‘เศรษฐา’ชี้ควรให้โอกาสโหวต'พิธา'อีกรอบหากไม่ผ่านด่าน376เสียง
‘เศรษฐา’ ย้ำ 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' ไม่แตกแถวดัน ‘พิธา’ นั่งเก้าอี้นายกฯ ชี้ควรให้โอกาสลงมติอีกหากรอบแรกไม่สามารถฝ่าด่าน 376 เสียงไปได้
นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ซึ่งท่าทีของวุฒิสภาส่วนใหญ่ยังไม่ให้การสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า นายพิธา เคยระบุแล้วว่า จะสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทย เป็นกำลังใจให้ และย้ำว่า พรรคเพื่อไทย ไม่มีแถวแตกในการลงมติแน่นอน
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอหากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ถูกเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ก็จะได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่านายพิธานั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็มีเสียงในรัฐสภาแล้ว 312 เสียง ต้องการอีกกว่า 60-70 เสียง นายพิธา ก็จะได้รับความเห็นชอบ ดังนั้น จึงยังมีความหวัง และยังมั่นใจว่านายพิธา จะได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐสภา
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงเงื่อนไขของวุฒิสภา ที่กังวลต่อนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จนอาจทำให้ ส.ว.ฝืนหลักการเสียงข้างมากของ ส.ส. และไม่ลงมติให้กับนายพิธาว่า ส.ว.หลายคน ออกมาให้ความเห็น แต่ก็ยังมี ส.ว.อีกหลายคนที่ไม่ได้ออกมาให้ความเห็น และเชื่อว่า ในวันที่มีการลงมติ ส.ว.ก็น่าจะทำตามฉันทามติของประชาชน ส่วนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นไปตามเอ็มโอยูที่ลงนามกันไว้
ส่วนหากการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ รัฐสภา ควรให้โอกาสเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งหรือไม่นั้น นายเศรษฐา ระบุว่า จะต้องพิจารณาถึงคะแนนเสียงที่นายพิธาได้รับ และควรให้โอกาสกันบ้างหากแพ้นิดเดียว พร้อมเชื่อว่า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จะจบลงด้วยดีเหมือนการลงมติเพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
นายเศรษฐา ยังปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีที่หากนายพิธา ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ก็จะทำให้โอกาสกลับมาที่พรรคเพื่อไทยในการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ยังไม่อยากคิดไปถึงสถานการณ์นั้น เพราะถือเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน จึงจะต้องลงมติให้กันอยู่แล้ว ซึ่งไม่เหมาะสมหากตนจะแสดงความคิดเห็นดังกล่าว
นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ระบุพร้อมลงมตินายกรัฐมนตรีให้พรรคเพื่อไทย โดยจะต้องสลัดพรรคก้าวไกล ออกจากสมมการการจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว เพราะพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ตัวติดกัน และมาจากฝ่ายประชาธิปไตย
รวมถึงยังมีการลงนามเอ็มโอยูระหว่าง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ซึ่งทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็ยังจับมือ ทำงานร่วมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่มีความผิดใจกัน และเข้าใจว่า ความเห็นดังกล่าว เป็นเพียงความเห็นจากสมาชิกวุฒิสภาเพียง 1-2 คนเท่านั้น รวมถึงยังเชื่อว่า ส.ว. อีกกว่า 200 คน จะยังคงสนับสนุนนายพิธา