปัจจุบัน

หลังจากนั้นในปี 2555 “เจ๋ง ดอกจิก” โดนศาลพิพากษาจำคุก จากการยื่นฟ้องของ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” อดีต สส.ปชป. จากการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งผิดเงื่อนไขของการปล่อยตัวจากคดีชุมนุมทางการเมืองปี 2553 แต่ได้รับการประกันตัวออกมาด้วยวงเงิน 6 แสนบาท

ต่อมาปี 2559 เขาถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2556 กรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายในเวลาที่กำหนด ส่วนโทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ปรับ 4,000 บาท หลังจากนั้นปี 2560 ศาลฎีกา พิพากษาลงโทษจำคุก “เจ๋ง ดอกจิก” 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์

หลังจากเขาพ้นโทษออกมา บทบาทของเขาก็เงียบหายไป กระทั่งช่วงปี 2564 เขากลับมาเป็นแกนนำคณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย หรือกลุ่ม “ไทยไม่ทน” ที่นำโดย “จตุพร พรหมพันธุ์” อดีตประธาน นปช.อีกครั้ง แต่อยู่ระยะเวลาสั้น ๆ ก็ออกมา ต่อมาในปี 2566 เขาและ “สมหวัง อัสราษี” อดีตแกนนำ นปช.อีกคน ย้ายมาสังกัดพรรค รทสช. จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีคดีนี้ “ศรีสุวรรณ-เจ๋ง ดอกจิก” ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน เป็นกระบวนการขั้นต้น ยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล