ตรวจคดีสำคัญปักหลัง ‘นักเลือกตั้ง’ ปี 67 จับตาจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

ตรวจคดีสำคัญปักหลัง ‘นักเลือกตั้ง’ ปี 67 จับตาจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

ผ่าสารพัดคดีค้างปักหลัง 'นักเลือกตั้ง' รอชี้ชะตาปี 67 ทั้งคดีจัดโร้ดโชว์ 'ยิ่งลักษณ์' - หุ้นสื่อ-แก้ ม.112 'พิธา-ก้าวไกล' จับตาจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

พ้น “ปีเถาะ” เข้าสู่ “ปีมะโรง” แต่สถานการณ์ด้านทุจริตของไทยก็ไม่มีที่ท่าว่าจะน้อยลง

แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาล และองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพยายามตั้งเป้าป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันก็ตาม

แต่ผลการสำรวจดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 ไทยได้ 36 คะแนน อยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน

จึงไม่แปลกที่ยังมีคดีความเกี่ยวกับการทุจริต หรือกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกฟ้องร้องในชั้นกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีหลายคดีที่น่าจับตา และคาดว่าจะมีบทสรุปในปี 2567

  • คดีค้างในศาลรัฐธรรมนูญ

1.คดีกล่าวหา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในช่วงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 เข้าข่ายเป็นการถือครอง “หุ้นสื่อ” ขัดต่อคุณสมบัติการเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ปัจจุบันคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย 27 ม.ค. 2567

2.คดีกล่าวหา “พิธา” และ “พรรคก้าวไกล” กรณีออกนโยบายหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 2566 เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 31 ม.ค. 2567

อย่างไรก็ดีคดีนี้ผู้ร้องได้ขอให้แค่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยหยุดการกระทำเท่านั้น จึงยังไม่มีผล “ยุบพรรค” แต่เปิดช่องให้ กกต.สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้ยุบพรรคได้อีก

3.คดีกล่าวหา “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง จะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ โดยคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 17 ม.ค. 2567

  • คดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ยังเหลือคดีใหญ่และสำคัญอีกอย่างน้อย 1 คดี คือกรณีกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ น้องสาว “ทักษิณ ชินวัตร” คดีว่าจ้างเอกชนจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ "Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020" ตามร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน 

โดยคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” พ่วง สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวมถึง “เอกชน” ที่เป็น “สื่อ” ด้วย 2 บริษัท พฤติการณ์สาระสำคัญของคดีในสำนวนของ ป.ป.ช. ระบุถึงกรณี "การวางแผนกันล่วงหน้า" ระหว่างนักการเมือง และบริษัทสื่อ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีลักษณะการ "ฮั้ว"กัน

คดีนี้นับเป็นคดีสุดท้ายของ “พี่น้องชินวัตร” ที่ค้างอยู่ในศาลฎีกาฯ โดยของ “ทักษิณ” ได้รับโทษทัณฑ์ไปหมดแล้ว 3 คดี ที่เหลือยกฟ้อง ส่วน “ยิ่งลักษณ์” โดน 3 คดี ยกฟ้อง 1 คดี (กรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาธิการ สมช.), พิพากษาจำคุก 1 คดี โทษ 5 ปี (กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว)

ดังนั้นคดี “โร้ดโชว์” ที่มีการกล่าวหา “ยิ่งลักษณ์” ถือเป็นคดีสำคัญ และเดิมพันการกลับมาของเธอ ว่าจะตามรอย “ทักษิณ” ได้หรือไม่ 

  • คดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

คดีที่ต้องจับตาในปีหน้าในชั้นศาลอาญาคดีทุจริตฯ หนีไม่พ้นกรณีกล่าวหา “อิทธิพล คุณปลื้ม” อดีต รมว.วัฒนธรรม หนึ่งใน “บ้านใหญ่ชลบุรี” กรณีกล่าวหาเมื่อครั้งนั่ง “นายกเมืองพัทยา” ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10 ก.ย.2551 ให้แก่บริษัทบาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ฯ บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

คดีนี้น่าสนใจ เพราะในวันที่อัยการนัดส่งฟ้องเมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา “อิทธิพล” ไม่มาตามนัด ท่ามกลางกระแสข่าวหลบหนีไปต่างประเทศ กระทั่งต้นเดือน ต.ค.ได้ประสานกับอัยการ เพื่อกลับไทยมามอบตัวเพื่อสู้คดีอีกครั้ง และเขาได้วางเงินสด 120,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมา โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ นัดไต่สวนอีกหลายนัดในช่วงปีหน้า

อีกคดีศาลอาญาคดีทุจริตฯมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” แล้วคือกรณี 2 พ่อลูก “วิลาวัลย์” ที่มีการกล่าวหา “กนกวรรณ” อดีต รมช.ศึกษาธิการ และ “สุนทร” อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี กรณีถือครองที่ดิน และบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลไปก่อนหน้านี้ โดยคดีนี้ “ศาลชั้นต้น” พิพากษายกฟ้อง แต่ ป.ป.ช.และอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปัจจุบันเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์

  • คดีใน ป.ป.ช.

ปัจจุบัน ป.ป.ช.เร่งทยอยเคลียร์ “คดีค้าง” โดยเฉพาะคดีทางการเมืองออกไปแล้วจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2566 คือการชี้มูลผิด “อิทธิพล คุณปลื้ม” เมื่อครั้งเป็น “นายกเมืองพัทยา” ไปแล้ว ขณะที่ “คดีถุงมือยาง” มีมติชี้มูลความผิด สุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า พร้อมพวก ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีจัดซื้อถุงมือยาง จำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500,000,000 บาท เป็นต้น 

หรือแม้แต่ชี้มูลความผิดคดีเปลี่ยนความเร็วรถ “บอส อยู่วิทยา” โดยกล่าวหา “บิ๊กตำรวจ-ข้าราชการ” หลายคน เช่น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. เนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด (รอง อสส.) ชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส นายพิชัย (หรือชูชัย) เลิศพงศ์อดิศร หรือ “อดีต สว.ก๊อง” ปัจจุบันเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ สายประสิทธิ เกิดนิยม และพนักงานสอบสวนอีกบางส่วน ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอัยการ ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตรอง ผบ.ตร. ปัจจุบันเป็น รมว.ศึกษาธิการ ไม่ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา แต่ถูกชี้มูลความผิดทางวินัยแทน

ส่วนคดีที่ยังค้างอยู่ที่มีการกล่าวหา “นักการเมือง” เช่น กรณีกล่าวหา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่แจ้งการถือครองหุ้นเกิน 5% ของ “ภริยา” ใน 3 บริษัท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการหุ้นและหุ้นส่วนของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ปัจจุบัน ป.ป.ช. ลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สินของ ร.อ.ธรรมนัส ในพื้นที่ จ.พะเยา รวมถึงข้อมูลการถือครองหุ้นทั้งหมดแล้ว และจะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงอีกครั้ง

นอกจากคดีค้างแล้ว ยังมีนโยบายของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ถูก ป.ป.ช.โฟกัสเป็นพิเศษ เช่น โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ขึ้นมาแล้ว มี 39 ผู้เชี่ยวชาญร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ นำโดย “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานข้อมูลจากกระทรวงการคลัง และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อมาพิจารณาอยู่

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวคดีค้างในชั้นกระบวนการยุติธรรม บางคดีอาจเป็น “จุดเปลี่ยน” การเมืองไทยในปี 2567 พลิกสมการสูตรจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ก็เป็นไปได้