เรืองไกร ขู่ 'เศรษฐา-ครม.' อ้างแค่ ม.53 กู้แจก 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่ถูกต้อง

เรืองไกร ขู่ 'เศรษฐา-ครม.' อ้างแค่ ม.53 กู้แจก 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไม่ถูกต้อง

"เรืองไกร" ส่งหนังสือเตือน "เศรษฐา" เตรียมออกพรบ.กู้เงิน 5 แสนล้าน แจก "ดิจิทัลวอลเล็ต" อ้างแค่ ม.53 พรบ.วินัยการเงินการคลังฯ ไม่ถูกต้องครบถ้วน ต้องดูกฎหมายอื่นด้วย ขู่ "ครม." ร่วมรับผิดชอบ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แลัรมว.คลัง แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ถึงการจะออก พรบ.กู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5แสนล้านบาท ว่า กรณีดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นต่างๆนานา อย่างแพร่หลาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้นำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากล่าวเพิ่มด้วย เพราะนายเศรษฐา กล่าวเพียงเฉพาะส่วนว่า การจะออกพรบ.กู้เงินเป็นไปตาม มาตรา 53 ของพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การที่นายเศรษฐา พูดถึงเพียงมาตรา 53 เท่านั้น ไม่น่าจะครบถ้วนถูกต้อง เพราะการจะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าว เป็นกฎหมายการเงิน มีทั้งข้อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องอีกมาก 

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนเห็นว่าเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา จึงต้องทำหนังสือเตือนถึงนายเศรษฐาเพื่อให้ทราบถึงข้อกฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปตรวจสอบการจะตราพรบ.กู้เงิน ดังกล่าว มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะผู้ลงมติในการเสนอร่างพรบ.หรือไม่ 

เรืองไกร ขู่ \'เศรษฐา-ครม.\' อ้างแค่ ม.53 กู้แจก \'ดิจิทัลวอลเล็ต\' ไม่ถูกต้อง

นายเรืองไกร กล่าวว่า มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ยังต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะโดยเคร่งครัด จึงควรไปพิจารณาพรบ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ด้วย โดยเฉพาะมาตรา 20 และมาตรา 22 โดย มาตรา 20 บัญญัติว่า ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

 

(1/1) บริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง

             

(2) พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

              

(3) ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ

              

(4) ให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ

             

(5) พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

ขณะที่มาตรา 22 การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กระทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องใช้เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินตราต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปี การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้กำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินอย่างชัดเจนและเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

นายเรืองไกร กล่าวว่า การจะออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เป็นร่างพรบ.เกี่ยวด้วยการเงิน ที่จะต้องเห็นชอบร่วมกันในคณะรัฐมนตรี จึงไม่อาจพิจารณาเฉพาะจากมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ตามที่นายเศรษฐา แถลงข่าวเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่ในบังคับภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย หากคณะรัฐมนตรีมีการฝ่าฝืน ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องข้อกฎหมายแทบทั้งสิ้น ที่ควรเตือนก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อเงินแผ่นดินซึ่งมีวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท ตนจึงจำเป็นต้องส่งหนังสือเตือนถึงนายเศรษฐาเพื่อขอให้ตรวจสอบการจะตราพรบ.กู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้าข่ายฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะผู้ลงมติในการเสนอร่างพรบ.หรือไม่