"สมศักดิ์" ลงสำรวจ โครงการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน ชี้ ไม่ต้องห่วงสารปนเปื้อน

"สมศักดิ์" ลงสำรวจ โครงการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน ชี้ ไม่ต้องห่วงสารปนเปื้อน

"สมศักดิ์" ลงพื้นที่สำรวจโครงการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดิน เผย สุโขทัย ไปกว่า 100 บ่อ กระจายทั่วจังหวัด ลดปัญหาภัยแล้ง คาดเพิ่มน้ำได้ 204,000 ลบ.ม.ต่อปี ชี้ไม่ต้องกังวลสารปนเปื้อน ชั้นหินดินทรายเป็นตัวช่วยกรองตามธรรมชาติ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ อดีต รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่สำรวจโครงการการขุดบ่อเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บริเวณหนองหมื่นอิน ม.4 บ้านดอนจันทร์ ต.บ้านไร่อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย พร้อมด้วย นายเขตพงษ์ กุลนาถสิริ รองนายก อบจ.สุโขทัย นายไพโรจน์คชนิล เลขานายก อบจ. สุโขทัย นายถวิล ครุฑจับนาค นายก อบต.บ้านไร่ นายชาญชัย มีกิจกำนันตำบลบ้านไร่ นายสรศักดิ์ สรแก้ว ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 กำแพงเพชร และนางจิราภา หวิงปัด ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ ซึ่งโครงการในพื้นที่สุโขทัย เป็นรูปแบบบ่อวงคอนกรีต เริ่มตั้งแต่ปี 2563 มีจำนวน 30 แห่ง ปี 2564 จำนวน 43 แห่ง ปี 2566 จำนวน 32 แห่ง และมีรูปแบบสระ 1 แห่ง โดยแต่ละบ่อจะใช้งบประมาณ 23,000 บาท โดยจากการประเมินคาดว่าจะเพิ่มเติมน้ำลงสู่ใต้ดินได้ 204,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเลือกสถานที่เจาะจะมีการคัดเลือกพื้นที่ตามแผนที่ความเหมาะสมในการเติมน้ำ โดยมีการสำรวจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแต่ละบ่อจะความลึกประมาณ 8-14 เมตรตามแต่ละพื้นที่ โดยที่เราจะเจาะบ่อไปจนเจอชั้นทรายอิ่มน้ำ แต่จะไม่เกิน 15 เมตร เพราะตั้งแต่15 เมตร จะเป็นเขตน้ำบาดาล ตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล ซึ่งถ้าจะเติมน้ำ จะต้องมีการขออนุญาตก่อน และเมื่อทำบ่อแล้ว ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะมีการติดตามคุณภาพน้ำของบ่อเติมน้ำโดยการเก็บตัวอย่างน้ำในบ่อ มาวิเคราะห์คุณภาพน้ำ หลังจากที่เจาะเสร็จ และหลังจากฤดูฝนที่มีการเติมน้ำลงไปบ้างแล้ว และยังมีบ่อสังเกตการณ์น้ำบาดาล ในพื้นที่ก่อสร้างบ่อเติมน้ำใต้ดินเพื่อใช้ในการติดตามระดับน้ำบาดาล และคุณภาพน้ำ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนได้รับคำถามมาทางช่องออนไลน์ เกี่ยวกับความกังวลเรื่องสารเคมีปนเปื้อน ตนได้ไปหาคำตอบจากนักวิชาการมาให้แล้ว ได้ทราบข้อมูลมาว่าสารเคมีด้านการเกษตรแต่ละชนิดที่ใช้จะมีอายุการย่อยสลาย และน้ำที่เติมลงไป จะผ่านชั้นดิน ชั้นทราย ชั้นกรวด ซึ่งเป็นตัวกรองตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสารปนเปื้อนต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อ แต่เวลานี้ที่ได้รับแจ้งจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ยังไม่พบสารเคมีปนเปื้อน ลงไปในโครงการ ขอให้ทุกท่านสบายใจ