“ทักษิณ-ประยุทธ์” สงคราม และ “สันติภาพ”

“ทักษิณ-ประยุทธ์” สงคราม และ “สันติภาพ”

หากยังไม่มีภาพการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ระหว่างเพื่อไทยกับพรรคลุง ย่อมสะท้อนว่า สงครามยังไม่จบ และสันติภาพยังไม่บังเกิดขึ้นจริง

ถึงปิดดีลพรรค 2 ลุง ทั้งรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ได้ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง ภายใต้รัฐบาลพิเศษสลายขั้วการเมือง

เกจิการเมืองทุกสำนักวิเคราะห์ตรงกัน หากเพื่อไทย ไม่ดึงพรรค 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาล ก็ยากที่จะได้เสียงสนับสนุนจาก สว.อย่างเป็นกอบเป็นกำ

แม้เวลานี้ ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นศูนย์กลางในกระดานอำนาจ แต่พี่น้อง 3 ป. ที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจมา 9 ปี ก็ยังมีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ โดยเฉพาะเสียง สว.เกือบ 200 เสียง

พักนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เลี่ยงตอบคำถามเรื่องการเมือง อย่างนักข่าวถามถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้เข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ลุงตู่บอกปัดลูกเดียว “ขออย่าเอาผมไปเกี่ยวกับพรรคไหนทั้งนั้น”   

นักข่าวพยายามถามนำว่า กีฬาสีจบแล้วใช่หรือไม่ ลุงตู่บอก ไม่สนใจเลย สนใจแต่กีฬาการเมืองนั่นแหละ 

พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำเรื่องกีฬาสีทางการเมืองนั้น “มันต้องมันจบไปตั้งนานแล้ว” คนก็รู้กันทั้งประเทศ เบื้องลึกที่เพื่อไทย ยอมลงทุนด้วยชื่อเสียงของพรรค เปิดทางจูบปากพรรคลุง ก็เกี่ยวข้องกับดีลทักษิณกลับบ้าน

19 ก.ย.2549 เปลี่ยนชีวิต ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ไปตลอดกาล ด้วยการทำรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

หลังจากปีนั้นเรื่อยมา ประเทศไทยก็เข้าสู่สงครามความขัดแย้งหรือที่เรียกกันติดปากว่า กีฬาสีการเมือง 

แกนนำมวลชนสายอนุรักษนิยม วิจารณ์การรัฐประหาร 19 กันยาเป็น ‘รัฐประหารเสียของ’ จึงมีความพยายามสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง

22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตัดสินใจยึดอำนาจ ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อไม่ให้ ‘เสียของ’ พล.อ.ประยุทธ์ จึงวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการสืบอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 

ย้อนไปในวันที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.สมัยนั้น เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร พร้อมเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 6 (ตท.6) ร่วมเป็นคณะยึดอำนาจ แต่กำลังพลที่เข้าปฏิบัติการยึดเมืองหลวงคือ กองทัพภาคที่ 1 

พ.ศ.โน้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ผู้กุมกำลังหลักในวันยึดอำนาจ 19 กันยา ร่วมกับน้องรัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งขยับมาจาก ผบ.พล.ร.2 รอ.(ปราจีนบุรี) เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1

ปี 2550 พล.อ.อนุพงษ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และน้องเล็ก-พล.อ.ประยุทธ์เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 

หลังรัฐประหาร 49 มีการทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชาชน ได้รับชัยชนะเป็นพรรคอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล ที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ผลเลือกตั้งครั้งนั้น สะท้อนชัยชนะทางการเมืองของทักษิณ และเป็นที่มาของคำว่า‘รัฐประหารเสียของ’

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อนุพงษ์ ยังเป็น ผบ.ทบ. คุมสถานการณ์การเมืองนอกสภาฯ ที่ยังมีการประท้วงทั้งเหลืองและแดง 

