‘เรือดำน้ำ’ ลับลวงพราง ทร.VS การเมือง ใครคุมเกม

‘เรือดำน้ำ’ ลับลวงพราง ทร.VS การเมือง ใครคุมเกม

มหากาพย์"เรือดำน้ำ" ที่พยายามแปรสภาพเป็นเรือผิวน้ำ แต่"กองทัพเรือ"ขอสงวนสิทธิ์ไม่ระบุชนิดของเรือ ก็ไม่ชัดว่า สุดท้ายจะเป็น เรือฟริเกต เรือOPV หรือแท้จริงแล้วในใจ “ทหารเรือ” ยังเป็นเรือดำน้ำติดเครื่องยนต์จีนมาตั้งแต่ต้น

หาก “เรือดำน้ำ” คือมิติความมั่นคงที่ขาดหายไป ส่งผลให้กำลังรบทางเรือไม่สมบูรณ์ในการรับมือภัยคุกคามทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเล ตลอดจนถึงการสร้างอำนาจต่อรอง และหลักประกันความปลอดภัยของประเทศ

 “กองทัพเรือ” ก็ต้องยืนหยัดตามยุทธศาสตร์นี้ให้เหมือนกับในช่วงริเริ่มโครงการ ที่ยกแม่น้ำทั้ง 5 อ้างความจำเป็นต้องมี “เรือดำน้ำ” เข้าประจำการ หลังพยายามจัดหามากว่า 30 ปี นับตั้งแต่ปลดประจำการเรือดำน้ำ 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ เรือหลวงสินสมุทร เรือหลวงพลายชุมพล

จนได้รับการอนุมัติภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อ 25 ต.ค.2559 หลังคณะรัฐมนตรีไฟเขียวกรอบวงเงิน 36,000 ล้านบาท ให้จัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan class S26T แบบลดแลกแจกแถมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3 ลำ

ภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว ครม.ได้อนุมัติเมื่อ 18 เม.ย.2560 ให้กองทัพเรือดำเนินการจ้างสร้างเรือดำน้ำลำแรก โดยทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับบริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. ซึ่งเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยวงเงิน 13,500 ล้านบาท แบ่งชำระ 17 งวด รวม 7 ปี

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ “กองทัพเรือ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของเม็ดเงิน ตลอดจนถึงความไม่โปร่งใส อาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน จนเป็นที่มาของการร้ององค์กรอิสระให้เข้ามาตรวจสอบ

แต่ “กองทัพเรือ” ก็ไม่หวั่นเกรง กล้าทวนกระแสสังคม ฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ ด้วยการตั้งโต๊ะแถลง ชี้แจงเหตุผลที่ต้องมี“เรือดำน้ำ” หวังลดความคลางแคลงใจของประชาชน และสร้างความเข้าใจถึงกำลังรบทางเรือ ที่ต้องครอบคลุม 3 มิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ อากาศ

พร้อมยืนยันเรือดำน้ำ คืออาวุธทางยุทธวิธี และอาวุธทางยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือชั้นดีในการป้องปราม และอาวุธที่ต่อกรเรือดำน้ำได้ดีที่สุด ก็คือเรือดำน้ำด้วยกันเอง

ทุกอย่างเหมือนจะไปได้ดี แต่กองทัพเรือกลับเจอมรสุมลูกที่สอง ทันทีที่โควิด-19 ระบาด เป็นเหตุต้องถอนวาระการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ 2565 เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณไปดูแลประชาชน

พร้อมตั้งโต๊ะแถลงอีกรอบตอบโต้ฝ่ายการเมืองแบบถึงพริกถึงขิง ทั้งข้อครหาจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกแบบ“จีทูจีเก๊” และยังคงย้ำถึงความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำตามยุทธศาสตร์เดิมจำนวน 3 ลำ ก่อนเริ่มนับถอยหลังเตรียมส่งมอบเรือดำน้ำลำแรก ที่จะเดินทางมาถึงไทยปี 2566

ทว่า เรือดำน้ำลำแรกกลับประสบปัญหา จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมันมาติดตั้งให้ได้ จึงเสนอเครื่องยนต์CHD 620 ที่จีนผลิตเอง ทำให้การส่งมอบเรือดำน้ำล่าช้าออกไป เพราะกองทัพเรือไทยต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปทดสอบเครื่องยนต์ดังกล่าวหลายเดือน

จวบจนเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กองทัพเรือก็ยังยืนยันความต้องการเดิม พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผบ.ทร.คนก่อน ได้ทำหนังสือถึง “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เสนอให้ยอมรับเครื่องยนต์จีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำไทยก่อนเกษียณอายุราชการ

กองทัพเรือภายใต้ พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม ผบ.ทร.คนปัจจุบัน กลับเจอทางสามแพร่ง เรือดำน้ำกำลังถูกแปรสภาพเป็น“เรือผิวน้ำ” ตามที่ รมต.สุทิน กล่าวอ้างว่า กองทัพเรือเสนอ“เรือฟริเกต”ทดแทน

