ลุ้นเกมฝ่ายค้านยกแรกโหวตนายกฯ 22 ส.ค.จับตา 'ก้าวไกล' งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ

ลุ้นเกมฝ่ายค้านยกแรกโหวตนายกฯ 22 ส.ค.จับตา 'ก้าวไกล' งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ

จับตาเกมยกแรก โหวตนายกฯ 22 ส.ค. 'ก้าวไกล' งดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ ถอยรองประธานสภาฯ แลกเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน

ในที่สุดประเด็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็มีความชัดเจน พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง "ไม่รับคำร้อง" เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา กรณีมติรัฐสภาเสียงข้างมากไม่ให้เสนอชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นการเสนอญัตติซ้ำ

ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นโดยสรุปว่า ผู้ร้องที่ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ให้คำร้องตกไป

ขณะที่ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานรัฐสภา ก็ได้ข้อสรุปว่า วันประชุมโหวตเลือกนายกฯ ใหม่ รอบ 3 จะเป็นวันที่ 22 ส.ค.หลังจากหารือกับ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภาแล้ว

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าว และแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่าง "เพื่อไทย" ที่รวมเสียงได้ 314 เสียงในตอนนี้ ไม่ได้เชิญ"ก้าวไกล"ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ชื่อของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่มีโอกาสได้เป็นนายกฯคนที่ 30 แน่นอนแล้ว

ขณะที่เกมของ "ก้าวไกล"ยังคงเดินสู้ทั้งในสภาฯ-นอกสภาฯ โดย"รังสิมันต์ โรม" สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมคณะ ยื่นญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ทบทวนมติเดิม ที่ห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลซ้ำเป็นนายกฯ พร้อมยืนยันตามหลักการว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ควรให้ "องค์กรอื่น"มายุ่ง

ตามที่ "ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังมติที่ประชุม สส.ก้าวไกล เอกฉันท์ ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯจาก "รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว" ยืนยันว่า "ก้าวไกล"ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกที่ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดประเด็นดังกล่าว

เช่นเดียวกับ"พิธา"ที่ยืนยันว่า จะไม่ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง เนื่องจากปัญหาเกิดที่สภาฯ ควรจบที่สภาฯ

ดังนั้นเกมของ "ก้าวไกล"ตอนนี้จึงเหลือแค่

1.ถอนตัวเป็น "ฝ่ายค้าน" แต่โดยดี โดยให้ "ปดิพัทธ์ สันติภาดา"สส.พิษณุโลก เขต 1 ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เพื่อให้ "พิธา"เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ตามรัฐธรรมนูญ

2.ไม่ยอมถอนตัว ยังคงยื้อให้ "ปดิพัทธ์"เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยหากทำตามแผนนี้ จะทำให้ "ก้าวไกล"ไร้สถานะในสภาฯ คือเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้ เพราะไม่ถูกเชิญ จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่ได้ เพราะไม่เข้าตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามบุคคลในพรรคมีตำแหน่งในรัฐบาล หรือห้ามเป็นประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ หากทำเช่นนี้จะทำให้เกิด "เดดล็อค"ทางการเมือง เพื่อรอเงื่อนไขต่อรองอื่น ๆ

ส่วนเกมโหวตนายกฯของ "ก้าวไกล"นั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า ตราบใดที่ "เพื่อไทย"จะเอา "พรรค 2 ลุง"มาเข้าร่วม จะไม่มีวันสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของค่ายสีแดง

ทว่า ยังเหลือหมากอีกชั้นซ้อนอยู่คือ "ก้าวไกล"ยังไม่เคาะว่าจะโหวตแบบ "ไม่เห็นด้วย" หรือ"งดออกเสียง"แม้ว่าการโหวตทั้ง 2 แบบ จะมีผลลัพธ์เหมือนกันคือ ทำให้แคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทย ไม่ได้เสียงสนับสนุน แต่นัยของความรุนแรงแตกต่างกัน

ถ้า "ก้าวไกล"เห็นชัดเจนว่ารัฐบาล "เพื่อไทย" มี "2 ลุง" ร่วมด้วยแน่นอน จะโหวต "ไม่เห็นด้วย"ส่งผลถึงอนาคตที่อาจไม่เป็นพันธมิตรทางการเมืองกันอีกต่อไป จากคู่รักคู่แค้น จะถูกผลักเป็น "ศัตรูหมายเลข 1" ทันที

แต่ถ้า"เพื่อไทย" ทำให้ "ก้าวไกล" ไว้วางใจว่า ไม่เอา "2 ลุง" มาร่วม อาจช่วยโหวต "งดออกเสียง" และอนาคตอาจมีความร่วมมือทางการเมืองเกิดขึ้นกันได้อยู่

อย่างไรก็ดี แนวโน้มค่อนข้างไปทาง "ไม่เห็นด้วย"ค่อนข้างสูง เป็นไปตามที่ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในศาสดาทางความคิดของ "ค่ายสีส้ม" ที่เห็นว่า ก้าวไกลควรประกาศชัด ถอยมาเป็นฝ่ายค้าน พร้อมเปิดสงครามครั้งใหม่ ไม่ใช่สงครามสีเสื้อ ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างพรรค แต่คือการต่อสู้ระหว่าง อดีตกับอนาคต ระหว่างอนาคตรูปแบบใหม่ กับอดีตในยุค 2540

แน่นอนว่าสงครามนี้ พุ่งเป้าไปชัดคือ การต่อสู้กับคนยุครัฐบาลไทยรักไทย ที่ขึ้นสู่อำนาจตั้งแต่ปี 2544 ลากยาวมาถึงเพื่อไทย ถูก"ค่ายสีส้ม" มองว่าเป็นการเล่นการเมืองรูปแบบเดิม เน้นต่อรองเอาผลลัพธ์ และแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ละเลยปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่กำลังคุกรุ่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สเต็ปต่อไปของ "ก้าวไกล"คือการรอเวลาวางหมากให้รัดกุม เพื่อเผด็จศึก "สางแค้น" เอาคืน "เกมการเมืองเก่า" ที่โดน "ค่ายสีแดง" ผนึกกำลังกับ "อนุรักษนิยม" โค่นล้ม "ค่ายสีส้ม"

จับตานับหนึ่งการเริ่มแก้เผ็ดได้ ในการโหวตเลือกนายกฯ 22 ส.ค.นี้