นับถอยหลัง รัฐบาล 'เพื่อไทย'

นับถอยหลัง รัฐบาล 'เพื่อไทย'

พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์จัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว 5 ครั้ง จึงไม่แปลกใจที่จะใช้เวลาไม่นานในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสว. แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมือง

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 ได้ข้อสรุปว่าพรรคก้าวไกล ได้คะเสียงมากที่สุด 151 เสียง รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ซึ่งทำให้พรรคก้าวไกลได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลรวม 8 พรรค ซึ่งไม่บ่อยครั้งที่พรรคอันดับ 1-2 มาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลไม่สามารถส่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขึ้นไปนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศคนที่ 30 ได้ แถมรัฐสภายังมีมติให้เสนอชื่อเพียงครั้งเดียว

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และมีสิทธิที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภาที่จะถึงนี้ และแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน แต่ชื่อที่มาแรงที่จะถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี คือ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งหมด 9 พรรคการเมือง และรวมคะแนนเสียงได้ 312 เสียง ในแบบไม่มีพรรคก้าวไกลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 การบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่สถานการณ์รัฐบาลรักษาการ ซึ่งเป็นสถานะที่เกือบสุญญากาศเพราะรัฐบาลรักษาการทำได้เพียงงานประจำ โดยไม่สามารถอนุมัติโครงการหรืองบประมาณได้ รวมทั้งไม่สามารถแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 4 เดือน ที่ผ่านมา ประเทศไทยหยุดนิ่งและรอความหวังในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อมาบริหารประเทศ

พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์จัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว 5 ครั้ง รวมในนามพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน จึงไม่แปลกใจที่จะใช้เวลาไม่นานในการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงการรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองและแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นความเชี่ยวชาญที่พรรคก้าวไกลเทียบไม่ติด และหลังจากนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างไร

หลายฝ่ายเห็นประสบการณ์การบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยมาแล้ว จุดเด่นมีให้เห็นหลายด้านโดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนระดับฐานราก ในขณะที่หลายนโยบายถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส โดยหลายนโยบายนำมาสู่คดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต และในเมื่อโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในมือพรรคเพื่อไทยจึงหวังว่าจะขับเคลื่อนนโยบายที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในระยะเร่งด่วน รวมถึงวางแนวทางให้ประเทศพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง