"สามารถ"ชี้ ปมโหวตนายกฯ "มติรัฐสภา" ถือเป็นกม. เตือนฟ้องศาลรธน. เสี่ยงแพ้

"สามารถ"ชี้ ปมโหวตนายกฯ "มติรัฐสภา" ถือเป็นกม. เตือนฟ้องศาลรธน. เสี่ยงแพ้

"สามารถ" ยกข้อบังคับข้อ41 ป้องประธานรัฐสภาปมโหวตนายกฯ ยันมติรัฐสภา ถือเป็นกฎหมาย เตือนฟ้องศาลรธน. เสี่ยงแพ้

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกระแสว่าจะมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยปมรัฐสภาใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 คว่ำการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ว่า ตนไม่มั่นใจว่า คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ พูดด้วยภยาคติ หรือ พูดด้วยความมีอคติ หรือพูดด้วยความที่ไม่รู้ เพราะว่ารัฐธรรมนูญใหญ่สุดแล้ว ไม่มีใครเถียงอันนี้ชัดเจน กฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะมีกฎหมายหรือมีอะไรมาขัดแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้

"แต่ประเด็นนี้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิมกี่รอบก็ได้ คือเค้าบอกให้หานายกรัฐมนตรี แต่เขาไม่ได้บอกให้เสนอคนเดิมได้นะครับ รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ในเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ ก็ต้องเกิดการตีความว่าแบบนี้ เสนอคุณพิธาอีกรอบได้ไหม

ปรากฎก็มีการเปิดข้อบังคับข้อ41 บอกว่าไม่ได้เนื่องจากเป็นญัตติ แล้วญัตติของคุณพิธานั้นตกไปแล้ว ก็เลยมีการเถียงกันในข้อบังคับ151 ก็คือใช้การโหวตร่วมกันของสภา หมายความว่าถ้าเห็นแย้งกันก็โหวตครับ ประธานสภาก็ให้สมาชิกในห้องประชุมสภาโหวต ว่าขัด หรือ ไม่ขัด เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ตามข้อบังคับ151 ซึ่งเมื่อสภาก็ลงมติไปแล้ว"

นายสามารถ กล่าวต่อว่า ตนถามว่าคนบ้าที่จะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญเนี่ย จะร้องเรื่องอะไรจริงๆควรจะไปร้อง ต้องไปร้องคนที่ลงมติ จะเอาคุณพิธามาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ2 ขาดคุณสมบัติหรือเปล่า เพราะคุณพิธาวันที่ลงมติเรื่องนี้เนี่ย ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งวินิจฉัยแล้วว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ตั้งแต่ 19 ก.ค. ฉะนั้นแปลว่าคุณพิธานั้นอาจจะขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. ตามมาตรา98(3) ซึ่งในรัฐธรรมนูญมาตรา160(6)ระบุไว้ชัดเจนว่า คนจะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา98

ฉะนั้นใครที่โหวตให้คุณพิธาอาจจะติดคุก อย่าง พลตำรวจเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นะครับเป็นนักกฎหมาย อดีต ผบ.ตร. มีความรู้ครับ ท่านไม่ลงมติ เพราะรู้กฎหมาย แต่คนไม่รู้กฎหมายออกมาพูดชี้นำผิด ๆ ไม่ถูกต้อง

"ผมถึงบอกครับว่า รัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ฉะนั้นความเห็นของรัฐสภา ก็คือกฎหมายอยู่เเล้ว

ฉะนั้นการที่จะไปร้องศาลธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ที่ทำนั้นไม่ชอบ ผมว่าบ้าจี้ ลองไปร้องดู และถ้าเกิดเป็นอย่างที่เขาร้องนะ ว่า มติที่ลงไว้เป็นโมฆะ ผมจะโกนหัวให้ดูเลย จะได้เลิกบ้าจี้ คือวันนี้ต้องชี้นำสังคมให้ถูกต้องก่อน คือบางคนไม่รู้ แล้วไปพูด ผมว่าสังคมเละเทะ รัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย ฉะนั้นอะไรที่ออกจากรัฐสภานั้นมันก็โดยหลักเกณฑ์อยู่แล้วครับ อำนาจประเทศไทย แบ่งเป็น3อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และ ตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา เมื่อวานความเห็นรัฐสภาเป็นที่สุดแล้ว"