เรือดำน้ำถูกจม สื่อจั่วหัวข่าวใหญ่ เหตุฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วย หากเดินหน้าต่อหวั่นปัญหาในอนาคต ถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาล พร้อมกับนำกระแสสังคมมาเป็นข้ออ้าง จนเป็นที่มาการยกขบวนไปเจรจากับจีน ภายใต้นำของนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” และ รมว.กลาโหม สุทิน ขอเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตแทน

ส่วนกองทัพเรือก็เด้งรับ กางระเบียบ กฎหมาย ตรวจเช็คสัญญาจีทูจีที่ทำกับจีนกันยกใหญ่ หวังหาช่อง เสนอทางออก เปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตให้ รมว.กลาโหม

ในวันครบรอบ 117 ปี กองทัพเรือ 20 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา อดีต ผบ.ทร.ที่เคยสานต่อโครงการเรือดำน้ำตบเท้าเข้าร่วมงานพร้อมหน้าทั้ง พล.ร.อ.ธีระชัย ห้าวเจริญ พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญส่ง พล.ร.อ.ทวีศักดิ์ โสมาภา พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ พล.ร.อ.นริส ปทุมสุวรรณ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์

พล.ร.อ.อะดุง ผบ.ทร.คนปัจจุบัน จึงถือฤกษ์งามยามดีวันกองทัพเรือ เปิดเผยความชัดเจนเรื่องเรือดำน้ำเป็นครั้งแรกว่า

อดีตผู้บังคับบัญชาเดินหน้าโครงการนี้ในปี 2558 มีการลงนามกำหนดความต้องการตาม TOR เรื่องเครื่องยนต์ โดยเขียนรวมๆ ว่า เราต้องการ Diesel generator set ในขณะที่จีนเสนอ MTU 396 และตบท้ายด้วยว่า GB31L (ผลิตในจีน) ซึ่งขณะนั้นจีนได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตจากเยอรมันทั้งใช้งานและส่งออก จึงเซ็นสัญญากัน ยืนยันว่า ณ วันนั้นไม่มีฝ่ายใดบกพร่อง

"รัฐบาลให้เงินกองทัพเรือมาซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือก็ทำหน้าที่ซื้อเรือดำน้ำให้ได้ เราไม่มีหน้าที่จะมาบอกว่าเปลี่ยนเป็นเรืออื่น เพราะตามระเบียบการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ให้เงินมาซื้อเรือดำน้ำ ต้องได้เรือดำน้ำ เมื่อเดินมาถึงขั้นตอนที่คิดว่าต้องทำอย่างไร ถ้าเรือดำน้ำถึงทางตันจะเสนอเรืออะไรดี ที่เหมาะสมคือเรือผิวน้ำ ขอย้ำว่าเรือผิวน้ำ อย่าเพิ่งไปพูดเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ผมจะขอรับผิดชอบ คิดให้เอง จะซื้อเรือลำหนึ่งมีปัจจัยเป็นองค์ประกอบมากมาย"

พล.ร.อ.อะดุง ระบุด้วยว่า กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือถึงกรมพระธรรมนูญ สอบถามว่าการจะแก้ไขสัญญา ใครเป็นผู้อนุมัติ ครม. หรือรัฐสภา ส่วนกองทัพเรือทำหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด สอบถาม 1.การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 2.การเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไร ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาบอกว่าเปลี่ยนได้ 3.อนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร

เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้ ทัวร์จึงไปลง รมว.กลาโหม “สุทิน” เข้าอย่างจัง ทำให้ฝ่ายการเมืองจึงถึงกับควันออกหูกับความไม่ชัดเจนของ กองทัพเรือ 

“วันนั้นบอกจะเอาเรือฟริเกต วันนี้บอกขอแค่เรือผิวน้ำก่อน อย่าเพิ่งไปเอ่ยชื่อ และดูเหมือนจะวกกลับไปที่เรือดำน้ำติดเครื่องยนต์จีน เป็นทหารคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ เอาให้ชัด จะเอาเรือดำน้ำ หรือเรือฟริเกต” แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุ

มหากาพย์เรือดำน้ำที่พยายามแปรสภาพเป็นเรือผิวน้ำ แต่กองทัพเรือยังขอสงวนสิทธิ์ไม่ระบุชนิดของเรือ ก็ไม่ชัดว่า สุดท้ายจะเป็น

เรือฟริเกต เรือOPV หรือแท้จริงแล้วในใจ “ทหารเรือ” ยังเป็นเรือดำน้ำติดเครื่องยนต์จีนมาตั้งแต่ต้น เพียงแค่รอให้ฝ่ายการเมืองยอมจำนน

จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า การแก้ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ ระหว่างฝ่ายการเมืองกับกองทัพเรือ ใครเป็นฝ่ายคุมเกม