จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

ไม่นาน จะได้เห็น “ชัยธวัช” ในบทบาท "ผู้นำฝ่ายค้าน" ทว่าตำแหน่งนี้ ความสำคัญไม่ใช่แค่การตรวจสอบ"รัฐบาล" เท่านั้น เพราะมีบทบาท "ผู้ควบคุมจริยธรรม สส." อีกด้วย

หลังจากปิดสมัยประชุมของสภาฯ เมื่อ 31 ต.ค.2566 ยังมีประเด็นน่าติดตาม คือ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” โดยขณะนี้ ในขั้นตอนของรัฐธรรมนูญถูกปลดล็อกในตำแหน่งที่ทับซ้อนกัน ระหว่างผู้นำฝ่ายค้านฯ กับ “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” แล้ว

เมื่อ “พรรคเป็นธรรม” โดย “ปิติพงศ์ เต็มเจริญ” หัวหน้าพรรค ตอบรับ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งถูกพรรคก้าวไกล ขับออกจากสมาชิกพรรค เข้าเป็นสมาชิกพรรคเป็นธรรมแล้ว เมื่อ 25 ต.ค.2566

จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

ทำให้เงื่อนไขทูลเกล้าฯ ชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล "ชัยธวัช ตุลาธน” เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญ ยังเหลือขั้นตอนรับรองจาก คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ ในฐานะผู้ทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ บอกว่า เมื่อ สส.ปดิพัทธ์เข้าสังกัดพรรคเป็นธรรมอย่างเป็นทางการแล้ว ขณะนี้ยังเหลือหนังสือรับรองที่พรรคก้าวไกลต้องประสานจาก กกต. และนำส่งมาให้สภาฯ เพื่อนำไปประกอบการดำเนินการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ

จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

คาดว่าหลังจากที่ได้รับหนังสือรับรองชัยธวัชให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอย่างเป็นทางการ “วันนอร์” จะใช้เวลาดำเนินการทูลเกล้าฯ ไม่เกิน 7 วัน

ขณะที่การทำหน้าที่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” อย่างเป็นทางการนั้น ยังต้องรอขั้นตอนตามกระบวนการอีก

สำหรับบทบาทของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มีสาระสำคัญคือ 

มาตรา 155 มีอำนาจยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย หรือเศรษฐกิจของประเทศ โดยไม่มีการลงมติเรื่องที่อภิปราย กรณีนี้กำหนดให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมภายใน 15 วัน

มาตรา 203 ผู้นำฝ่ายค้านจะทำหน้าที่กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

นอกจากนั้นในกระบวนการของสภาฯ ยังกำหนดให้ผู้นำฝ่ายค้านเป็น กรรมการจริยธรรมโดยตำแหน่ง มีหน้าที่และอำนาจเป็นผู้กำกับดูแลจริยธรรมของ สส.

แน่นอนว่าในประเด็น “จริยธรรม สส.” นั้นถือเป็นประเด็นแรกที่ต้องตั้งคำถามเอาจาก “ชัยธวัช” หลังจากที่พรรคก้าวไกลเผชิญปมปัญหาจริยธรรม สส.ในพรรค ทั้ง “สส.วุฒิพงษ์ ทองเหลา” สส.ปราจีนบุรี ปมถูกร้องแชตสยิวกับทีมงานสาว ซึ่งเป็นอาสาสมัครหาเสียง และ "สส.ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์” สส.กทม. ที่มีพฤติกรรมคุกคามลวนลามทีมงานหญิงของพรรคก้าวไกล

จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

แม้กระบวนการของพรรคจะตรวจสอบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และขั้นตอน โดยวันที่ 1 พ.ย. จะมีมติของ สส.และกรรมการบริหารชี้ชะตาเรื่องดังกล่าว

ทว่า ในแง่ “เกมการเมือง” แน่นอนว่าเรื่องนี้จะไม่หยุดแค่กระบวนการภายในพรรคเท่านั้น และตามสถานะของ “สส.” ต้องมีเรื่องให้ตรวจสอบจริยธรรม เพื่อให้มีผลต่อสถานะ “นักการเมือง” ที่ใช้เป็นจุดชี้วัดในเกมเลือกตั้งที่จะมาถึง

ตามพฤติกรรมของ 2 สส.ที่ถูกตั้งเรื่องสอบ หากจะนับว่า “เข้าข่าย” ขัดกับประมวลจริยธรรมของ สส. และกรรมาธิการ พ.ศ.2563 อาจถือว่าเข้าข่ายทั้งในประเด็นไม่รักษาเกียรติภูมิและชื่อเสียงของสภาฯ ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น เป็นต้น

เหตุที่เกิดขึ้น ถูกวิจารณ์ในวงกว้างและสังคมมองภาพในแง่ลบ ไม่เฉพาะ “เจ้าตัว-พรรคต้นสังกัด” เท่านั้น แต่ยังลามถึงภาพพจน์ของสภาฯชุดปัจจุบัน

ในฐานะ “ชัยธวัช” ที่นั่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นกรรมการจริยธรรม ตามกติกาต้องนั่งทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” หากเป็นประเด็นของ “ลูกพรรคตัวเอง”ตามระเบียบ มิอาจปฏิเสธการทำหน้าที่ได้

จับตาบทบาท “ผู้นำฝ่ายค้าน” ตรวจสอบรัฐ-กำกับจริยธรรม สส.

ต่อประเด็นนี้​ “นิกร จำนง” อดีตเลขานุการกรรมการจริยธรรมสภาฯ ชุดที่25 และผู้ยกร่างกติกาเพื่อสอบจริยธรรม สส. บอกว่า การสอบจริยธรรมของ สส.ชุดที่ผ่านมา กรรมการจริยธรรมที่มาจากพรรคการเมืองยังทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบคำร้อง สส.ที่มาจากพรรคเดียวกัน เว้นแต่เป็นเรื่องที่ตัวเองถูกสอบที่จะถูกเชิญ หรือขอไม่ให้เข้าร่วมประชุม

หมายความว่า ในกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นในกติกาที่กำหนดให้เป็นหลักเกณฑ์ตรวจสอบจริยธรรม ไม่มีเงื่อนไขห้าม “ผู้นำฝ่ายค้าน" ทำหน้าที่กรรมการจริยธรรม ในประเด็นที่คนของตัวเองถูกสอบ

แม้ผู้นำฝ่ายค้านจะมีสิทธิ “ไม่เข้าร่วม” ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะท้ายสุดการตัดสิน ว่าสส.ที่ถูกสอบจะมีพฤติกรรมเข้าข่ายจริยธรรมหรือไม่ และต้องได้รับการลงโทษสถานใด จำเป็นต้องใช้มติของกรรมการจริยธรรม ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่คือ 15 คน

ดังนั้นในประเด็น 2 สส.ก้าวไกลที่ถูกร้องเรียนพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับสถานะของ “ผู้แทนราษฎรที่มีเกียรติ” แม้ที่ผ่านมา “ชัยธวัช” ฐานะ แกนนำพรรคก้าวไกล ยังไม่แสดงท่าทีอย่างชัดเจน นอกจากให้ความเห็นว่า “ต้องให้ความเป็นธรรม” และ “ปล่อยให้กรรมการตรวจสอบของพรรคดำเนินการ”

ทว่า การเข้ารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านที่สวมบทบาท “กรรมการจริยธรรม” ด้วยนั้น ไม่สามารถปฏิเสธหน้าที่ และอำนาจในการควบคุมและกำกับ สส. ในประเด็นจริยธรรมไปได้

หรืออย่างน้อยต้องมีบทบาทที่แจ่มชัดต่อบทบาทตรวจสอบ และจัดการลูกพรรคของตัวเองที่มีข้อครหาในประเด็นที่อ่อนไหวต่อสังคม เพราะเรื่องดังกล่าวย่อมมีผลต่ออุดมคติทางการเมือง ต่อค่านิยมที่ “ก้าวไกล” พยายามสร้างขึ้นในสังคม ในแง่ความเท่าเทียม - เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งหมดนี้ “ชัยธวัช” ในบทบาท "หัวหน้าพรรคก้าวไกล-ผู้นำฝ่ายค้าน-กรรมการจริยธรรมสภาฯ" ต้องทำให้ชัดเจน ไม่เลือกทำเฉพาะการวางบทบาทตรวจสอบฝ่ายรัฐ ที่หวังผลได้ในทางการเมืองเท่านั้น.