50 ปี 14 ตุลา เราจะไปทางไหนกัน? | วิทยากร เชียงกูล

50 ปี 14 ตุลา เราจะไปทางไหนกัน? | วิทยากร เชียงกูล

50 ปีหลังจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516 สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (ทุนนิยม) ขึ้นระดับหนึ่ง แต่ยังน้อยกว่าที่คนเดือนตุลาคมเคยฝันและคาดหวังไว้

บทเรียนที่สำคัญคือ ชนชั้นผู้ปกครองไทยหัวเก่า เห็นแก่อำนาจประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป ขณะที่นักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม มองเรื่องประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในแง่ดีหรือแง่อุดมคติที่บรรลุได้อย่างไม่สมจริง

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ หลังจากที่ชนชั้นผู้ปกครองควบคุมอำนาจทางการเมืองและทางทหารตำรวจได้มั่นคงขึ้น พวกเขาเริ่มใช้กลยุทธ์ “ต่อหน้าประชาธิปไตยลับหลังเผด็จการฟาสซิสต์” เพื่อลดบทบาทและทำลายขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่เหตุการณ์ปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ต.ค.2519

เหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 เกิดจากการที่ชนชั้นนำผู้ปกครองที่เป็นพวกจารีตนิยมสุดโต่งกลัว “ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา” จนเกินความจริง (กลัวว่าจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์แบบจีนและเวียดนาม) พวกเขาตั้งใจปราบปรามขบวนการนักศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ขบวนการนักศึกษาอาจเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงไปเข้าทางข้ออ้างของพวกเขาได้เร็วขึ้นเท่านั้น 

ถึง “6 ตุลา 19” จะเป็นความผิดพลาดของชนชั้นผู้ปกครอง เรื่องทั้งหมดน่าจะเป็นบทเรียนบทหนึ่งสำหรับคนรุ่นหลังที่สนใจจะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยุคต่อไป

คนที่เป็นตัวการทำให้ประเทศไทยถอยหลังจากสังคมประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เริ่มต้นจะมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมอยู่บ้าง คือ กลุ่มชนชั้นผู้ปกครองไทยที่มีแนวคิดจารีตนิยม ห่วงอำนาจและผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม ทำให้ประเทศไทยซึ่งตอนนั้นเจริญทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าเกาหลีใต้ ต้องถอยหลังถูกประเทศอื่นๆ แซงหน้าไปในปัจจุบัน

50 ปี 14 ตุลา เราจะไปทางไหนกัน? | วิทยากร เชียงกูล

ขนาดคนอย่าง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตเสรีไทย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรีและนักปฏิรูปแนวสันติวิธี และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2517-2519 ยังถูกชนชั้นสูงและฝ่ายขวาทั้งหลายโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต้องลี้ภัยไปประเทศอังกฤษ นักวิชาการ นักปฏิรูปแนวก้าวหน้าคนอื่นๆ ก็ถูกลดความสำคัญ ลดบทบาทลง

บทเรียนสำหรับเหตุการณ์ 3 ปีช่วง 14 ต.ค. 2516 ถึง 6 ต.ค. 2519 คือ ทั้งความคิดขวาสุดโต่งของชนชั้นนำและซ้ายสุดโต่งของแกนนำบางส่วนของขบวนการนักศึกษาล้มเหลวทั้งคู่ นำไปสู่การปราบปรามขบวนการนักศึกษาประชาชน ที่รวมทั้งนักเสรีประชาธิปไตยส่วนใหญ่

ความคิด “ขวาจัดสุดโต่ง” เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันและการปราบปรามขบวนการนักศึกษาอย่างรุนแรงมากกว่า ขณะที่พวกนักศึกษาคนหนุ่มสาวยังอ่อนวัย ขาดประสบการณ์และขาดโอกาสที่จะเผยแพร่และสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจคิดไปในแนวทางเปลี่ยนแปลงประเทศที่ก้าวหน้าไปในแนวทางสังคมนิยม

การโดนรัฐบาลฝ่ายขวาขัดขวางและปราบปรามอย่างไม่เป็นธรรม ยิ่งทำให้พวกนักศึกษาและคนหนุ่มสาวหัวรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก

ในด้านหนึ่ง ในช่วงปี 2516-2519 พวกนักศึกษา ปัญญาชน ผู้นำแรงงาน ผู้นำชาวนาพยายามส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน แต่พวกเขาทำได้ไม่มากนักเนื่องจากมีกำลังคนน้อยและเวลาน้อยไป รวมทั้งมีการลอบสังหารผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาปัญญาชน ผู้นำแรงงาน นักการเมืองฝ่ายก้าวหน้า

การปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงเกินเหตุในวันที่ 6 ต.ค. 2519 และการจับกุมผู้ชุมนุมราว 3 พันคน ทำให้นักศึกษาประชาชนหลายพันคนเลือกเข้าป่าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะพวกเขาถูกบีบบังคับไม่ให้เหลือทางเลือกอื่น ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้นิยมและไม่ได้รู้จัก พคท. ที่เป็นองค์กรเล็กๆ ทำงานแบบใต้ดินอย่างระมัดระวังตัวมากนัก

ในอีก 4-5 ปีต่อมา ขบวนการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมของไทยในเขตชนบทพ่ายแพ้ ด้วยปัจจัยความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสากลและภายในประเทศ ประเทศไทยจึงพัฒนาไปตามแนวทางเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ที่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบพึ่งพาบรรษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้น

เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมบางอย่าง เช่น เด็กเยาวชน ประชาชนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น ได้รับส่วนแบ่งจากการพัฒนาเศรษฐกิจจนเติบโตเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางมีอำนาจและปากเสียงเพิ่มขึ้นบ้าง แต่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การกระจายผลการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งและปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้น

แต่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกแบ่งแยกและปกครองเป็นกลุ่ม ที่นิยมชนชั้นนำและพรรคการเมือง มีลักษณะกระจัดกระจาย อ่อนแอ ถูกครอบงำทางอุดมการณ์, ความเชื่อจากชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับยุค 14 ต.ค.2516 ถึง 6 ต.ค.2519 ซึ่งขบวนการนักศึกษา สหภาพแรงงาน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ และกลุ่มนักวิชาการ นักวิชาชีพต่างๆ ในยุคนั้นเคยเข้มแข็ง เป็นตัวของตัวเอง และสามารถผนึกกำลังเรียกร้องต่อรองกับชนชั้นผู้ปกครองในยุคนั้นได้ในมากกว่ายุคอื่นๆ

6 ต.ค. 2519 ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่โศกนาฏกรรม แต่เป็นการตัดโอกาสที่ประเทศไทยจะปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ หากไม่เกิด 6 ต.ค. และเราเลือกแนวทางสายกลางที่ปฏิรูปเพื่อสิทธิเสรีภาพความเป็นธรรม เช่น แนวคิดของ อ.ป๋วย (เรื่องสันติประชาธรรมและอื่นๆ) เราจะก้าวไปไกลกว่าเกาหลีใต้ ซึ่งในตอน 50 ปีที่แล้วยังล้าหลังเราอยู่

ทางเลือกในปัจจุบัน คือ เราต้องค้นคว้าและเผยแพร่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสังคมในแนวเสรีนิยมที่ก้าวหน้า ใช้ระบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและสังคมนิยมแบบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจการบริหารและทรัพยากรที่ประชาชนในจังหวัดและท้องถิ่นระดับต่างๆ จัดการตนเองได้มากขึ้น 

ประชาชนที่ตื่นตัวรู้ปัญหาควรสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มองค์กรประชาชน เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมชาวไร่ สมาคมอาชีพต่างๆ สหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภคและสหกรณ์ประเภทต่างๆ ฯลฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และทำให้เป็นองค์กรที่มีความรู้ มีกำลังที่เข้มแข็ง

ประชาชนส่วนใหญ่จึงจะมีความรู้และอำนาจที่จะไปต่อรองกับชนชั้นนำ สามารถสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ มีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคทางโอกาส ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การรักษาพยาบาล บริการทางสังคมด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นได้

ไม่ใช่แค่สิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นเพียงสิทธิขั้นต่ำและยังเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพ ถ้ายังไม่ได้ปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมทั้งระบบอย่างแท้จริง