เนื่องใน “วันมวลมหาประชาชน” วนมาครบรอบ 10 ปี

เนื่องใน “วันมวลมหาประชาชน” วนมาครบรอบ 10 ปี

ย้อนไป 10 ปี มีปรากฏการณ์อันแสนประทับตาประทับใจ เมื่อมวลมหาประชาชนชาวไทยไม่น่าจะต่ำกว่าล้านคน ออกมาชุมนุมบนถนนราชดำเนิน จนต้องเดินเบียดเสียดกันแทบตลอดสาย

เป้าหมายของการชุมนุม ได้แก่ การขับไล่รัฐบาลซึ่งทำงานด้วยความฉ้อฉลจนเป็นที่ประจักษ์ว่าสร้างความเสียหายร้ายแรงมาก และการส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการให้รัฐบาลนำการปฏิรูปประเทศชาติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านการลดความฉ้อฉลซึ่งเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กำลังทำลายชาติ

ผู้ร่วมชุมนุมมากันทั้งแบบในนามของกลุ่มและแบบต่างคนต่างมา  ในบรรดาผู้ที่มาในนามของกลุ่ม มีส่วนหนึ่งซึ่งสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวที่มีคำขวัญว่า “สิบแสนกระพือปีก” พร้อมรูปผีเสื้อพิมพ์อยู่ตรงอกเสื้อ 

สมาชิกของกลุ่มนี้มีความเชื่อลึก ๆ ว่า ถ้าคนไทย 1 ล้านคน หรือสิบแสนออกมาร่วมชุมนุมอย่างพร้อมเพรียงกันจะเกิดจุดพลิกผันส่งผลให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้  รัฐบาลทู่ซี้อยู่ต่อไปท่ามกลางวิกฤติร้ายแรงอีก 6 เดือนจึงถูกทหารยึดอำนาจ 

ในฐานะผู้เป็นหนึ่งในต้นคิดและสมาชิกของกลุ่ม “สิบแสนกระพือปีก” ซึ่งเดินเข้าไปในการชุมนุมตรงสี่แยกคอกวัวในช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 และได้รับแผ่นป้ายหมายเลขยืนยันว่าเป็นคนที่ 557,309 ขอนำบางอย่างมาปันพร้อมข้อสังเกต     

ในเบื้องแรก แนวคิดเรื่องผีเสื้อกระพือปีกมาจากทฤษฎีความอลวลซึ่งครั้งหนึ่งศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ นำเสนอในการประชุมกลุ่มนักอุตุนิยมวิทยา

โดยยกตัวอย่างว่า ผีเสื้อเพียงตัวเดียวกระพือปีกในประเทศบราซิลสามารถทำให้เกิดพายุใหญ่ในรัฐเทกซัสได้  กลุ่มของเรานำมาใช้เป็นอุดมการณ์เพื่อยืนยันว่า เราทุกคนมีความสำคัญโดยอาจก่อให้เกิดจุดพลิกผันสำคัญยิ่งได้ในภาวะอันเหมาะสม 

เนื่องใน “วันมวลมหาประชาชน” วนมาครบรอบ 10 ปี

ฉะนั้น เราไม่ควรดูดาย  ในยามสังคมเผชิญปัญหา เราจะต้องออกมาช่วยแก้ไข  หลังจากวันนั้น ได้เกิดกลุ่มผู้ใช้ “ผีเสื้อกระพือปีก” เป็นอุดมการณ์ขึ้นอย่างน้อย 2 กลุ่มซึ่งต่างทำงานในด้านบริการสังคมมาจนถึงวันนี้ จึงมองได้ว่าการเผยแพร่แนวคิดมีความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ในด้านการก่อให้เกิดจุกพลิกผัน การชุมนุมครั้งนั้นอาจมองได้ว่าประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว  หากมองเพียงด้านการเปลี่ยนรัฐบาล การชุมนุมนั้นสำเร็จแม้ผู้ร่วมอุดมการณ์จะต้องจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลอีก 6 เดือนก็ตาม 

หากมองต่อไปถึงด้านการให้รัฐบาลนำการปฏิรูปประเทศชาติ โดยเฉพาะการลดความฉ้อฉล การชุมนุมล้มเหลว ทั้งนี้เพราะจากวันนั้นมาไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นอย่างจริงจัง 

สัญญาณของการจะไม่เกิดการปฏิรูปปรากฏขึ้นทันทีหลังวันที่ทหารยึดอำนาจในรูปของการแต่งตั้งที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งบางคนดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลก่อน  ที่ปรึกษาเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องมาเป็นเวลานานในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 

ส่วนเรื่องการลดความฉ้อฉล สัญญาณที่บ่งบอกว่าไม่น่าจะได้ทำคือ เรื่องการยืมนาฬิการาคาสูงของรองนายกรัฐมนตรีซึ่งดูจะยังมีเงื่อนงำยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนรัฐบาลแต่ไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจังโดยเฉพาะการไม่ลดความฉ้อฉลมีผลให้เห็นตำตาอยู่ในขณะนี้ 

เนื่องใน “วันมวลมหาประชาชน” วนมาครบรอบ 10 ปี

ปรากฏการณ์ที่น่าจะโดดเด่นที่สุดได้แก่ ผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลหลายสมัยและหนีโทษไปอยู่ในต่างประเทศกลับมารับผิดแต่ไม่ติดคุกตามที่สังคมโดยทั่วไปมองว่าน่าจะติดเพราะได้ลดโทษจาก 8 ปีเหลือ 1 ปีและมีข้ออ้างว่าป่วย จึงได้รับอนุญาตให้ไปนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว 

ปรากฏการณ์นี้ดูจะมีคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มที่ร่วมชุมนุมเมื่อ 10 ปีก่อนเชื่อว่าเกิดจากการสมคมคิดกันของหลายฝ่ายซึ่งอาจได้รับการตอบแทนในรูปใดรูปหนึ่ง  ส่วนความจริงจะเป็นตามความเชื่อนั้นหรือไม่ย่อมเป็นที่รู้อยู่แก่ใจของผู้เกี่ยวข้องโดยตรง

ณ วันนี้ สิ่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ การตอกย้ำความเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่นำไปสู่การเกิดคำพูดสุดแสนแทงใจที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”  คำพูดนี้มีมานาน แต่ปรากฏการณ์ที่กำลังตำตาน่าจะเป็น “ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ควายหลังหัก”