'ก้าวไกล' ขวางดิจิทัลวอลเล็ต! หวั่นเพิ่มภาระคลัง ชี้แจงความจำเป็น คุ้มค่า

'ก้าวไกล' ขวางดิจิทัลวอลเล็ต! หวั่นเพิ่มภาระคลัง ชี้แจงความจำเป็น คุ้มค่า

‘ชัยวัฒน์ ก้าวไกล’ เตือนรัฐบาล เล็งทลายเพดานภาระการคลังเป็น 45% ทำดิจิทัลวอลเล็ต - พักหนี้ ส่อเพิ่มภาระคลัง เหมือนเทหมดหน้าตัก เสี่ยงไม่เหลือทางหนีทีไล่ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แนะเปิดข้อมูลปัจจุบัน แจงความจำเป็น - ความคุ้มค่า - ตอบสังคมด้วยแผนที่ชัดเจน

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2566 นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณ โดยมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายรัฐบาลในการดูแลประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น 

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า นโยบายรัฐบาลดังกล่าวน่าจะหมายถึงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และการพักหนี้เกษตรกร ความน่ากังวลของแนวทางนี้คือ ความโปร่งใสของการใช้เงินงบประมาณมหาศาลหลายแสนล้านบาท โดยมติของ ครม. ไม่ต้องผ่านสภาฯ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ตรวจสอบ ทั้งในแง่การใช้เงิน และภาระการคืนเงินต้น และดอกเบี้ย 

สิ่งที่ตามมาจากการทลายเพดานภาระการคลังตามมาตรา 28 คือ

1.เพิ่มภาระทางการคลัง แม้การให้แบงก์รัฐหรือหน่วยงานของรัฐใดๆ สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งในกรณีนี้คือ การล้วงเงินจากแบงก์รัฐอย่างธนาคารออมสิน มาใช้ก่อน จะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย แต่รายจ่ายก้อนนี้ก็หนีไม่พ้นต้องเป็นภาระผูกพันของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้คืนในอนาคต เช่น ปัจจุบันที่จ่ายหนี้คืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละเกือบแสนล้านบาท เบียดบังงบที่จะใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น และถ้างบประมาณไม่พอก็จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น หรือกู้เงินมาเพื่อชดเชยการขาดดุล

2.การทลายกรอบสร้างภาระการคลังอย่างหมดหน้าตัก จะทำให้ไม่เหลือขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง (Policy Space) เสมือนรัฐบาลเดินเข้าตาจน จะไม่มีทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

3.อันดับเครดิต (Credit rating) ของประเทศไทย อาจแย่ลง จากระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ย่อมส่งผลให้รายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ยืมของรัฐบาลไทย เกี่ยวข้องไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน เงินทุนไหลออก และค่าเงินบาทอ่อนตัวในระยะกลาง

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรชี้แจง และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส คือ

(1) เปิดเผยข้อมูลภาระทางการคลังตามมาตรา 28 ณ ปัจจุบัน และคาดการณ์ภาระใหม่ว่าต้องการเพิ่มเติมอีกกี่แสนล้านบาทจากการผลักดันนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย พร้อมประมาณการต้นทุนทางการเงินทั้งหมด

(2) พิจารณาตัวเลขกรอบวินัยการเงินการคลังที่จำเป็นให้สมเหตุสมผลตามข้อมูลจริง ว่าหากต้องมีการผ่อนคลาย ควรเป็นเท่าไร ไม่ควรเผื่อไว้ที่ 45% แต่ควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าต้องการเพิ่มรายจ่ายอีกเท่าใด ต้องปรับเพดานเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์

(3) ชี้แจงความจำเป็น และผลประเมินความคุ้มค่าของการขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง  รวมถึงมีแผนที่เป็นข้อผูกพันที่ชัดเจนกับสังคมด้วยว่าจะปรับลดภาระทางการคลังอย่างไร ภายในกรอบเวลาใด ตามที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังระบุไว้ว่า คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

(4) กลไกการตรวจสอบการใช้เงินนอกงบประมาณ ที่ล้วงจากกระเป๋าแบงก์รัฐ ว่าไม่ได้ถูกใช้ไปนอกเหนือวัตถุประสงค์

นายชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Moral Hazard เป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงในการบริหารประเทศ ด้วยการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ ว่าสามารถทำลายกรอบวินัยการเงินการคลังได้ง่ายๆ เพื่อหาเงินมาทำนโยบายใดก็ตาม เพียงมีมติกรรมการวินัยการเงินการคลัง และ ครม. ซึ่งมีนายกฯ และ รมว.คลัง นั่งอยู่ในทั้งสองคณะ ถือเป็นโครงสร้างธรรมาภิบาลที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และต่อประชาชนในระยะยาว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์