เลขาฯ ACT ยก 3 ข้อถึง 'กองทัพเรือ' เปลี่ยนสเปค 'เรือดำน้ำ' ทำได้หรือไม่

เลขาฯ ACT ยก 3 ข้อถึง 'กองทัพเรือ' เปลี่ยนสเปค 'เรือดำน้ำ' ทำได้หรือไม่

'ดร.มานะ' เลขาฯ ACT ตั้ง 3 ข้อสังเกตถึง 'กองทัพเรือ' ปมเปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์ 'เรือดำน้ำ' ทำได้หรือไม่ เหตุเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ TOR ลั่นการซื้อแบบจีทูจี ไม่ได้หมายความว่าปราศจากคอร์รัปชัน

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตกรณีกองทัพเรือ อนุมัติให้เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ระบุว่า กองทัพเรือจะยอมรับเรือดำน้ำที่เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์ ได้หรือไม่ โดยประเด็นมีดังนี้

1.ตามกฎหมาย การเปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระ “สำคัญ” ของสินค้าไปจากเงื่อนไขการจัดซื้อ (ทีโออาร์) และ มติ ครม. ที่อนุมัติให้จัดซื้อ ดังนั้น

  • ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ทำไม่ได้แน่นอนเพราะเกิดความไม่เป็นธรรม ผิดหลักปฏิบัติของราชการที่ใช้กันมาช้านาน
  • แต่กรณีนี้เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ มาตรา 7(2) เพราะเป็นการซื้อยุทธภัณฑ์ แบบรัฐต่อรัฐ จึงเหลือประเด็นเดียวว่า ครม. ชุดใหม่จะมีมติอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงตามที่กองทัพเรือเสนอหรือไม่

2.ขั้นตอนต่อไป กองทัพเรือต้องเสนอเรื่องต่อ รมว. กลาโหมพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม. ต่อไป

  • การตัดสินใจยกเลิกสัญญาหรือยอมรับเครื่องยนต์สำหรับผิวน้ำตามที่เขาเสนอมา ผู้มีอำนาจต้องมีสติ โดยตระหนักว่า ชีวิตทหารบนเรือดำน้ำล้วนมีค่าต่อตัวเขาเอง ครอบครัว สังคมและความมั่นคงของชาติ การตัดสินใจจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น รักษาหน้าหรือเอาใจใคร
  • ระหว่างนี้นอกจากศึกษาประเด็นกฎหมายให้รอบคอบแล้ว ฝ่ายไทยควรส่งทีมผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือ ไปตรวจสอบและประเมินระบบและความปลอดภัยหากเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ในกรณีนี้ควรมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่สังคมยอมรับไปร่วมด้วย
  • หากสุดท้ายกองทัพเรือยอมตามผู้ขาย ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบเงื่อนไขที่ยอมรับและประโยชน์หรือการชดเชยที่กองทัพจะได้รับมากขึ้นว่าคืออะไร

3.การจัดซื้อแบบจีทูจี ไม่ได้การันตีว่าปราศจากคอร์รัปชัน คนไทยเคยเห็นมามากแล้วว่าเกิดจีทูเจี๊ยะ ซื้อของแพง ซื้อแล้วไม่ได้ใช้ ใช้ไม่คุ้มค่า และซื้อแบบเต็มใจให้หลอก

การจัดซื้อสีเทาๆ ที่อื้อฉาว เช่น การซื้อเรือเหาะ (420 ล้านบาท) เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 และอัลฟ่า 6 (751 ล้านบาท) เฮลิคอปเตอร์ฝึกบิน (1.18 พันล้านบาท) รถถังยูเครน (3.89 พันล้านบาท) ฝูงเครื่องบินกริพเพน (3.9 หมื่นล้านบาท) เรือฟริเกต (3 หมื่นล้านบาท) ทริปฮาวายสุดหรูของอดีตรองนายกฯ การซื้ออาวุธจากบริษัทที่ควรจะติดแบล็คลิสต์ การถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม 2 โครงการ ฯลฯ

"สรุป ที่ผ่านมากองทัพมักถูกชี้ว่าเอาเปรียบหน่วยราชการอื่น เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ ไม่โปร่งใส ใช้วิธีนอกกติกาหลัก หวังว่าการใช้เงินภาษีจากประชาชนในโครงการมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาทครั้งนี้ จะไม่กลายเป็นเรื่องขบขันน่าละอายระดับโลกหรือมีค่าโง่ตามมาให้คนไทยต้องเจ็บช้ำอีกครั้ง" ดร.มานะ ระบุ