เร่งระดมสรรพกำลัง ช่วยแรงงานไทยในกาซา

เร่งระดมสรรพกำลัง ช่วยแรงงานไทยในกาซา

แรงงานไทยในอิสราเอลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก ญาติทางเมืองไทยก็อยากให้กลับบ้าน นายจ้างก็อยากให้อยู่ต่อ เหล่าแรงงานย่อมมีเหตุผลที่ยังกลับไทยไม่ได้ ขัดสนเรื่องใดเห็นทีเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปหาข้อมูลและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

ตอนนี้ความสนใจของโลกกำลังจับจ้องไปที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา ที่เริ่มต้นมาจากกลุ่มติดอาวุธของฮามาสข้ามแดนจากกาซาเข้าไปโจมตีในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ถูกจับเป็นตัวประกันอีกกว่า 200 คน อิสราเอลจึงตอบโต้ด้วยการถล่มกาซา ข้อมูลล่าสุดมีผู้เสียชีวิตกว่า 8,500 คนส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน ส่วนไทยแม้จะห่างไกลกันมากกับพื้นที่สู้รบ แต่มีแรงงานไทยอยู่ที่นั่นและถูกจับเป็นตัวประกัน 22 คน ชะตากรรมของตัวประกันชาวไทยและแรงงานที่ยังหลงเหลืออยู่เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ 

ฮามาสเริ่มให้ข่าวมาเป็นระยะๆ ว่าจะปล่อยตัวประกันต่างชาติในเร็ววันนี้ จากเดิมที่ปล่อยมาแล้ว 4 คน คู่แรกคือสองแม่ลูกชาวอเมริกันตามด้วยหญิงชราอิสราเอลอีกสองราย ส่วนชาวต่างชาติที่ติดอยู่ในดินแดนปิดล้อมกาซาเริ่มมีข่าวดีออกมาบ้างเมื่ออียิปต์เปิด “ราฟาห์” จุดข้ามแดนแห่งเดียวของกาซาที่อิสราเอลไม่ได้ควบคุม เมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) ชาวต่างชาติและชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับบาดเจ็บออกจากกาซาไปเป็นชุดแรกราว 320 คน ในจำนวนนี้เท่าที่หาข้อมูลทราบว่ามีชาวอเมริกัน 5 คน ชาวญี่ปุ่น 10 คนพร้อมครอบครัว ชาวออสเตรเลีย 20 คน 

ส่วนตัวประกันชาวไทยความพยายามช่วยเหลือดำเนินไปอย่างเข้มข้นทุกช่องทาง เป็นที่ทราบกันดีว่าแรงงานไทยทำงานในอิสราเอลมากที่สุดชาติหนึ่งส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร ก่อนเกิดเหตุมีอยู่ราว 30,000 คน เสียชีวิต 32 คน บาดเจ็บ 19 คน อพยพกลับมาแล้วกว่า 7,000 คน แสดงว่ายังอยู่ในอิสราเอลอีกมาก สื่อต่างประเทศรายงานว่า แรงงานไทยในอิสราเอลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก ญาติทางเมืองไทยก็อยากให้กลับบ้าน นายจ้างก็อยากให้อยู่ต่อ เหล่าแรงงานย่อมมีเหตุผลที่ยังกลับไทยไม่ได้ ขัดสนเรื่องใดเห็นทีเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปหาข้อมูลและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

เห็นความพยายามของรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องให้กำลังใจ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลยกหูโทรศัพท์คุยกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เรื่องการส่งแรงงานไทยไปทำงานเป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐก็ต้องให้นายกฯ คุยกัน ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรีปานปรีย์ พหิทธานุกร เดินสายไปคุยกับอียิปต์ กาตาร์ ทั้งยังได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านด้วย สามประเทศนี้นับว่ามีบทบาทอย่างมากต่อวิกฤติครั้งนี้ 

อีกความพยายามหนึ่งมาจากอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับมอบหมายจากวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ให้ไปคุยกับแกนนำฮามาสที่อิหร่านเรื่องการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันคนไทย เบื้องต้นได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะดูแลคนไทยเป็นอย่างดีและจะปล่อยตัวออกมาเมื่อเวลาเหมาะสม แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นอย่างไร แต่เห็นพยายามของทุกฝ่ายที่พยายามประสานช่วยเหลือแรงงานไทยตามคอนเนคชันที่ตนเองมีถือว่าน่าชื่นใจ อย่ามองเป็นเรื่องข้ามหน้าข้ามตาในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานชีวิตคนไทยสุ่มเสี่ยงช่วยอะไรกันได้ก็ต้องช่วยกันไปอย่างด่วนที่สุด