กสม.ชี้หว่านแหตรวจสารเสพติดในสถานประกอบการ เป็นการละเมิดสิทธิ

กสม.ชี้หว่านแหตรวจสารเสพติดในสถานประกอบการ เป็นการละเมิดสิทธิ

กสม.ชี้ตรวจหาสารเสพติด ในสถานประกอบกิจการแบบเหมารวม หรือสุ่มตรวจ เป็นการละเมิดสิทธิ ชงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนธ.ค. 2565 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี โดยบริษัทจัดให้มีการตรวจหาสารเสพติดและไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า มีการปิดประตูรั้วโรงงานและให้พนักงานที่ทำงานรอบกลางคืนเข้ารับการตรวจหาสารเสพติดทุกคน แม้จะแจ้งว่าพนักงานสามารถลงลายมือชื่อแสดงความยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ได้ แต่พนักงานเกรงว่าถ้าไม่ยินยอมจะมีผลกระทบต่อการประเมินปรับเงินประจำปี เงินโบนัส หรือตำแหน่ง จึงยินยอม ต่อมาผู้ร้องได้แสดงความประสงค์ขอถอนเรื่อง แต่เนื่องจากการตรวจหาสารเสพติดในสถานประกอบกิจการอาจกระทบต่อสิทธิแรงงาน กสม. จึงได้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ

กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน ความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รวมถึงมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

นอกจากนี้ยังเห็นว่า สถานประกอบกิจการซึ่งเป็นโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 9 มี.ค.2565 ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการตรวจหาสารเสพติดในลูกจ้าง อีกทั้ง การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดในโรงงานเกิดขึ้นเนื่องจากสถานประกอบกิจการสมัครใจเข้าร่วมและดำเนินการตามโครงการโรงงานสีขาว และโครงการมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งโครงการดังกล่าว มีหัวข้อประเมินหัวข้อหนึ่งที่กำหนดมาตรการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยให้สถานประกอบกิจการมีกระบวนการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาในสถานประกอบกิจการ และแม้ว่าการได้รับการรับรองตามโครงการโรงงานสีขาว และ มยส. ไม่ได้กำหนดว่าสถานประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามหัวข้อประเมินให้ครบทุกข้อจึงจะได้รับการรับรอง และนายจ้างไม่สามารถกำหนดข้อบังคับการทำงานให้ลูกจ้างต้องตรวจหาสารเสพติดได้ก็ตาม แต่ปรากฏว่ายังมีสถานประกอบกิจการบังคับลูกจ้างตรวจหาสารเสพติดในลักษณะเดียวกับที่มีการร้องเรียน กสม. ดังนั้น การที่สถานประกอบกิจการจัดกิจกรรมตรวจหาสารเสพติดในลูกจ้างไม่ว่าโดยการสุ่มตรวจหรือตรวจแบบเหมารวม ตามหลักเกณฑ์ของ มยส. จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของลูกจ้าง อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนกรณีที่สถานประกอบกิจการใช้วิธีการให้ลูกจ้างแสดงความยินยอมให้ตรวจสอบสารเสพติด ถึงแม้จะสามารถทำได้ตามหลักกฎหมาย แต่เมื่อการตรวจหาสารเสพติดเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของลูกจ้าง การให้ความยินยอมควรต้องเป็นความสมัครใจอย่างแท้จริง ปราศจากการถูกโน้มน้าว บีบบังคับ หลอกให้เชื่อ หรือกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจากบุคคลหรือบรรยากาศแวดล้อม ในฐานะที่ลูกจ้างอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือโดยแท้ การตัดสินใจต่าง ๆ ย่อมมีผลต่อการปฏิบัติงานของลูกจ้าง จึงอาจยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการที่ลูกจ้างให้ความยินยอมตรวจหาสารเสพติดเป็นการยินยอมด้วยความสมัครใจอย่างแท้จริง ดังนั้น การให้ลูกจ้างแสดงความยินยอมในการตรวจหาสารเสพติดจึงเป็นวิธีที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกระทรวงแรงงานให้ยกเลิกข้อกำหนดของ มยส. ในหัวข้อประเมิน ตัวชี้วัด และเกณฑ์การให้คะแนนที่ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการตาม ในหัวข้อ “4. มาตรการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (5) มีกระบวนการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาในสถานประกอบกิจการ” และแจ้งให้สถานประกอบกิจการทุกแห่งทราบ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้

รวมทั้งมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่า ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจัดทำคู่มือแนวทางการตรวจหาสารเสพติดในสถานประกอบกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเพื่อเป็นข้อมูลให้สถานประกอบกิจการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ทั้งนี้ ควรกำชับสถานประกอบกิจการมิให้บังคับตรวจหาสารเสพติดแบบเหมารวมหรือสุ่มตรวจอันไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. นำเรื่องสภาพบังคับที่ได้สัดส่วนและความเหมาะสมกับพฤติการณ์ในกรณีที่ตรวจพบว่าลูกจ้างกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบกิจการมาร่วมประกอบในการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบกิจการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ด้วย เพื่อมิให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบกิจการเกินสมควร

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง ไปยังกระทรวงยุติธรรมในฐานะที่รักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ให้พิจารณาออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทสถานประกอบกิจการและตำแหน่งที่จำเป็นต้องจัดให้มีการตรวจหาสารเสพติดในลูกจ้างที่ต้องปฏิบัติงานซึ่งใช้ความระมัดระวังอย่างสูงและจำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตลอดเวลา โดยยึดหลักความยินยอมและความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประโยชน์สาธารณะของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการที่ต้องมีผู้ควบคุมเครื่องจักรอันตราย สารเคมีอันตราย หรือวัตถุอันตราย เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบสารเสพติดในลูกจ้างควรยึดหลักการผู้เสพคือผู้ป่วย เพื่อมุ่งนำลูกจ้างเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลยาเสพติดเป็นลำดับแรก เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 ที่บัญญัติให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน