ร้อง กกต.เอาผิด 'เพื่อไทย - เศรษฐา' กลับลำกู้แจกเงินดิจิทัล หลอกลวงประชาชน

ร้อง กกต.เอาผิด 'เพื่อไทย - เศรษฐา' กลับลำกู้แจกเงินดิจิทัล หลอกลวงประชาชน

'ศรีสุวรรณ' ร้อง กกต. เอาผิด 'เพื่อไทย - เศรษฐา' หาเสียงว่าไม่กู้แจกเงินดิจิทัล แต่กลับลำออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน เข้าข่ายหลอกลวงจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ห่วงอนาคตพรรคการเมืองอ้างเกทับบลั๊ฟแหลก

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2566 ที่สำนักงาน​คณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.)​ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ตรวจสอบโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 ( 5 ) ( 1 ) ประกอบมาตรา 159 ของพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 หรือไม่ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 20 ปี

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในขณะนั้น พูดมาโดยตลอดว่าจะไม่มีการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ มีการทำหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมายัง กกต. ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองถึงที่มาของเงินที่จะใช้ ถือเป็นพยานหลักฐานชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ดำเนินการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล และนายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจะดำเนินการกู้เงินโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงขัดแย้งกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ชี้แจงมายัง กกต.ก่อนหน้านี้ จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวง จูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มาลงคะแนนเสียงให้กับพรรคตนเองหรือไม่ เรื่องนี้ท้าทายกับ กกต.อย่างมาก ว่า กกต.รับเรื่องนี้แล้วจะวินิจฉัยอย่างไร จะปัดตกเหมือนคำร้องก่อนหน้านี้ที่องค์กรฯ เคยร้องเรียนเรื่องนี้มาหลายครั้ง

“ถ้าปัดตกแล้วอ้างว่าสามารถทำได้ อนาคตพรรคการเมืองต่างๆ ก็จะอ้างเกทับบลั๊ฟแหลกกันอย่างมหาศาล อย่างพรรคเพื่อไทยบอกจะให้ 1 หมื่น พรรคอื่นก็อาจจะบอกว่าให้ 2 ถึง 3 หมื่น หรืออาจจะบอกว่าจะแจกทองคำให้กับประชาชนทุกคนก็ได้ และเมื่อถึงเวลาปฏิบัติก็จะอ้างนั้นนี่ ซึ่งก็จะไม่เป็นไปตามที่ได้ชี้แจงไว้กับ กกต.ตามที่กฎหมายกำหนด กกต.ในฐานะคนที่ควบคุมดูแลจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์เที่ยงธรรมต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างชัดเจน ต้องมีเหตุผลอธิบายต่อสังคมว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่าฝืนก็ต้องลงโทษพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐา” นายศรีสุวรรณ กล่าว

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ที่ กกต.พิจารณาไปแล้ว หลังพรรคชี้แจง นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ใช่ว่า กกต.เป็นคนอนุมัติเรื่องนี้แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามที่ กกต. อนุมัติ ก็ถือเป็นหลักฐาน และเหตุให้ กกต.จะต้องหยิบเอาคำร้องนี้มาพิจารณา และดำเนินการลงโทษตามคำร้อง

เมื่อถามว่า ที่รัฐบาลระบุว่า จะมีการลดสัดส่วนคนที่ได้รับแจก และแนวทางการหาเงินมาใช้กับโครงงานนี้ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตนคิดว่าในข้อกฎหมาย พ.ร.บ.การหาเสียงปี 2561 ในมาตรา 72 และมาตรา 5 เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าการหาเสียงคือ 1.จะต้องไม่ให้ ไม่เสนอให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด 2.ไม่ให้มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา ซึ่งข้อห้ามเขาก็ได้เขียนไว้ชัดเจน คือ ห้ามจูงใจที่จะทำให้ความนิยมในพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการกระทำเช่นนี้ก็มีกฎหมายควบคุมอยู่ ในเมื่อพรรคการเมืองไม่ปฏิบัติตามที่ตนเองหาเสียงไว้ก็จะต้องมีความผิด โทษมีทั้งจำคุกและปรับ รวมถึงการตัดสิทธิทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 10 ปี

นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า การที่ก่อนหน้านี้ กกต. ยกคำร้องนี้ไปแล้วระบุว่า ไม่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เขาอ้างว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณตามปกติ แต่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังระบุไว้ชัดเจน ว่าการที่จะออกกฎหมายกู้เงินนั้นต้องมีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้การร้องเรียนครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่แล้ว เพราะร้องครั้งที่แล้วไม่มีเรื่องการออกพ.ร.บ.เงินกู้ เราร้องเพียงว่าการออกนโยบายแบบนี้ไม่น่าเป็นไปได้ และเมื่อเขาอ้างว่าเป็นการใช้เงินแผ่นดิน จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามที่เคยร้อง แต่ครั้งนี้เข้าข่ายความผิดแล้ว และวันที่ 17 พ.ย.นี้ ตนจะไปร้อง ป.ป.ช. เนื่องจากว่าเขาพูดมาตลอดว่าจะไม่กู้เงิน ทั้งนายกฯ พูดผ่านสื่อและเวทีหาเสียง แต่มาวันนี้จะมากู้เงิน จึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน อาจเข้าข่ายความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์