ล็อกเป้า'ปกรณ์' เขี่ยพ้นกฤษฎีกา ไม่สนอง 'กู้แจกหมื่นดิจิทัล'

ล็อกเป้า'ปกรณ์' เขี่ยพ้นกฤษฎีกา ไม่สนอง 'กู้แจกหมื่นดิจิทัล'

ปริศนาวรรคท้าย "กฤษฎีกา" ระบุชัดเจนว่าหากรัฐบาลไม่ทำตามเงื่อนไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กระทรวงการคลังไม่สามารถกู้เงินได้ ส่งผลให้เก้าอี้ “เลขาธิการกฤษฎีกา” ของ "ปกรณ์" สะเทือนทันที

Key Points :

  • กลิ่นความขัดแย้งระหว่าง "รัฐบาล" กับ "กฤษฎีกา" เริ่มปรากฎ หลังคำตอบของที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ไม่เอื้อต่อการดำเนินโครงการแจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต
  • วรรคท้ายข้อเสนอ "กฤษฎีกา" ระบุชัดเจนว่าหากรัฐบาลไม่ทำตามเงื่อนไข ของมาตรา 53, 57 รวมถึงมาตรา 6, 7, 9, 49 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง กระทรวงการคลังไม่สามารถกู้เงินได้
  • จู่ "เศรษฐา" มีข้อสั่งการไม่ต่ออายุราชการที่เกษียณ และครบวาระดำรงตำแหน่ง กระทบชิ่งไปยัง "ปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาฯกฤษฎีกา ที่จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในช่วงต้นปีนี้
  • หากครม.ไม่ต่ออายุให้ "ปกรณ์" จะต้องเปลี่ยนตัวเลขาฯกฤษฎีกาคนใหม่ โดยในช่วงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีเลขาฯกฤษฎีกาที่สนองงานได้ตรงใจ

ปมขัดแย้งระหว่าง “รัฐบาล” กับ “กฤษฎีกา” ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะ 12 ส่งความเห็นการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แบบไร้คำตอบ ว่าควรออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.

หนำซ้ำยังทำให้การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยากลำบากยิ่งขึ้น เนื่องจาก “กฤษฎีกา” ขีดเส้นให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พร้อมการันตีหากไม่ผิดเงื่อนไขตามกฎหมาย การออกกฎหมายกู้เงินสามารถทำได้

มีกระแสข่าวว่า ความเห็นของกฤษฎีกาไม่เป็นใจให้รัฐบาล จนนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" ออกอาการไม่พอใจ โดยเฉพาะวรรคท้ายความเห็นที่ระบุว่า “หากรัฐบาลไม่ทำตามเงื่อนไข ของมาตรา 53, 57 รวมถึงมาตรา 6, 7, 9, 49 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง และทำให้เห็นเป็นเชิงประจักษ์ การกู้เงินโดยกระทรวงการคลัง ไม่สามารถกระทำได้”

ส่งผลให้ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ต้องปรับกระบวนยุทธกันใหม่ เพราะไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ จนสามารถทำให้เชื่อได้ว่า “วิกฤติ” กำลังจะเกิดขึ้น หากไม่ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

  • จับตาไม่ต่ออายุ "ปกรณ์" นั่งเลขาฯกฤษฎีกา

เมื่อความเห็นกฤษฎีกาไม่ตอบโจทย์รัฐบาล คำให้สัมภาษณ์ของ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอกย้ำว่าไม่ได้ “ไฟเขียว” ให้รัฐบาลกู้เงิน ใครบางคนจึงมีแนวคิดเปลี่ยนตัว “เลขากฤษฎีกา”

แม้จะยังไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนตัวเลขาฯ กฤษฎีกาได้ในทันที แต่สัญญาณจาก “เศรษฐา” ระหว่างการประชุม ครม. กรณีข้อสั่งการในที่ประชุมว่า จะไม่มีการต่ออายุข้าราชการที่เกษียณฯ ย่อมส่งสัญญาณไปที่ “ปกรณ์”

สำหรับที่มาของเขา ครม.ประยุทธ์ ได้มีมติแต่งตั้ง “ปกรณ์” ให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 ก่อนเสนอชื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ในช่วงต้นเดือน พ.ย.2562 และเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในช่วงต้นปี 2563 จะครบวาระ 4 ปี ในช่วงต้นปี 2567 

อย่างไรก็ตาม โดยปกติตำแหน่งเลขาฯกฤษฎีกา จะสามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 6 ปี แต่จู่ๆนายกฯ “เศรษฐา” กลับมีข้อสั่งการไม่ต่ออายุราชการข้าราชการเกษียณ ในช่วงที่ “กฤษฎีกา” เพิ่งส่งความเห็นปมร้อนกู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต จึงไม่พ้นถูกโยงไปยังปมร้อนนี้ว่า มีการล็อกเป้า เลขาฯ “ปกรณ์”

หากย้อนไปดูประวัติ  “ปกรณ์” ถือเป็นศิษย์ก้นกุฎิของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และ “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกรรุ่นบุกเบิก ฉะนั้นดีเอ็นเอเนติบริกรของ “ปกรณ์” จึงไหลเวียนอยู่ทั่วร่าง แม้ “เพื่อไทย”จะเปลี่ยนขั้ว แต่ปมกฎหมายเป็นคนละเรื่อง

  • ล้างสายตรง "เนติบริกร"

“ปกรณ์” จัดอยู่ในข้าราชการ"สายแข็ง" ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ เคยถูกวางตัวให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการครม. จึงมีคำสั่งโยกจากสำนักงานกฤษฎีกา ให้มาดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ ครม. เพื่อทดลองงานในช่วงที่ “อำพน กิตติอำพน” กำลังจะเกษียณอายุราชการ

ทว่า“ปกรณ์” ไม่ถนัดงานด้านการบริหารจัดการด้านการเมือง จึงถูกโยกไปดำรงตำแหน่งรองเลขาฯกฤษฎีกา ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) และได้กลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการกฤษฎีกาในที่สุด

เส้นทางของสายตรง 2 เนติบริกร จึงไม่ธรรมดา แต่เมื่อ “รัฐบาล-เพื่อไทย” ต้องการใช้บริการ “กฤษฎีกา” ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมายให้เกิดประโยชน์กับ “ฝ่ายบริหาร”มากที่สุด อาจจำเป็นต้องเลือกใช้มือกฎหมายคนละสายกับเครือข่ายเนติบริกร

  • ย้อนดูสเปค "กฤษฎีกา"

ตัวอย่างในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชื่อของ “อัชพร จารุจินดา” โดดเด่น และนั่งกลางใจ “ยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย” ทำให้การใช้ประโยชน์ในฐานะที่ปรึกษาทางกฎหมาย จึงทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“อัชพร” จึงอยู่ในคณะกรรมการสำคัญหลายชุด ก่อนที่ “ครม.ยิ่งลักษณ์” จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ช่วงกลางปี 2556 

ดังนั้น สเปกของ “เลขาธิการกฤษฎีกา” คนต่อไป คุณสมบัติต้องใกล้เคียงกับยุคของ “อัชพร” จากนี้ ต้องจับตาการเดินเกมล้างบางดีเอ็นเอเนติบริกร ซึ่งชื่อ “ปกรณ์” กลายเป็นเป้ารายแรก