28 ก.พ.2551 ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย และก้มลงกราบแผ่นดินที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่อยู่เมืองไทยได้ไม่นาน ก็ต้องหลบหนีกลับออกไป อันเนื่องจากผลพวงแห่งตุลาการภิวัฒน์ 

ปลายปี 2551 มีอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคพลังประชาชน ถูกยุบ จึงเกิดรัฐบาลพลิกขั้ว ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการสนับสนุนของ เนวิน ชิดชอบ พร้อม สส.กลุ่มใหญ่จากพรรคพลังประชาชน

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า พี่น้อง 3 ป.อย่างแท้จริง เมื่อพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง

เมื่อนายกฯ 2 คนคือ สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกสวรรค์ด้วยเหตุผลทางการเมือง พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ตามพรรคไทยรักไทย ทำให้ทักษิณแค้นเคือง และไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

ช่วงปี 2552-2553 ทักษิณตอบโต้ชนชั้นนำ ด้วยสงครามมวลชนครั้งใหญ่ เมื่อ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เปิดยุทธการโค่นอำมาตย์ จัดการชุมนุมใหญ่กลางเมืองหลวง

การลุกขึ้นสู้ของคนเสื้อแดงอย่างยาวนาน จบลงด้วยการสลายการชุมนุมของทหาร-ตำรวจที่ราชประสงค์ 17 พ.ค.2553 

ปลายปี 2553 พล.อ.ประยุทธ์ ผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนที่ 37 โดยได้รับตำแหน่งสืบต่อจากพล.อ.อนุพงษ์ แต่การเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี 

ชัยชนะในสมรภูมิเลือกตั้งอีกครั้ง ทักษิณ วางแผนกลับไทย ด้วยร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ ก็เข้าทางขั้วอำนาจ 3 ป. เมื่อมีการชุมนุมใหญ่ต้านนิรโทษกรรมสุดซอย ในนาม กปปส.ช่วงปลายปี 2556

22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้าควบคุมอำนาจในนาม คสช. จัดตั้งรัฐบาลใหม่ และสืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งปี 2562

8-9 ปี พี่น้อง 3 ป. เป็นศูนย์กลางอำนาจ ท่ามกลางการชุมนุมต่อต้านและขับไล่ครั้งแล้วครั้งเล่า กลายเป็นโรคเบื่อลุง และจบลงด้วยชัยชนะของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย 

ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ทักษิณ และขั้วอนุรักษนิยม ผลัดกันแพ้ชนะ เหมือนสงครามไม่รู้จบและทักษิณเองก็อายุอานามล่วงผ่านปีที่ 74 

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทักษิณส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะกลับประเทศไทย ผ่านหนังสือ Thaksin Shinawatra Theory and Thought

ทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน ส่องกระจกทุกวันแล้วนึกถึงคุณหญิงพจมาน “...สงสารคุณหญิง ผมตัดสินใจอยากกลับเมืองไทย เพราะว่าคุณหญิงรับภาระแทนผมไว้เยอะ สงสารเขา”

เช่นเดียวกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ที่พูดว่า “...เพราะคำพูดที่เคยเตือน แล้วท่านคงจำได้ดี และตอนนี้ ท่านคงเข้าใจแล้ว และคงรู้สึกเศร้า และอยากให้ท่านกลับมาเลี้ยงหลาน”

คำเตือนของคุณหญิงพจมานที่ว่านั้นคืออะไร และการกลับบ้านของทักษิณ สงครามความคิด 17 ปี จะแปรเปลี่ยนเป็นความปรองดองสมานฉันท์ได้จริงหรือไม่

คำตอบนี้ จะปรากฏเป็นรูปธรรมแรกคือ รัฐบาลพิเศษสลายขั้ว โดยเพื่อไทยเป็นแกนนำ ที่มีรวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาลอย่างหน้าชื่นตาบาน 

หากยังไม่มีภาพการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ระหว่างเพื่อไทยกับพรรคลุง ย่อมสะท้อนว่า สงครามยังไม่จบ และสันติภาพยังไม่บังเกิดขึ้นจริง